พิพิธภัณฑ์สิ่งทอ-สถานที่เก็บรักษาและแนะนำมรดกวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย
Hương Trà -  
(VOVWORLD) - พิพิธภัณฑ์สิ่งทอตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านส่วนตัวของชาวฝรั่งเศสทางทิศตะวันตกของกรุงจากาตาร์ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 เป็นมรดกวัฒนธรรมพิเศษที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลิตภัณฑ์และผลงานศิลปะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายของอินโดนีเซีย
พิพิธภัณฑ์สิ่งทอ |
พิพิธภัณฑ์สิ่งทอมีพื้นที่กว่า 1 หมื่น 6 พันตารางเมตร เมื่อปี 1967 นาง Tien Soeharto ภริยาของประธานาธิบดีลำดับที่ 2 ของอินโดนีเซียได้ใช้อาคารแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษาผ้าพื้นเมืองของอินโดนีเซีย นาง Permana Everlyn หัวหน้าแผนกการประชาสัมพันธ์และให้การศึกษาของพิพิธภัณฑ์ฯได้เผยว่า พิพิธภัณฑ์ฯตั้งอยู่ใกล้ตลาดผ้าพื้นเมือง Tanah Abang ในกรุงจากาตาร์
“ชาวอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะไปซื้อเสื้อผ้าที่ตลาด Tanah Abang ซึ่งการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สิ่งทอมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ชาวอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับต้นกำเนิด การพัฒนาและวิธีผลิตผ้าพื้นเมืองของอินโดนีเซีย”
หลังจากได้รับการก่อตั้งและพัฒนามาเป็นเวลา 54 ปี ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์สิ่งทอได้เก็บรักษาผ้าพื้นเมืองและผ้าร่วมสมัยกว่า 3 พันชนิดของชนเผ่าต่างๆในทั่วประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอุปกรณ์การทอผ้า ปักผ้า ผ้าบาติก ผ้าถุง ชุดแต่งกายพื้นเมือง เครื่องทอผ้าและมีโซนจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบอินโดนีเซีย โดยเฉพาะห้องจัดแสดงผ้าบาติกกว่า 300 ชนิดที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติจากยูเนสโก้ ผ้าบาติกเริ่มเข้ามาในประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 500 ปีก่อน ซึ่งสงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น แต่ปัจจุบัน มีการใช้ผ้าบาติกอย่างกว้างขวาง ส่วนการวาดลายด้วยน้ำเทียนขี้ผึ้งผสมพาราฟินร้อนและการย้อมผ้าเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องใช้ความพิถีพิถันและใส่ใจ โดยนักท่องเที่ยวสามารถชมผ้าบาติกพื้นเมืองและผ้าบาติกร่วมสมัย รวมถึงผ้าบาติกที่หาได้ยากและมีลวดลายพิเศษ เช่น ผ้าบาติกของจังหวัดอาเจะห์และผ้าบาติกต้นแบบที่มีอายุหลายร้อยปี ซึ่งห้องจัดแสดงผ้าบาติกเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าบาติกแห่งชาติอินโดนีเซีย
ห้องจัดแสดงผ้าบาติกกว่า 300 ชนิด |
ในการเที่ยวพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ นักท่องเที่ยวสามารถลองทำผลิตภัณฑ์ต่างๆจากผ้าบาติก นอกจากนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ฯยังเปิดการอบรมเกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองและศิลปะการวาดลวดลายบนผ้าบาติก นาย Sugeng Riadi ช่างศิลป์ที่แนะนำวิธีการวาดลวดลายบนผ้าบาติกของพิพิธภัณฑ์ฯเผยว่า
“กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของอินโดนีเซียเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง อีกทั้งจุดประกายความรักและพัฒนาทักษะความสามารถให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบ ตลอดจนสนับสนุนการประกอบอาชีพเป็นช่างศิลป์วาดลวดลายบนผ้าบาติก”
ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ มีสวนปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการทำผ้าและสีย้อมผ้า มีพื้นที่ 3 พันตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมีห้องทำงานและโรงงานที่ใช้ซ่อมและแก้ไขปัญหาต่างๆเกี่ยวกับผ้าพื้นเมือง
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สิ่งทอในกรุงจากาตาร์คือพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียและแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียในการรวบรวม เก็บรักษาและอนุรักษ์มรดกของหน่วยงานสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศนี้อย่างมีประสิทธิภาพ.
Hương Trà