(VOVWORLD) - ในจังหวัดอานยาง ชนเผ่าฮวาส่วนใหญ่อาศัยที่เมืองโจว์โด๊ก เมืองลองเซวียนและอำเภอเมืองเตินโจว์ โดยใช้ภาษาชิโน-ทิเบตและสามารถอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตนได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีส่วนร่วมเพิ่มความหลากหลายให้แก่คลังวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตตะวันตกภาคใต้
ร้านยาชนเผ่าฮวาในเมืองโจว์โด๊ก จังหวัดอานยาง |
ชนเผ่าฮวามีพิธีสำคัญๆ หลายพิธี รวมถึงพิธีตั้งชื่อให้ทารกแรกเกิด สำหรับวิธีตั้งชื่อเด็กนั้น ต้องใช้นามสกุลของพ่อ ส่วนชื่อกลางต้องระบุถึงบทบาทและต้องไม่ซ้ำกับใครในตระกูล อีกทั้งระบุเพศของเด็กด้วย นาย เจิ่นบิ๊งหว่า ชนเผ่าฮวาในอำเภอโจว์โด๊ก จังหวัดอานยางได้เผยว่า
“การตั้งชื่อกลางต้องอิงตามลำดับวงศ์ตระกูลและต้องไม่ซ้ำกับชื่อของปู่ย่าตายายและผู้หลักผู้ใหญ่ในตระกูล โดยผู้หญิงมักใช้ชื่อ หมี งา ซวนและเหละ ซึ่งล้วนเป็นชื่อมงคล”
ครอบครัวชาวฮวาในจังหวัดอานยางจะเชิญผู้ที่ได้รับการนับถือและมีสุขภาพแข็งแรงมาตั้งชื่อเพื่อให้พรเรียกขวัญเด็ก นาย เจิ่นบิ๊งหว่า ชนเผ่าฮวาในอำเภอโจว์โด๊ก จังหวัดอานยางได้เผยต่อไปว่า
“ชนเผ่าฮวามักตั้ง 2 ชื่อ โดย 1 ชื่อถูกระบุในบัตรประจำตัวประชาชนและอีกชื่อซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ค่อยไพเราะสำหรับเด็กเลี้ยงยาก โดยเชิญผู้ที่มีฐานะดีและมีสุขภาพแข็งแรงมาตั้งชื่อให้แก่เด็ก”
หลังจากทารกครบ 1 เดือน จะมีการจัดพิธีทำขวัญเดือน รวมถึงพิธีเซ่นไหว้รายงานตัวต่อบรรพบุรุษเกี่ยวกับการต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน นาย เจิ่นบิ๊งหว่า ชนเผ่าฮวาในอำเภอโจว์โด๊ก จังหวัดอานยางได้อธิบายว่า
“ในพิธีทำขวัญเดือน จะมีการโกนผมเด็กเพื่อให้ผมงอกใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องทำถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ สำหรับบางครอบครัว ยังมีการจัดงานเลี้ยงที่เชิญญาติและเพื่อนๆมาเข้าร่วม ส่วนในถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ มีการเตรียมของเล่น 5 อย่าง ซึ่งการที่เด็กเลือกของเล่นอะไรจะบ่งบอกถึงอาชีพในอนาคตของเด็ก”
ทั้งนี้ ก็เหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ พิธีทำขวัญเดือนเป็นพิธีที่สำคัญและเป็นสิริมงคลสำหรับเด็กชนเผ่าฮวา ซึ่งนอกจากพิธีทำขวัญเดือนแล้ว ชนเผ่าฮวาในจังหวัดอานยางยังให้ความสำคัญต่อพิธีรับขวัญผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากมายและมีความรู้เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่า โดยพิธีรับขวัญผู้สูงอายุแสดงให้เห็นถึงความเคารพรักและความกตัญญูรู้คุณของลูกหลานต่อพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ในตระกูล นาย เจิ่นบิ๊งหว่าและนาย ท้ายหวีมิง ชนเผ่าฮวาในจังหวัดอานยาง ได้เผยว่า
“พิธีรับขวัญถูกจัดขึ้นสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจะมีการจัดงานอวยพรให้พ่อแม่มีอายุยืนที่บ้านหรือเชิญญาติและเพื่อนมาเข้าร่วมงานนี้”
“สำหรับผู้สูงอายุชาย จะจัดพิธีรับขวัญตอนอายุ 60 ปี ส่วนสำหรับผู้สูงอายุหญิง จะจัดพิธีนี้ตอนอายุ 61 ปี และจะมีการจัดงานครั้งใหญ่สำหรับผู้ชายอายุ 80 ปีและผู้หญิง 81 ปี โดยเป็นงานเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก”
ครอบครัวชนเผ่าฮวาจัดพิธีรับขวัญผู้สูงอายุอย่างรอบคอบตามฐานะของครอบครัว โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ในถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษในงานก็คือหมี่ซั่ว ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า ฉางโซ่วเมี่ยน และซาลาเปาซิ่วท้ออายุยืน นาย ท้ายหวีมิง ได้อธิบายว่า
“ในงานรับขวัญสำหรับผู้ที่มีอายุ 61 ปี ต้องเตรียมซาลาเปาซิ่วท้อ 61 ลูก แต่ในคำอวยพรผู้สูงอายุนั้น ต้องบอกว่า ขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสงานรับขวัญอายุ 71 ปี ส่วนสำหรับเมนูอาหารในงานนี้สื่อถึงความหมายต่างๆ เช่น หมี่ซั่ว ซึ่งเป็นบะหมี่เส้นยาวที่สื่อถึงชีวิตที่ยืนยาว และซาลาเปาซิ่วท้อ ซึ่งเป็นซาลาเปารูปลูกท้อ โดยชนเผ่าฮวาเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล สัญลักษณ์ของความมีอายุยืนยาว”
ทั้งนี้ เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าฮวาที่ได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นได้มีส่วนร่วมเพิ่มความหลากหลายให้แก่คลังวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตตะวันตกภาคใต้.