การประชุมสุดยอดจี 7: หน้าที่และความท้าทาย
Ba Thi -  
(VOVWORLD) - วันที่ 20 กุมภาพันธ์ บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือกลุ่มจี 7 จะจัดการประชุมสุดยอดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ นี่เป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกของกลุ่มจี7นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 และเป็นเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่สำคัญที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ โจ ไบเดน เข้าร่วมเป็นครั้งแรก การประชุมสุดยอดกลุ่มจี 7 ครั้งนี้มีขึ้นในสภาวการณ์ที่โรคโควิด -19 ยังคงแพร่ระบาดในวงกว้างและส่งผลกระทบอย่างหนักในโลก ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ได้รับการคาดหวังและต้องเผชิญกับแรงกดดันเป็นอย่างมากเช่นกัน
ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน (AFP) |
ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ หน้าที่และความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 7 คือการต่อสู้กับโรคโควิด -19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกและการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาด
หน้าที่
ก่อนจัดการประชุม 1 สัปดาห์ ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์โดยย้ำว่า นี่เป็นโอกาสเพื่อให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน หารือกับบรรดาผู้นำของกลุ่มจี 7 เกี่ยวกับแผนการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด -19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาด โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน เน้นหารือถึงวิธีการรับมือของโลกต่อการผลิตและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 การธำรงความพยายามร่วมมือเพื่อต่อต้านผลกระทบของโรคติดต่อในปัจจุบันผ่านการสร้างขีดความสามารถระดับชาติและจัดตั้งกองทุนความมั่นคงด้านสาธารณสุขเชิงป้องกัน อีกทั้ง หารือกับบรรดาผู้นำของกลุ่มจี 7 เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของตนเพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกและประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมดธำรงการช่วยเหลือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสนอมาตรการอื่น ๆ
ส่วนนาย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานการประชุมสุดยอดจี7 ปี 2021 ได้ย้ำว่า มาตรการแก้ไขปัญหาความท้าทายที่โลกกำลังต้องเผชิญได้ถูกระบุอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ตั้งแต่ภารกิจในการปฏิบัติโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในทุกประเทศ ไปจนถึงการต่อสู้เพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด-19 นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เรียกร้องให้กลุ่มจี7 มีวิธีการเข้าถึงระดับโลกในปัญหาการแพร่ระบาด เช่น การจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อยุติแนวคิด "ชาตินิยมและความแตกแยกทางการเมือง" ที่ทำลายความพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ในช่วงแรกๆ แล้ว นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังอยากใช้ประโยชน์ในฐานะประธานจี7เพื่อผลักดันความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางการค้าเสรีและยั่งยืน
ก่อนหน้านั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่การเงินของกลุ่มจี7 ยังได้หารือเกี่ยวกับวิธีการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการกล่าวปราศรัยหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ทาโร อาโสะ ยังเผยว่า บรรดาผู้นำของกลุ่มจี 7 ได้หารือเกี่ยวกับเสาหลักของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อลดผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตลอดจนการช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำ รวมถึงมาตรการลดและขยายระยะเวลาชำระหนี้
นาย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานการประชุมสุดยอดกลุ่มจี7 (Reuters) |
แรงกดดันและความท้าทาย
เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ถือว่ามีความหมายทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน กลุ่มจี 7 ต้องมีความพยายามมากขึ้น รวมทั้งความสามัคคีและความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ในการปฏิบัติงานระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งได้รับการประเมินว่า เป็นสิ่งสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ภายในกลุ่มจี 7 กำลังมีความแตกแยกที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติงาน เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐได้อ้างแหล่งข่าวบางส่วนจากวงการนักการทูตว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูงะ ได้ "แสดงปฏิกิริยาอย่างเข้มแข็ง" ต่อข้อคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน เกี่ยวกับการผลักดันบทบาทของประเทศรับเชิญต่อฟอรั่มกลุ่มจี 7 โดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน เคยเชิญสาธารณรัฐเกาหลี อินเดียและออสเตรเลียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มจี7 ที่ Cornwall ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 ซึ่งการเชิญประเทศนอกกลุ่มให้เข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นเรื่องปรกติแต่บทบาทและการมีส่วนร่วมของประเทศรับเชิญในฟอรั่มยังคงมีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในการประชุมจี7 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศว่า กำลังวางแผนที่จะเชิญสามประเทศนอกกลุ่มเข้าร่วมในบางส่วนของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และร่วมกันลงนาม "กฎบัตรสังคมเปิดกว้าง" กับประเทศสมาชิก
รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า เป้าหมายของการประชุมสุดยอดในปีนี้คือการฟื้นฟูกลุ่มจี7 ไม่ใช่เพื่อ "สร้าง" ความสัมพันธ์กับประเทศรับเชิญ โดยประเทศสมาชิกในยุโรปอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลีและเยอรมนีก็แสดงความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันกับญี่ปุ่น ส่วนนักการทูตบางคนของกลุ่มฯได้แสดงความวิตกกังวลว่า อังกฤษกำลังพยายาม "เปิดประตูหลัง" เพื่อ "ก่อร่างกลุ่มจี7ใหม่" และการเคลื่อนไหวของอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะทำให้กลุ่มจี7 ตกเข้าสู่ภาวะเผชิญหน้ากับจีนและประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกของกลุ่มจี7 ตั้งใจหลีกเลี่ยงหลังจากได้พยายามขัดขวางไม่ให้อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ทำในสิ่งเดียวกันนี้.
Ba Thi