การอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเขตชนกลุ่มน้อย
Ngọc Anh -  
(VOVWORLD) - เวียดนามมี 54 ชนเผ่า โดยชนเผ่ากิงห์ และชนเผ่าฮวาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุด แม้จะมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนั้น การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆจากรัฐ
หมอผีเป็นผู้ที่ได้รับความนับถือในชุมชน |
ในสภาวการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานบริหารด้านวัฒนธรรมภาครัฐได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการเข้าถึงนโยบายอนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเน้นถึงปัญหาการทำมาหากิน นาง จิ่งถิถุย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวได้เผยว่า“ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกลไกและนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในสภาวการณ์ใหม่และการปฏิบัติจริงในเวียดนาม โดยเน้นถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรม พร้อมทั้งต้องผลักดันการประชาสัมพันธ์และให้การศึกษาเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมตามโรงเรียนต่างๆ เช่น จังหวัดบั๊กนิงได้ส่งเสริมการสอนร้องเพลงทำนองกวานเหาะ ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติและเขตเตยเงวียนได้ผลักดันการสอนการตีฆ้องอย่างมีประสิทธิภาพ”
บทบาทของชุมชนคือปัจจัยที่มีความหมายชี้ขาดต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของเวียดนามอย่างยั่งยืน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมอผี ศิลปินอาวุโสและช่างศิลป์มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเพราะได้รับความนับถือในชุมชน ดร.เหงวียนถิแทงเวินจากมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอยได้เผยว่า“การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกควรได้รับการปฏิบัติตามแนวทางการสานต่อ อนุรักษ์และพัฒนา มิใช่แค่อนุรักษ์เพียงอย่างเดียวและต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาสังคม”
การอนุรักษ์วัฒนธรรมของเขตชนกลุ่มน้อยเน้นอนุรักษ์ภาษาพูด ภาษาเขียน เครื่องดนตรี ชุดแต่งกายและงานเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์และกำลังมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป มหาบัณฑิตบ่านถิหวิ่งยาวจากสถาบันวรรณกรรมได้เผยว่า “สำหรับชนเผ่าเย้าอย่างพวกเรา มีการร้องเพลงพื้นเมืองในทุกพิธีกรรม เช่น งานแต่งงานและพิธีรับรองการบรรลุนิติภาวะของผู้ชาย แต่ปัจจุบัน เยาวชนชนเผ่าเย้าที่สามารถร้องเพลงพื้นเมืองได้มีน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดโดยการฟังเท่านั้น ดังนั้น ต้องส่งเสริมให้เยาวชนธำรงการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนของชนเผ่าตนเพื่อส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของประชาชาติ”
อาจกล่าวได้ว่า เขตตะวันตกเฉียงเหนือคือภูมิภาคที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยมากที่สุด ซึ่งทำให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น จึงต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ดร.เจิ่นฮึวเซิน รองประธานสมาคมวรรณกรรมและศิลปะพื้นเมืองได้ย้ำว่า“บทเรียนจากการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของจังหวัดต่างๆในเขตตะวันตกเฉียงเหนือคือต้องมียุทธศาสตร์การปฏิบัติระยะยาว โดยทางการปกครองและประชาชนในท้องถิ่นต้องเข้าร่วมยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะชุมชนมีบทบาทที่สำคัญในการปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ”
ส่วนหน่วยงานวัฒนธรรมต้องลงทุนยกระดับคุณภาพการอบรมด้านวิชาการและการบริหารให้แก่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่ด้านวัฒนธรรมต้องมีความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ ในการผสมผสานเข้ากับกระแสโลกและการพัฒนาของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ต้องผลักดันการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในการอนุรักษ์คุณค่าวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ศ.ดร.ลิวเจิ่นเตียว ประธานสมาคมมรดกวัฒนธรรมเวียดนามได้ให้ข้อสังเกตว่า“ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง โดยก่อนอื่นต้องจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดเพื่อขยายผล”
ทั้งนี้และทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต้องสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในท้องถิ่น มีส่วนร่วมเสริมสร้างกลุ่มมหาสามัคคีชนในชาติเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมเวียดนามที่ก้าวหน้าและมีเอกลักษณ์.
Ngọc Anh