(VOVWORLD) - ปัจจุบัน จังหวัดเอียนบ๊ายมีหมู่บ้านศิลปาชีพ 15 แห่งโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพใน 4 ด้าน ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร ป่าไม้และสัตว์น้ำ การผลิตสินค้าหัตถกรรม การแปรรูปวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนการผลิตในชนบท การผลิตเครื่องเฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสานจากหวายและไม้ไผ่ เครื่องเซรามิก สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องจักรกล หมู่บ้านศิลปาชีพเหล่านี้ได้สร้างงานทำหลายตำแหน่งและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน มีส่วนร่วมนำตำบลกว่าร้อยละ 70 ในจังหวัดเอียนบ๊ายบรรลุมาตรฐานชนบทใหม่
ชาวท้องถิ่นในตำบลบ๋าวฮึง อำเภอเจิ๊นเอียน เก็บใบชา Bat Tien (VNA) |
จังหวัดเอียนบ๊ายมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 30 กลุ่ม มีความหลากหลายในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี อาชีพและวิถีชีวิต
หลังจากปลูกชาพันธุ์ใหม่บ๊าตเตียน (Bat Tien) มาเป็นเวลากว่า 10 ปีด้วยความคาดหวังมากมาย ปัจจุบัน ครอบครัวของนาย หวูหงอกเต่ ในหมู่บ้านจึกแทง ตำบลบ๋าวฮึง อำเภอเจิ๊นเอียนได้ประสบความสำเร็จการปลูกชาดังกล่าว จากพื้นที่ปลูกชา Bat Tien เกือบ 700 ตารางเมตรในตอนเริ่มต้น ปัจจุบันครอบครัวของนายเต่ได้ขยายพื้นที่เป็นเกือบ 1 เฮกตาร์ โดยมีรายได้กว่า 200 ล้านด่งต่อปี ซึ่งสูงกว่าการปลูกพืชอื่นๆ ในท้องถิ่น นาย หวูหงอกเต่ หนึ่งในผู้ที่มีความผูกพันกับต้นชามาเป็นเวลาเกือบ 50 ปีเล่าให้ฟังว่า เพื่อมีผลิตภัณฑ์ชาที่มีคุณภาพ ต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการดูแล การแปรรูปไปจนถึงการเก็บใบชา
“ในการเตรียมเก็บใบชา เราต้องเตรียมพร้อมแรงงานตั้งแต่ก่อนวันเก็บ นอกจากแรงงานซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวแล้ว เรายังต้องขอให้คนแถว ๆ บ้านมาช่วยเก็บใบชาด้วย พอถึงวันถัดไปเราก็ไปช่วยเก็บใบชาในไร่ชาของคนที่มาช่วยเราและต้องเก็บใบชาตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น คุณภาพของชาจะไม่ดี พอตกบ่ายเราก็ทำการแปรรูปใบชา”
พื้นที่ทุ่งชา Bat Tien ที่ตำบลบ๋าวฮึง อำเภอเจิ๊นเอียน เขียวขจีสุดลูกหูลูกตาบนเนินเขา ในตำบลฯมีครอบครัวที่ผลิตชากว่า 300 ครอบครัว รวมพื้นที่กว่า 100 เฮกตาร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นชาพันธุ์ใหม่และชา Bat Tien ที่มีคุณภาพสูง เกษตรกรที่นี่ได้ทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชาเขียว OCOP ที่มีคุณภาพ สร้างเครื่องหมายการค้าและทำการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังยุโรป
การพัฒนาอาชีพทำภาพอัญมณี |
ในขณะเดียวกัน ตำบลเย้อเฟียนซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านศิลปาชีพแห่งแรกในชนบทของเมืองเอียนบ๊ายในการทำวุ้นเส้นมันสาคูจีน ปัจจุบัน หมู่บ้านมี 68 ครอบครัวที่ผลิตและประกอบธุรกิจเกี่ยวกับวุ้นเส้น และทุกปีสามารถจำหน่ายวุ้นเส้นได้ประมาณ 400 - 450 ตัน สร้างรายได้เกือบ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีส่วนร่วมสร้างงานทำและรายได้ที่มั่นคงให้แก่แรงงานในท้องถิ่นหลายร้อยตำแหน่ง การผลิตวุ้นเส้นทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ค่อนข้างสูงโดยอยู่ที่ 2,100 - 2,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นาง ฝ่ามถิทูห่า สมาชิกสหกรณ์วุ้นเส้นเย้อเฟียนเผยว่า
“หมู่บ้านทำวุ้นเส้นเย้อเฟียนตั้งมานานแล้ว ในอดีต ผู้สูงอายุใช้ประโยชน์จากที่ดินริมฝั่งแม่น้ำแดงเพื่อปลูกต้นมันสาคูจีนสำหรับใช้เลี้ยงปศุสัตว์ ต่อมาได้มีการแปรรูปแป้งมันสาคูจีนเพื่อทำวุ้นเส้น แล้วพัฒนาเป็นหมู่บ้านศิลปาชีพ เมื่อปี 2013 หมู่บ้านได้รับการรับรองเป็นหมู่บ้านศิปลาชีพ จำนวนโรงงานผลิตวุ้นเส้นลดลง แต่ปริมาณการผลิตและขนาดของโรงงานเพิ่มขึ้น”
จังหวัดเอียนบ๊ายยังมีชื่อเสียงเกี่ยวกับแหล่งอัญมณีที่ล้ำค่า เช่น พลอย แซฟไฟร์ สปิเนล และหินอ่อนสีขาว เป็นต้น นอกจากนี้ จากความได้เปรียบเหล่านี้ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนในอำเภอหลุกเอียนได้ทำการผลิตงานแกะสลักและของที่ระลึกจากหินอัญมณี ปัจจุบัน ในอำเภอหลุกเอียนมีหมู่บ้านศิลปาชีพที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากหินอัญมณีหลายแห่งโดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ที่อำเภอเมืองเอียนเท้ ตำบลเอียนทั้ง ตำบลเหลียวโด ตำบลมิงเตี๊ยน ตำบลเตินหลิงและตำบลหวิงหลาก ที่มีมูลค่าตั้งแต่หลายสิบล้านด่งถึงนับพันล้านด่ง นาง เหงียนถิลี้เวิน หนึ่งในช่างศิลป์ทำภาพอัญมณีเผยว่า
“การทำภาพอัญมณีที่สมบูรณ์ มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การเลือกหิน การร่างแบบ และการทากาว ส่วนงานนี้ละเอียดมาก คนใจร้อนไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถด้านศิลปะถึงจะทำภาพออกมาได้สวยงาม”
อาชีพดั้งเดิมในจังหวัดเขตเขาเอียนบ๊ายมีมาหลายชั่วอายุคน เป็นส่วนหนึ่งด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น นาย เหงียนดึ๊กเดี่ยน รองผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบทจังหวัดเอียนบ๊าย เผยว่า
“สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของหมู่บ้านศิลปาชีพในปัจจุบันคือสามารถส่งเสริมคุณค่าดั้งเดิมและศักยภาพของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นได้ โดยได้สร้างผลิตภัณฑ์ OCOP จากผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน เชื่อมโยงหมู่บ้านศิลปาชีพกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางวัฒนธรรมพื้นเมืองเพื่อยกระดับชีวิตทั้งด้านวัตถุและจิตใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชนบทให้ดีขึ้น”
หมู่บ้านศิลปาชีพต่างๆในจังหวัดเอียนบ๊ายกำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อผสมผสานเข้ากับกระแสโลก สร้างผลิตภัณฑ์ที่สานต่อความดีเลิศและประสบการณ์ที่บรรพบุรุษและคนรุ่นก่อนได้ทิ้งไว้ให้ ในขณะเดียวกันก็มีความทันสมัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด นี่คือวิธีการเพื่อให้หมู่บ้านศิลปาชีพในจังหวัดเอียนบ๊ายพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างงานทำและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชน.