เรื่องราวการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพของแรงงานเวียดนามที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี
(VOVWORLD) - มีแรงงานชาวเวียดนามหลายคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศสามารถหางานทำที่มั่นคงพร้อมสร้างฐานะให้กับตัวเองในกลุ่มบริษัทเวียดนามหรือประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะในบ้านเกิดด้วยความรู้และประสบการณ์ที่มี ซึ่งในนั้นมีเรื่องราวมากมายของแรงงานเวียดนามที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติหรือ EPS ที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างแพร่หลายในชุมชน
นาย หบุ่ยวันเหี๊ยว ชาวบ้านชนเผ่าม้งในอำเภอบ๊าเทือก จังหวัดแทงฮว้า ทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นเวลา 3 ปี |
นาย หบุ่ยวันเหี๊ยว ชาวบ้านชนเผ่าม้งในอำเภอบ๊าเทือก จังหวัดแทงฮว้า ทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นเวลา 3 ปี ตามโครงการลงนามระหว่างเวียดนามกับสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเขาเองได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และสร้างความประทับใจให้แก่ชุมชนชาวเวียดนามในสาธารณรัฐเกาหลี ก่อนเดินทางกลับประเทศ นาย บุ่ยวันเหี๊ยว ได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัท ICFOOD สาขาเวียดนาม ซึ่งความสำเร็จของเขาเองได้เปิดเส้นทางใหม่ให้แก่แรงงานเวียดนามที่ใกล้จะหมดสัญญาจ้างงาน โดยการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นไม่จำเป็นต้องรอถึงเวลากลับประเทศ แต่สามารถปฏิบัติได้ทันทีในขณะที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศ นาย หบุ่ยวันเหี๊ยว เล่าให้ฟังว่า
“ผมเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการส่งออกแรงงานไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติหรือ EPS เมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นความโชคดีของผม ผมจึงยพยายามตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ผมอยากฝากบอกทุกๆ คนว่า หลังจากที่หมดสัญญาจ้างงานและเดินทางกลับประเทศ เพื่อนๆ สามารถประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมสร้างอนาคตที่สวยงามและมั่นคงให้แก่ตนเอง”
สำหรับนาย ฟานแองหวู อาศัยในอำเภอเหยียญโจว์ จังหวัดเหงะอาน ได้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งบริษัท Quoc Bao Korea Trade Services จำกัด หลังจากหมดสัญญาจ้างพนักงานเป็นเวลา 5 ปีที่สาธารณรัฐเกาหลีตามระบบ EPS โดยบริษัทฯ ของเขาประกอบธุรกิจผลิตตะเกียบ ช้อน และชามที่ทำจากไม้ และถ่านขาวไร้ควันเพื่อส่งออกไปยังสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสร้างรายได้ราว 2 พันล้านด่องหรือกว่า 7 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ นาย หวู ยังสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในจังหวัดเหงะอาน พร้อมเซ็นสัญญารับซื้อสินค้าของพวกเขาด้วยมูลค่าราว 1 หมื่นล้านด่อง ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Quoc Bao Korea Trade Services ได้รับการชื่นชมอย่างสูง รวมถึงมียอดสั่งซื้อจากสาธารณรัฐเกาหลีเป็นจำนวนมาก โดยสามารถค้ำประกันรายได้ที่มั่นคงให้แก่คนงานที่เดือนละ 8 ล้านด่อง นาย ฟานแองหวู เผยว่า
“ตอนนี้ บริษัทของผมกำลังให้ความสนใจต่อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจในปัจจุบันคือ เน้นการส่งออกถ่านขาวและเครื่องครัวไม้เป็นหลัก ในเวลาข้างหน้า ผมจะประสานงานกับกลุ่มวิสาหกิจด้านการเกษตรของสาธารณรัฐเกาหลีในการสร้างโรงงานเฉพาะด้านเกี่ยวกับขี้เลื่อยไม้ เพื่อให้บริการทางการเกษตรต่อฟาร์มวัวในสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่พวกเขามีความต้องการอย่างมาก”
เช่นเดียวกับเรื่องราวของนาย บุ่ยวันเหี๊ยว และนาย ฟานแองหวู นาย หวูวันย๊าป ก็ถือเป็นตัวอย่างดีเด่นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะหลังกลับจากต่างประเทศ โดยปัจจุบัน นาย หวูวันย๊าป เป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัท CLC VIETNAM MANUFACTURING COMMERCIAL AND SERVICES จำกัด ที่ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องจักรกลและเคลือบโลหะในจังหวัดบั๊กนิงห์ ซึ่งเป็นคู่ค้าระดับ tier-1 ของ SamSung และ LG รวมถึงบริษัทเวียดนามขนาดใหญ่อย่าง หร่างโดง โดยมีผลประกอบการอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านด่องหรือราวกว่า 7 แสน 8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นาย หวูวันย๊าป ได้รับการยกย่องเป็นแรงงานชาวเวียดนามคนเดียวในกลุ่มแรงงานจาก 16 ประเทศที่ได้รับการส่งตัวไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี |
ในการประกวดที่จัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีสำหรับกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับเวียดนามจากต่างประเทศเมื่อเดือนตุลาคมปี 2023 นาย หวูวันย๊าป ได้รับการยกย่องเป็นแรงงานชาวเวียดนามคนเดียวในกลุ่มแรงงานจาก 16 ประเทศที่ได้รับการส่งตัวไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้รับรางวัลที่หนึ่งของการประกวด
“เมื่อได้เข้าร่วมโครงการไปทำงานในต่างประเทศ ผมได้ศึกษาภาษาเกาหลี เรียนรู้วิธีและรูปแบบการทำงานของคนเกาหลี พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์และโอกาสต่างๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของที่นั่น ซึ่งความแตกต่างด้านเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับสาธารณรัฐเกาหลีนั้น ได้กระตุ้นให้ผมอยากทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เวียดนามสามารถมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกับสาธารณรัฐเกาหลี หลังจากเดินทางกลับเวียดนามพร้อมด้วยประสบการณ์ที่ได้รับจากสาธารณรัฐเกาหลี ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผมเพื่อสามารถจัดตั้งบริษัทของตัวเองได้.”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากกลุ่มแรงงานที่ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยความรู้ ประสบการณ์ และเงินที่เก็บสะสมจากการทำงานในต่างประเทศแล้ว ยังมีแรงงานเวียดนามจำนวนมากที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในบริษัทและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้แก่ตัวเองและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างงานทำที่มั่นคงให้แก่แรงงานอีกหลายคนในถิ่นเกิดของตนอีกด้วย./.