สตรีในเขตเขาจังหวัดบั๊กก่าน สู้ชีวิตเพื่อการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ

(VOVWORLD) - จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่เขตเขาจังหวัดบั๊กก่าน มีสตรีชนกลุ่มน้อยที่เป็นเจ้าของกิจการนับวันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยพวกเขาได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะฟันผ่าความยากลำบากเพื่อสร้างฐานะพร้อมมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่น
สตรีในเขตเขาจังหวัดบั๊กก่าน สู้ชีวิตเพื่อการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ - ảnh 1นาง ฟานถิโต๊เหมื่อ แนะนำผลิตภัณฑ์
 
 
ในหมู่บ้านจูงหว่า ตำบลกงบั่ง อำเภอปากหนั่ม มีครอบครัวชาวไตหลายครัวเรือนกำลังประกอบธุรกิจทำเส้นขนมจีนด้วยมือ แต่เนื่องจากเป็นกิจการขนาดเล็ก จึงมีรายได้ไม่มากและไม่มั่นคง ด้วยแนวคิดที่อยากเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านี้ เมื่อปี 2020 นาง ฟานถิโต๊เหมื่อย ชาวไตในหมู่บ้านจูงหว่า ซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์ผลิตเส้นขนมจีนแห้ง ได้ชักชวนสมาชิกอีก 7 คน โดยส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกันและชาวบ้านในพื้นที่ จัดตั้งธุรกิจในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบัน สามารถผลิตเส้นขนมจีนแห้งได้กว่า 20 ตันต่อปี มีการจำหน่ายทั้งในตลาดท้องถิ่นและจังหวัดรอบๆ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิกทุกคนในสหกรณ์

เมื่อปี 2022 โครงการ “แปรรูปเส้นขนมจีนห้าสี” ของคุณเหมื่อยได้คว้ารางวัล “โครงการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” ในกรอบการประกวดรอบชิงชนะเลิศ “โครงการสตาร์ทอัพเกษตร-นวัตกรรมสร้างสรรค์” ครั้งที่ 8 ส่วนในปีนี้ เขาเองก็ได้รับรางวัลจากการประกวด “สตรีประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมและการปรับเปลี่ยนแห่งสีเขียว” ที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์สตรีเวียดนามส่วนกลาง นาง ฟานถิโต๊เหมื่อย เผยว่า

จากอาหารดั้งเดิมของชนเผ่าไตคือข้าวเหนียวห้าสี ในยุคของคุณพ่อคุณแม่ฉันคือการทำเส้นขนมจีนธรรมดาที่ไม่มีสี สู่ยุคของฉันคือทำเส้นขนมจีนที่มีสี โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ทำเส้นขนมจีนคือมาจากข้าวพันธ์ บาวทาย บริสุทธิ์ ที่ได้เพาะปลูกในท้องถิ่น ผสมกับพืชผักผลไม้ที่ปลูกในสวนหน้าบ้าน เมื่อได้เข้าถึงรอบชิงของการประกวดสตรีทำธุรกิสตาร์ทอัพและการปรับเปลี่ยนแห่งสีเขียวปี 2024 ฉันรู้สึกเหมือนได้เติมพลังและมีกำลังใจมากขึ้นในการพัฒนาของโครงการนี้ต่อไป

สตรีในเขตเขาจังหวัดบั๊กก่าน สู้ชีวิตเพื่อการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ - ảnh 2นาง ห่าถิเยิม ทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากดอกกุหลาบ

ส่วนนาง ห่าถิเยิม ทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากดอกกุหลาบ เป็นผู้จัดการสหกรณ์ จ่าแห่งฟุ๊ก หรือใบชาแห่งความสุข ในหมู่บ้านโต๋งต่าง ตำบลกาวกี่ อำเภอเจอะเม้ย โดยเขาได้ประสบความสำเร็จในการผลิตชาหอมกุหลาบ ซึ่งเป็นการนำเสนอสินค้าที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์สู่ตลาด ในช่วงแรก คูณเยิม ต้องเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อยในการทำวิจัยและพัฒนาสินค้า เนื่องจากเป็นแนวทางใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยลงมือทำมาก่อน ในขณะที่เขาเองก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเกษตร หลังจากทำการทดลองล้มเหลวหลายครั้ง คุณเยิมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชากุหลาบอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่คงรสชาติความอร่อยจากธรรมชาติไว้ในตัว แต่ยังมีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอีกหลายรายการ เช่น น้ำมันนวด ไวน์ น้ำหอม เป็นต้น โดยคุณเยิม ได้ทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชาหลายชนิดผ่านแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Zalo, Facebook, Tiktok รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ จึงทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัด ปัจจุบัน สินค้าของสหกรณ์ จ่าแห่งฟุ๊ก ได้มีการวางจำหน่ายในจังหวัดท้ายเงวียน กรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ นาง ห่าถิเยิม เผยว่า 

 ชาวบ้านในตำบลกาวกี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลัก มานานแล้วหลายปี แต่ผลผลิตไม่ค่อยดีและที่ดินก็เสื่อมสภาพตามกาลเวลา ดังนั้น ฉันคิดว่า ตัวเองจะนำพืชยืนต้นอื่น ๆ มาทดแทน เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น โดยฉันเห็นว่า ชาดอกไม้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งตอนนี้ ใคร ๆ ต่างก็อยากใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ดังนั้น ฉันจึงตัดสินใจเลือกต้นกุหลาบในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

ปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดบั๊กก่าน มีสหกรณ์กว่า 100 แห่งที่สตรีเป็นเจ้าของกิจการ โดยส่วนใหญ่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่าน Tiktok, Zalo, Facebook และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ซึ่งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการหญิง นาง เยืองแค๊งลี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรและป่าไม้ เหงียต๊า ในหมู่บ้านบ๋านบั๋ง ตำบลเหงียต๊า อำเภอเจอะโด่น จังหวัดบั๊กก่าน เผยว่า

สตรีในเขตเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งอุปสรรค์ที่ใหญ่สุดคือการขาดข้อมูลและความรู้ในการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ จึงยากต่อการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและเทคนิคที่ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าและเข้าถึงตลาดในวงกว้าง นอกจากนี้ การระดมเงินทุนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งเนื่องจากพี่น้องสตรีมีทรัพย์สินที่ใช้จำนองไม่มากนัก รวมถึงความกดดันจากความรับผิดชอบในครอบครัวและอคติทางสังคม อาจทำให้ผู้หญิงขาดความมุ่งมั่นในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ

สตรีในเขตเขาจังหวัดบั๊กก่าน สู้ชีวิตเพื่อการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ - ảnh 3นาง เยืองแค๊งลี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรและป่าไม้ เหงียต๊า (คนที่หนึ่งนับจากขวา)

ปัจจุบัน มีสินค้าหลายรายการ เช่น วุ้นเส้น เส้นเฝอและขนมจีน ชาดอกไม้เหลือง ชาซานเตวี๊ยด แป้งขมิ้น ของจังหวัดบั๊กก่าน เป็นที่รู้จักในหลายตลาด เช่น ฮานอย ดานัง ไฮฟอง กว๋างนิงห๋ โฮจิมินห์ โดยเฉพาะมีสินค้า OCOP บางรายการของสหกรณ์ที่สตรีเป็นเจ้าของกิจการ ได้มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศยุโรป นาง เหงวียนถิเหวะ รองประธานสหพันธ์สตรีจังหวัดบั๊กก่าน เผยว่า

สำหรับหญิงสาวเป็นเจ้าของกลุ่มสหกรณ์และสหกรณ์ พวกเราได้ถือเป็นตัวอย่างดีเด่นในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพในทิศทางที่ถูกต้อง โดยพวกเราได้จัดคอร์สอบรมต่างๆ เพื่อเสริมความรู้และสร้างพลังใจแห่งการเป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงความรู้เชิงธุรกิจและทักษะในการบริหารจัดการรูปแบบธุรกิจของตน เพื่อสามารถเข้าถึงตลาดได้ดี พร้อมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองทั้งในด้านคุณภาพ เครื่องหมายการค้า และรสนิยมของผู้บริโภค

ทั้งนี้ จิตใจแห่งการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของสตรีในพื้นที่เขตเขาจังหวัดบั๊กก่าน ไม่เพียงแค่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงอีกหลายๆ คน ซึ่งทุกความสำเร็จดังกล่าวของพวกเขาถือเป็นการยืนยันจุดยืนของผู้หญิงในสังคมได้อย่างชัดเจน./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด