(VOVWORLD) - การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างยั่งยืนและพื้นที่ทางทะเลของประเทศคือหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง ได้ระบุในการอ่านรายงานต่อการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 8 สมัยที่ 15 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งการที่ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นศตวรรษแห่งมหาสมุทรทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลเป็นแนวโน้มและแนวทางที่สำคัญสำหรับทุกประเทศที่ติดทะเล รวมถึงเวียดนาม
เขตเศรษฐกิจเวินฟอง จังหวัดแค้งหว่า |
ปัจจุบัน เวียดนามมีประชากรคิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั่วประเทศที่อาศัยใน 28 จังหวัดและนครริมฝั่งทะเล และเมืองใหญ่ๆครึ่งหนึ่งของเวียดนามตั้งอยู่ในเขตริมฝั่งทะเลและเกาะแก่ง
การเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นต่างๆ
จังหวัดแค้งหว่าในเขตริมฝั่งทะเลทางภาคกลางตอนใต้ได้ตั้งเป้าหมายว่า จนถึงปี2030 จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านการบริการ การท่องเที่ยวทะเลระหว่างประเทศ เป็นขั้วการเจริญเติบโตและเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจทางทะเลของเขตริมฝั่งทะเลทางภาคกลางตอนใต้ เขตที่ราบสูงเตยเงวียนและประเทศ ในศักราชแห่งการผงาด จนถึงปี 2050 จังหวัดแค้งหว่า จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจทางทะเลที่สำคัญ เป็นเมืองอัจฉริยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาทัดเทียมกับเมืองใหญ่ๆในเอเชีย ด้วยความได้เปรียบของเศรษฐกิจทางทะเล จังหวัดแค้งหว่าได้เน้นพัฒนาบริการโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพสูง อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน เป็นต้น นาย เหงวียนเติ๊นตวน ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดแค้งหว่าได้เผยว่า
“ทางการจังหวัดฯกำลังจัดทำแผนพัฒนาเมืองติดทะเลระดับภูมิภาค โดยงานด้านกลาโหม ความมั่นคง อธิปไตยเหนือทะเลและเกาะแก่งได้รับการรักษาอย่างมั่นคง จังหวัดแค้งหว่ามีอำเภอเจื่องซา ซึ่งมีสถานะทางภูมิศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์ โดยตั้งเป้าสร้างสรรค์อำเภอเกาะเจื่องซาเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือทะเลและเกาะแก่งของประเทศผสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล”
ส่วนในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา จังหวัดเบ๊นแจที่มีแนวชายฝั่งยาว 65 กม. กำลังปฏิบัติกิจกรรมและโครงการต่างๆเพื่อพัฒนาทางทิศตะวันออก โดยมีแนวทางลงทุนและเน้นปฏิบัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบัน ได้ปฏิบัติแล้วเสร็จ 9 โครงการรวมกำลังการผลิตกว่า 365.9 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯได้ยื่นเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแนวทางปฏิบัติโครงการ “คอมเพล็กซ์ไฮโดรเจนสีเขียวเบ๊นแจ” ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนเป็นการนำร่องในเวียดนาม นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้นักลงทุนเข้าร่วมโครงการถมทะเล นาย เจิ่นหงอกตาม ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดเบ๊นแจให้ข้อสังเกตว่า
“พวกเราได้วางแนวทางพัฒนาทางทิศตะวันออก รวมถึงโครงการถมทะเล รวมพื้นที่ 50,000 เฮกตาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดเบ๊นแจแบบก้าวกระโดดในเวลาข้างหน้า ซึ่งหวังว่า บรรดานักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในจังหวัดเบ๊นแจและโครงการนี้มากขึ้นเพื่อช่วยให้จังหวัดเบ๊นแจพัฒนารุดหน้าทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ”
แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ
ปัจจุบัน เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจริมฝั่งทะเล 19 แห่งที่ได้รับการอนุมัติแผนการพัฒนา ซึ่งในนั้น มี 18 แห่งได้รับการก่อตั้ง ซึ่งดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 550 โครงการ รวมเงินลงทุนจดทะเบียนกว่า 5 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโครงการลงทุนภายในประเทศกว่า 1,600 โครงการ รวมเงินลงทุนจดทะเบียนกว่า 5 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 GRDP ของ 28 จังหวัดติดทะเลคิดเป็นร้อยละ 49.8ของจีดีพี
นาย เหงวียนชี้หยุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน (nld.com.vn) |
ส่วนสำหรับระบบนโยบาย กฎหมาย การวางแผนและยุทธศาสตร์ทางทะเลได้รับการตรวจสอบและปรับปรุง โดยแสดงให้เห็นทัศนะเชิงก้าวกระโดดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการกลางพรรคได้ประกาศมติที่ 36 เมื่อปี 2018 เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลเวียดนามอย่างยั่งยืนจนถึงปี2030 วิสัยทัศน์จนถึงปี 2045 ส่วนสภาแห่งชาติได้อนุมัติกฎหมายทางทะเลเวียดนามปี 2012 กฎหมายทรัพยากร สิ่งแวดล้อมทางทะเลและเกาะแก่งปี2015 โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา การประชุมครั้งที่ 7 สภาแห่งชาติสมัยที่ 15 ได้อนุมัติมติเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ทางทะเลแห่งชาติช่วงปี 2021 - 2030 วิสัยทัศน์จนถึงปี 2050 นาย เหงวียนชี้หยุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุนได้เผยว่า รัฐได้ลงทุนในโครงการ เขตทะเลและก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจทางทะเลเป็นจำนวนมาก ซึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลและพื้นที่ทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน รัฐมนตรี เหงวียนชี้หยุง ได้เสนอว่า
“ในเวลาข้างหน้า กระทรวงและหน่วยงานต้องตรวจสอบการวางแผนทั้งในระดับประเทศ เขต หน่วยงานและท้องถิ่นเพื่อสอดแทรกปัจจัยต่างๆบนเจตนารมณ์สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจผสานกับการรักษางานด้านกลาโหม ให้ความสนใจปฏิบัติโครงการต่างๆแบบเจาะจงและสร้างพลังขับเคลื่อนใหม่ให้แก่ด้านต่างๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน การเดินเรือและโลจิสติกส์”
ทั้งนี้ มติของการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคครั้งที่ 8 สมัยที่ 12 เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลเวียดนามอย่างยั่งยืนจนถึงปี 2030 วิสัยทัศน์จนถึงปี 2045 ระบุว่า “เวียดนามต้องพัฒนาเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางทะเล มั่งคั่งจากทะเล พัฒนาอย่างยั่งยืน เจริญรุ่งเรือง มีความมั่นคงและปลอดภัย พัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างยั่งยืนผสานกับการค้ำประกันกลาโหม ความมั่นคง รักษาเอกราช อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน”
ปัจจุบัน เวียดนามกำลังมีโอกาสที่สำคัญเพื่อเร่งปฏิบัติเป้าหมายและแผนการต่างๆในปี 2024 ปี 2025 และช่วงปี 2021 - 2025 ซึ่งการพัฒนาทางทะเลและพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างยั่งยืนจะมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติเป้าหมายการพัฒนาของเวียดนามให้ประสบความสำเร็จ.