(VOVWORLD) - หน่วยงานวัฒนธรรมและองค์กรการกุศลได้มอบหนังสือให้แก่หมู่บ้านต่างๆในเขตทุรกันดารและเขตที่อยู่ห่างไกลความเจริญของจังหวัดดั๊กลั๊กเพื่อช่วยให้เด็กๆ ที่นี่สามารถเข้าถึงและอ่านหนังสือได้อย่างสะดวก อีกทั้งมีส่วนร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านหนังสือและจุดประกายความรักการอ่านหนังสือให้แก่เด็กๆ
ขบวนรถ “ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู” เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน |
ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้บริเวณโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โตหวิงเหยียน ที่อำเภอเมืองบวนโห่ จังหวัดดั๊กลั๊ก มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งอ่านหนังสือท่ามกลางเสียงจั๊กจั่นที่ร้องดังทั่วบริเวณโรงเรียนในช่วงพักเบรค ซึ่งหนังสือดังกล่าวสามารถยืมได้จากรถบรรทุกสีเหลืองที่แปะชื่อข้างๆ รถว่า “ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู”
หลังจากอ่านบทกวีชุด “Em cứ sống một cuộc đời của cỏ” หรือที่แปลว่า “จงใช้ชีวิตให้เหมือนต้นหญ้า” คุณ H Sơ Mi MLô นักเรียนชั้นม. 1 ได้เขียนแสดงความรู้สึกที่กระดาษเพื่อมอบให้แก่ผู้ดูแล“ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู” คุณ H Sơ Mi MLô เผยว่า “ห้องสมุด”นี้น่าสนใจมาก มีทั้งหนังสือและของเล่นมากมาย
“หนูชอบ “ห้องสมุด” นี้มากเพราะมีหนังสือการ์ตูนและหนังสือที่น่าสนใจมาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้และทำให้พวกหนูมีความสนุกเพลิดเพลิน”
นอกจากได้รับมอบและอ่านหนังสือแล้ว นักเรียนยังได้รับของขวัญที่น่ารักๆและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นหมากรุกสากล วาดภาพ ทำตุ๊กตาพื้นเมืองต่อแฮและทำปกหนังสือ คุณ ฝ่ามแค้งมี อาศัยที่เมืองบวนมาถวด จังหวัดดั๊กลั๊ก ซึ่งเป็นผู้ดูแลรถ “ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู”ได้เผยว่า จากความประสงค์ที่จะสร้างโอกาสให้เด็กๆในเขตทุรกันดารและเขตที่อยู่ห่างไกลความเจริญของเขตที่ราบสูงเตยเงวียนสามารถเข้าถึงและอ่านหนังสือได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2020 บริษัทโบ่กงแอง ที่เมืองบวนมาถวดได้ร่วมกับผู้มีใจกุศลปฏิบัติโครงการ “ห้องสมุดในหมู่บ้าน” ต่อมา เมื่อปี 2022 โครงการนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู” โดยส่งรถบรรทุกขนาดเล็กที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมหนังสือทุกชนิด ของขวัญและของเล่นไปยังหมู่บ้านและโรงเรียนต่างๆในเขตทุรกันดารของจังหวัดดั๊กลั๊ก ยาลาย กอนตุมและดั๊กนง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ขบวนรถ“ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู”ได้เดินทางไปยังโรงเรียน 50 แห่ง ช่วยให้เด็กนักเรียนกว่า 15,000 คนได้อ่านหนังสือและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งมอบหนังสือกว่า 12,000 เล่มให้แก่ตู้หนังสือของโรงเรียน คุณ ฝ่ามแค้งมี เผยว่า
“พวกเราได้เตรียมของขวัญเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือ เช่น สมุดบันทึก ปากกาและหนังสือ ซึ่งจะมอบให้แก่เด็กที่อ่านหนังสือเสร็จและเขียนแสดงความรู้สึกที่กระดาษ”
ทั้งนี้ ขบวนรถ “ห้องสมุดแห่งวสันต์ฤดู” เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน ส่วนสำหรับทางการท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2017 คณะกรรมการประชาชนจังหวัดดั๊กลั๊กได้ประกาศแผนและปฏิบัติโครงการ “พัฒนาวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในชุมชนจนถึงปี 2020 วิสัยทัศน์จนถึงปี 2030 ในจังหวัดดั๊กลั๊ก” โดยตั้งเป้าหมายว่า จนถึงปี 2030 จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงและอ่านหนังสือที่เขตชุมชน โรงเรียนและที่ทำงาน นาย โงจุงวิง หัวหน้าแผนกวัฒนธรรมและการสื่อสารอำเภอโกรงบุ๊ค จังหวัดดั๊กลั๊ก ได้เผยว่า
“พวกเราได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนจัดวันงานหนังสือและวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ การจัดหมวดหมู่หนังสือ กิจกรรมให้การศึกษาเกี่ยวกับเกียรติประวัติ วัฒนธรรมและวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ”
นักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งอ่านหนังสือภายใต้ร่มเงาของต้นไม้บริเวณโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โตหวิงเหยียน |
ส่วนนาย เจืองหว่ายแอง ผู้อำนวยสำนักงานการสื่อสารและประชาสัมพันธ์จังหวัดดั๊กลั๊กได้เผยว่า ด้วยการเข้าร่วมของหน่วยงานและสถานประกอบการทำให้มีการขนส่งและมอบหนังสือให้แก่โรงเรียนและห้องสมุดในเขตทุรกันดารและเขตที่อยู่ห่างไกลความเจริญของจังหวัดฯมากขึ้น นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้มีส่วนช่วยส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในประชาชน โดยเฉพาะเด็กและนักเรียนมากขึ้น
“ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ยังมีการพัฒนารูปแบบต่างๆเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสืออย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งทางการปกครองตั้งแต่ระดับส่วนกลางจนถึงระดับท้องถิ่นต้องเข้าร่วมกระบวนการนี้เพื่อให้การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน”
ระบบห้องสมุดตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับท้องถิ่น ตู้หนังสือเรื่องกฎหมาย ตู้หนังสือประจำที่ทำการไปรษณีย์และหอวัฒนธรรมระดับตำบล ตู้หนังสือป้อมทหารชายแดนและห้องสมุดเคลื่อนที่ได้รับการปฏิบัติในหมู่บ้านและโรงเรียนต่างๆในจังหวัดดั๊กลั๊ก ซึ่งได้ประสบผลที่น่ายินดีในเบื้องต้น ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กและนักเรียนในเขตทุรกันดาร เขตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เขตชายแดนและเขตที่ยากจนพิเศษเพื่อมีส่วนร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในชุมชน.