(VOVWORLD) - สำหรับกลุ่มคนไทยที่รักภาษาเวียดนามหรือกลุ่มคนเวียดนามที่รักภาษาไทยต่างรู้จักเพจเฟสบุ๊ค “Talk about Vietnamese” ซึ่งความน่าสนใจของเพจนี้นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้วก็คือแอดมินของเพจนี้คืออาจารย์สาวชาวไทยที่มีความหลงใหลภาษาเวียดนาม วันนี้ เราจะพาคุณผู้ฟังมาทำความรู้จักกับอาจารย์ท่านี้พร้อมกับผู้สื่อข่าวของสถานีวิทยุเวียดนามกันนะคะ
เพจเฟสบุ๊ค “Talk about Vietnamese” |
"สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้แอดมินจะมาแปลข่าวสั้นๆให้ทุกคนฟังกันนะคะที่เลือกข่าวนี้เพราะว่าเห็นว่าที่เมืองไทยไม่มี คือบ้านเราไม่มีข่าวประเภทนี้เลย แล้วก็มันน่าสนใจตรงนี้ที่ว่า ข่าวนี้ทำให้คนไทยรู้ว่า การศึกษาสำหรับชาวเวียดนามมีความสำคัญมากขนาดไหน ข่าวนี้อยู่ในกรอบเล็กๆ เป็นข่าวแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ระดับมหาวิทยาลัยแห่งชาติค่ะ”
นี่เป็นเสียงของอาจารย์ ภัสธิดา บุญชวลิต ที่แนะนำทางเฟสบุ๊ค “Talk about Vietnamese” ถ้าดูผ่านๆคงไม่มีใครคิดว่า คุณภัสธิดาเป็นคนไทย เพราะเธอพูดภาษาเวียดนามได้คล่องมาก คุณภัสธิดากำลังเรียนปริญญาเอกภาษาศาสตร์เวียดนาม ณ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และเธอยังเป็นแอดมินของเฟสบุ๊ค “Talk about Vietnamese” ที่มีผู้ติดตามเกือบ 7,000 คน โดยเพจนี้นำเสนอข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประเทศเวียดนามทั้งภาษาไทยและภาษาเวียดนามรูปภาพ คลิปวิดีโอเกี่ยวกับอาหาร วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม ดังนั้น เพจจึงมีผู้ติดตามจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ไปจนถึงคนทำงานที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม
“สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาว วรนันท์ ชนะรัสเวช ชื่อเล่นชื่อเมย์ค่ะ ปัจจุบันอายุ 29 ปีค่ะ ตอนนี้เป็นราชการครู สอนวิชาภาษาเวียดนาม วันนี้ เราพูดถึงเพจที่มีชื่อว่า “Talk about Vietnamese” ชื่อเพจก็คือการพูดคุยเกี่ยวกับภาษาเวียดนาม สำหรับเพจนี้ ดิฉันดิตามตั้งแต่แรกๆ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเรียนภาษาเวียดนามอยู่ค่ะ เราก็จะติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเวียดนาม เป็นเพจที่น่าสนใจมากๆ ให้ความรู้ทั้งด้านภาษาเวียดนาม นอกจากภาษาเวียดนามแล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวประวัติศาสตร์เวียดนาม อาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆซึ่งเราสามารถฝึกภาษาเวียดนามด้วย ดิฉันขอขอบคุณเพจ“Talk about Vietnamese” มากๆที่แชร์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาษาเวียดนาม”
“สวัสดีครับ ผม เหน่ง เลิศ พงศ์วิจิตรมณี ผมทำงานในธนาคารไทยแห่งหนึ่ง ได้มาพบเจอเพจ “Talk about Vietnamese” มาจากการลิงค์ๆของเพื่อนๆ เริ่มแรกก็เห็นว่าเป็นเพจสอนภาษาเวียดนาม ให้ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ทางเพจนี้มีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจในหลายแง่มุม ในบางตอน มีการนำเสนอภาษาสอนเด็กๆ ซึ่งเราได้เรียนรู้วิธีการสอนเด็กๆเวียดนามไปในตัวด้วย เรียนรู้วัฒนธรรม แต่หลังๆ เห็นว่า มีการลิงค์สำหรับงานเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเปิดโอกาสหางานทำได้ด้วย”
คุณภัสธิดา บุญชวลิต |
สมาชิกของเพจ “Talk about Vietnamese” ไม่ได้มีแต่คนไทยที่สนใจประเทศเวียดนามเท่านั้น หากยังมีคนเวียดนามจำนวนมากที่กำลังเรียนภาษาไทยและรักภาษาไทยติดตามด้วย ซึ่งการติดตามเพจนี้ของกลุ่มคนที่รักภาษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาที่กำลังเรียนภาษาไทยหรือกลุ่มคนที่ทำงานในบริษัทของไทยก็จะช่วยพัฒนาความรู้และหางานที่เกี่ยวกับภาษาไทยไปพร้อมๆกับการมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น
“หนูชื่อเวิน ปัจจุบันนี้เป็นครูและนักแปลภาษาไทยอยู่ที่ฮานอย หนูได้ติดตามเพจ “Talk about Vietnamese” มาตั้งแต่ปี 2015 หนูเห็นว่าเป็นช่องที่น่ารัก มีการแบ่งปันรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของเวียดนามตั้งแต่อาหารริมทาง เทศกาล รูปภาพต่างๆที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ซึ่งจริงๆแล้วนั่นคือสัญลักษณ์และรูปภาพที่สร้างวัฒนธรรมเวียดนามและถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาไทย นั่นเป็นสิ่งที่แตกต่างจากเพจที่หนูเคยดูและติดตาม นอกจากความรู้ หนูยังเห็นว่าเพจมีการแชร์เรื่องงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาเวียดนามและภาษาไทย ซึ่งช่วยให้พวกหนูได้เห็นศักยภาพของภาษาที่ตนเองกำลังเรียนอยู่ ผ่านช่องทางนี้ หนูเชื่อว่าเพื่อนๆที่เมืองไทยจะสามารถเข้าใจวัฒนธรรมเวียดนามได้มากขึ้นและอาจจะรักประเทศเวียดนามมากยิ่งขึ้นผ่านการแบ่งปันเรื่องราวต่างๆของแอดมิน”
ในการบอกเล่าถึงช่วงแรกเริ่มที่ก่อตั้งเพจ คุณภัสธิดากล่าวว่าเธอเริ่มทำเพจตั้งแต่ปี 2012 เมื่อตอนอยู่กรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายในตอนแรกแค่เพียงว่า อยากจะเขียนไดอารี่ จดบันทึกความรู้ หรือสิ่งที่ตนเองเพิ่งรู้เกี่ยวกับเวียดนามเท่านั้น แต่หลังจากนั้น จำนวนผู้สนใจและติดตามเพจนี้ก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นจึงทำให้คุณภัสธิดามีจุดมุ่งหมายในการทำเพจให้กว้างมากขึ้นเพื่อแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเวียดนามให้แก่ผู้ที่มีความสนใจเหมือนตนเอง
“ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจมากกว่า 6,000 คน ดังนั้นในแต่ละครั้งที่จะโพสต์ข้อมูล ดิฉันก็ต้องค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น ตอนนี้เพจมีจุดมุ่งหมายเพิ่มขึ้นคือแบ่งปันข้อมูลเรื่องงานที่เกี่ยวข้องกับภาษาเวียดนามและประเทศเวียดนาม แนะนำอาหารเวียดนามที่เมืองไทยและอาหารเวียดนามที่เวียดนามให้กับคนไทยได้รับรู้ สมาชิกของเพจมีความชอบและรักภาษาเวียดนามมากๆ ถึงแม้ตนเองจะไม่ค่อยได้โพสต์บ่อยๆแต่พวกเขาก็ยังคงรออยู่ อย่างเช่นวันนี้ดิฉันได้รับข้อความทาง inbox ให้ช่วยตามหาเพื่อนที่เวียดนามซึ่งขาดการติดต่อไป ข้อความคำถามเกี่ยวกับภาษาจากน้องๆนักศึกษาที่เมืองไทยและที่เวียดนาม รวมทั้งคำถามเกี่ยวกับการหางานทำ”
คุณภัสธิดา รักภาษาเวียดนามและเมื่อเธอรักภาษานี้อย่างจริงจังก็เป็นเวลาเดียวกับที่เธอรู้ว่าตนเองก็มีสายเลือดเวียดนาม |
เมื่อกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณภัสธิดาเริ่มเรียนภาษาเวียดนามและมีความชื่นชอบภาษานี้ เธอกล่าวว่า เธอรักภาษาเวียดนามและเมื่อเธอรักภาษานี้อย่างจริงจังก็เป็นเวลาเดียวกับที่เธอรู้ว่าตนเองก็มีสายเลือดเวียดนาม
“จริงแล้วๆดิฉันเพิ่งรู้ตัวว่าเป็นเหวียดเกี่ยว (ชาวเวียดนามโพ้นทะเล) เพราะว่าครอบครัวไม่เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับเหวียดเกี่ยวหรือต้นตระกูลว่ามาจากไหน แต่ดิฉันชอบเรียนภาษาเวียดนามตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากจบปริญญาตรีและทำงานไปได้ 1 ปีก็รู้สึกว่าอยากเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มอีกภาษาหนึ่งแต่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ในตอนนั้น จังหวัดนครพนมซึ่งเป็นบ้านเกิดของดิฉันและมหาวิทยาลัยวิงห์เพิ่งมีความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษากัน ดิฉันจึงได้สมัครไปเรียนเป็นเวลา 1 ปี หลังจากเรียนจบก็ได้กลับมาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากจบปริญญาโท ดิฉันก็ได้เริ่มสอนภาษาเวียดนามอย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยสองสามแห่งและปัจจุบันกำลังสอนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง”
แม้ว่าขณะนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งมากเนื่องจากคุณภัสธิดากำลังอยู่ในช่วงแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ แต่ด้วยความรักที่มีต่อภาษาเวียดนามทำให้เธอยังคงอัพเดทข่าวสารบนเพจเพื่อให้แก่แฟนๆได้ติดตามในช่วงไม่สามารถเดินทางไปประเทศเวียดนามได้ในขณะนี้ โดยเฉพาะชาวเวียดนามโพ้นทะเลสูงวัยที่ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้อย่างเช่นป้าคนโตของคุณภัสธิดา ทุกครั้งเมื่อกล่าวถึงคำว่า “เวียดนาม” เธอกล่าวว่าจะกลับมาเวียดนามทุกปีแน่นอนเพราะตลอดเวลากว่า 3 ปีที่เรียนและใช้ชีวิตในกรุงฮานอย เวียดนามเปรียบเสมือนบ้านเกิดหลังที่สองของเธอ มื่อภาษาเวียดนามของเธอก้าวหน้ามากขึ้น เธอหวังว่าจะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อนำเสนอข้อมูลช่วยให้คนไทยเข้าใจและรักเวียดนามมากขึ้นเหมือนกับที่เธอรักประเทศเวียดนาม./.