​การปรับตัวอย่างคล่องตัวและผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

(VOVWORLD) - หลังพบการแพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมปี 2019 จนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี โรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนต่อวันเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศต่างๆ และก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่ร้ายแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในทั่วโลกอีกด้วย    
​การปรับตัวอย่างคล่องตัวและผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 - ảnh 1เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ณ โรงพยาบาลในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (AFP)

ตามรายงานสถิติของเว็บไซต์ worldometer.info จนถึงกลางเดือนธันวาคมปี 2021 การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5.3 ล้านรายจากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 272 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตกว่า 7.3 พันราย เพราะโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกหรือWHO ได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ระดับโลกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020 นอกจากนั้น โรคโควิด-19 ยังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงในหลายด้านที่สร้างผลพวงอันหนักหน่วงอีกมากมาย

โลกเผชิญวิกฤสุขภาพและเศรษฐกิจ

การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตการเงินที่ผ่านๆมา หลายประเทศต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อรับมือวิกฤต ในขณะเดียวกัน กิจกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกตกเข้าสู่ภาวะชะงักงันเป็นเวลานาน ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าก็ประสบอุปสรรคมากมายและชะงักงันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น กิจกรรมการผลิตในหลายประเทศลดลงอย่างรวดเร็วจนทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น สถานการณ์ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลยังคงเกิดขึ้นในหลายสิบประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศพัฒนา ในขณะที่นักเรียนหลายร้อยล้านคนไม่สามารถไปโรงเรียนได้

นอกจากนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ การโต้เถียงกันเกี่ยวกับต้นตอของการระบาดใหญ่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือสหรัฐและจีนมีความตึงเครียดมากขึ้น ส่วนความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างประเทศต่างๆเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคระบาดก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2021 ที่มีการตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน

ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ การระบาดครั้งใหญ่กำลังสร้างความท้าทายอย่างหนักต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ตลอดจนกระบวนการโลกาภิวัตน์และการผสมผสานเข้ากับกระแสโลก การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบรรดาประเทศที่ร่ำรวยโดยสถานการณ์ในสหรัฐได้แสดงให้เห็นว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอเพื่อค้ำประกันการพัฒนาที่ยั่งยืน หากปัจจัยเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ สวัสดิการสังคมและความมั่นคงของระบบนิเวศกำลังมีความหมายมากขึ้นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์และผสมผสานทั่วโลกยังคงได้รับการยืนยันว่า เป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แนวทางนี้ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีน โดยที่ทวีปแอฟริกามีประชากรร้อยละ 7.5 เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสโดยมีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 17.9 โดสต่อประชากร 100 คน ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐอยู่ที่ 130 โดสและ 141 โดสต่อประชากร 100 คนตามลำดับ ประเทศร่ำรวยซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรโลกได้ซื้อวัคซีนถึงร้อยละ 89 จากแหล่งจัดสรรวัคซีนทั่วโลก โดยมีบางประเทศได้สั่งซื้อในปริมาณที่มากกว่าประชากรของตน นี่เป็นสถานการณ์ที่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรย์ซัส ได้อธิบายว่าเป็น “ความไม่เท่าเทียมกันที่น่าตกใจ”

รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กันยายนปี 2021ได้ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งรุนแรงกว่าวิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2008-2009 ในขณะเดียวกัน นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ย้ำว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี

​การปรับตัวอย่างคล่องตัวและผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 - ảnh 2เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในเมือง Sonthofen ประเทศเยอรมนี (AFP)

ปรับตัวอย่างคล่องตัวและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

WHO และนักระบาดวิทยาชั้นนำของโลกหลายคนเตือนว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่ยุติลงในเร็วๆนี้ ดังนั้น ผู้คนทั่วโลกจึงไม่มีทางเลือกใดนอกจากต้องปรับตัวและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยกับโรคระบาด ดังนั้น ควรส่งเสริมการฉีดวัคซีนในวงกว้างต่อไป เนื่องจากวัคซีนยังคงได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด ช่วยลดอัตราผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตได้อย่างมาก อีกทั้งต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันต่างๆอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากาก การรักษาสุขอนามัยและรักษาระยะห่าง

แต่อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงเงื่อนไขเบื้องต้นเท่านั้น แต่เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การควบคุมการแพร่ระบาดก็คือการประสานงานและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในทางเป็นจริง การแพร่ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีประเทศหรือภูมิภาคใดสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในขณะที่ยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดในการเปิดประเทศและผสมผสานเข้ากับกระแสเศรษฐกิจโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การควบคุมการแพร่ระบาดสามารถทำได้ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศในวงกว้างอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการก้าวไปสู่ความร่วมมือดังกล่าวต้องเริ่มจากการเร่งแก้ไขสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วผ่านการแบ่งปันและถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด