(VOVWORLD) - การสอนการร้องเพลงพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์และท้องถิ่นต่างๆที่โรงเรียนประจำชนเผ่าในจังหวัดเดียนเบียนเป็นวิธีการที่ดีและมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้นและมีส่วนร่วมอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตนอย่างมีประสิทธิภาพ
การสอนการร้องเพลงพื้นเมือง ที่ โรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงาม |
ในเวลาที่ผ่านมาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงาม อำเภอเดียนเบียน จังหวัดเดียนเบียน ได้มีการสอนการร้องเพลงพื้นเมืองของท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ไทและม้งให้แก่นักเรียน โดยครูเป็นผู้รวบรวมทั้งเพลงและเครื่องดนตรี เช่น ขลุ่ย และฉิ่งฉาบ สำหรับสอนให้แก่นักเรียน คุณโด๊ะถิกิมทือ นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงามได้เผยว่า กิจกรรมนี้ทำให้การเรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นน่าสนใจและเข้าใจง่ายขึ้น
“หนูรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เรียนร้องเพลงสรรเสริญบ้านเกิด ซึ่งทำให้หนูรักครอบครัว ปู่ย่าตายายและพ่อแม่มากขึ้น”
นอกจากการสอนการร้องเพลงแล้ว บรรดาครูยังได้สอดแทรกเนื้อหาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสอนทัศนศิลป์ เช่น การวาดภาพเกี่ยวกับบรรยากาศในการทำงาน การผลิต การฟ้อน “แซ่ว”และชุดแต่งกายของสาวชนกลุ่มน้อย ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในจังหวัดเดียนเบียน คุณ ห่าถิแทงถาว นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงาม ได้เผยว่า
“หนูได้วาดภาพสาวหาบข้าวกลับบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นเคยมากเพราะครอบครัวที่นี่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวตลอดทั้งปี”
คุณครู หลู่ถิเอียน จากโรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงาม |
โรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงามมีนักเรียนเป็นชนกลุ่มน้อยร้อยละ 84 ซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าไท ลาว ม้ง กิงและขมุ โดยจะใส่ชุดแต่งกายของชนเผ่าตนไปเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน การฟ้อน “แซ่ว”และการฟ้อนรำพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คุณครู หลู่ถิเอียน จากโรงเรียนมัธยมศึกษาชนเผ่าตำบลนั้วงาม ได้เผยว่า
“ทางโรงเรียนฯกำลังผลักดันการสอนทัศนศิลป์ที่มีทั้งภาพพิมพ์ กราฟิกดีไซน์ การออกแบบแฟชั่นและการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม โดยนักเรียนชอบวาดภาพเกี่ยวกับหมู่บ้านของตน ที่จังหวัดเดียนเบียน ชนเผ่าไทเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรจำนวนมาก มีชุดแต่งกายและการฟ้อนแซ่วที่โดดเด่นมาก ซึ่งนักเรียนก็ชอบใส่ชุดแต่งกายของชนเผ่าไทเพื่อศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่านี้”
ทั้งนี้ การสอดแทรกเนื้อหาต่างๆในบทเรียนกับเรื่องราววิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มในจังหวัดเดียนเบียนเป็นวิธีการที่ดีและช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเอกลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในท้องถิ่น อีกทั้งส่งเสริมความภาคภูมิใจและจิตสำนึกในการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของนักเรียนชนกลุ่มน้อย.