(VOVWORLD) - ในหลายวันที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปะทะระหว่างกองทัพตุรกีกับกองกำลังชาวเคิร์ดในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียหลังจากสหรัฐถอนทหารออกจากเขตนี้ แม้ยุทธการนี้ของตุรกีมีชื่อว่า “สันติภาพฤดูใบไม้ผลิ” หรือ Operation Peace Spring และผู้นำตุรกีประกาศว่า ยุทธนาการดังกล่าวมีขึ้นในเขตชายแดนของซีเรีย รัศมีประมาณ 30 ก.ม.เท่านั้น แต่การปะทะนี้อาจสร้างความไร้เสถียรภาพ เพิ่มความตึงเครียดในตะวันออกกลางและอาจบานปลายกลายเป็นสงครามที่รุนแรงได้
กองทัพตุรกีในซีเรีย (Photo VNplus)
|
ชาวเคิร์ดในภาคเหนือของซีเรีย โดยเฉพาะกองกำลัง YPG คือ 1 ในหลายปัญหาที่สร้างความแตกต่างด้านทัศนะและความขัดแย้งทางผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับตุรกี และพันธมิตรนี้ของสหรัฐในซีเรียก็เป็นกลุ่มที่ตุรกีอยากกวาดล้างเพราะ YPG สนับสนุนพรรคพีเคเคในตุรกี ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกห้ามเคลื่อนไหวในตุรกี ซึ่งถ้าหากสามารถทำลายกลุ่ม YPG ได้ ก็จะสามารถทำลายความมุ่งมั่นในการต่อสู้ของชาวเคิร์ดในตุรกี ซีเรีย อิรักและอิหร่านเพื่อสร้างสรรค์รัฐเอกราชที่มีอธิปไตยและมีดินแดนของชาวเคิร์ดในเขตนี้ อันเป็นการฟื้นฟูรัฐอิสระที่เคยมีในอดีต
ความกังวล
การที่กองทัพตุรกีโจมตีชาวเคิร์ดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียหลังจากที่สหรัฐถอนทหารออกไปไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตุรกีเคยส่งทหารข้ามไปยังชายแดนซีเรียสองครั้งเพื่อโจมตีกองกำลัง YPG ของชาวเคิร์ด ดังนั้น การถอนตัวของทหารสหรัฐคือโอกาสให้ตุรกีทำการโจมตีครั้งที่ 3 ใส่กลุ่ม YPG ในซีเรีย
ในยุทธนาการนี้ ตรุกีตั้งความหวังว่า จะมีเขตกันชนยาว 480 ก.ม.และลึกเข้าไปในดินแดนของซีเรีย 32 ก.ม.เพื่อรักษาความมั่นคงและเป็นเขตตั้งถิ่นฐานของชาวซีเรียที่กำลังลี้ภัยในตุรกีประมาณ 3.6 ล้านคน
นักวิเคราะห์มองว่า ยุทธนาการนี้ของตุรกีได้ทำให้ประชามติโลกต้องครุ่นคิดถึงแผนการที่ทะเยอทะยานของทางการประธานาธิบดีเออร์โดกันที่หวังจะเข้าไปแทนที่สหรัฐที่เพิ่งถอนทหารออกไปเพื่อธำรงอิทธิพลของตนในซีเรียและเพิ่มบทบาทในภูมิภาค
แต่ผลพวงที่ตามมากับยุทธนาการนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลโดยหนังสือพิมพ์ DW ของเยอรมนีได้ให้ข้อสังเกตว่า นอกจากส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ยุทธนาการนี้จะสร้างความไร้เสถียรภาพไปทั่วตะวันออกกลางในปีต่อๆไป
ในขณะเดียวกัน ชาวเคิร์ดในซีเรียมองว่า ตุรกีมีความประสงค์ทำการเหยียดเชื้อชาติและกระจายประชากรเลียบตามเขตชายแดน คาดว่า ในจำนวนชาวเคิร์ดประมาณ 1.8 ล้านคนที่กำลังอาศัยในประเทศซีเรีย มีครึ่งหนึ่งกำลังอาศัยในเขตกันชนที่ตุรกีเสนอจัดตั้ง
นอกจากนี้ สมาชิกของกลุ่มไอเอสประมาณ 11,000 คนที่กำลังถูกคุมขังอาจหลบหนีถ้าหากเกิดการปะทะที่มีฝ่ายเกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้าร่วมและอาจเปิดโอกาสให้กลุ่มไอเอสฟื้นตัว จนถึงขณะนี้ กองกำลังประชาธิปไตยซีเรียหรือเอสดีเอฟ ซึ่งมีกลุ่ม YPG เป็นสมาชิกยังคงไล่ล่ากลุ่มไอเอสที่กำลังหลบซ่อนอยู่ต่อไปนับตั้งแต่สามารถยึดดินแดนบริเวณสุดท้ายของตนในต้นปีนี้ บรรดาผู้นำชาวเคิร์ดในเซียเรียได้เตือนมานานแล้วว่า เอสดีเอฟ อาจไม่คุมขังนักโทษไอเอสอีกถ้าหากเกิดสถานการณ์ความไร้เสถียรภาพจากการบุกรุกของตุรกี
สำหรับประชาชนผู้บริสุทธิ์ซีเรีย ยุทธนาการนี้จะส่งผลให้ชาวซีเรียนับแสนคนต้องอพยพไปยังเขตภาคใต้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเอสดีเอฟและเขตของชาวเคิร์ดในอิรัก พร้อมทั้งทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตรุกีต้องรับมือกับการลุกขึ้นของชาวเคิร์ดเป็นเวลานาน
ยังไม่มีจุดจบ
การโจมตีของตุรกีในหลายวันที่ผ่านมาได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาคมโลก โดยสหประชาชาติและหลายประเทศได้ออกมาคัดค้านและออกคำเตือนต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ควบคู่กับการขยายยุทธนาการนี้ ตุรกีได้พยายามลดความกังวลของประชาคมโลกด้วยการประกาศว่า ยุทธนาการนี้จะไม่ลึกเข้าไปในดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเกิน 30 ก.ม. และนี่ไม่ใช่การรุกราน พร้อมทั้งเตือนว่า ตุรกีจะเปิดประเทศและส่งชาวซีเรียนับล้านคนที่กำลังลี้ภัยในตุรกีไปยังยุโรปถ้าหากยุทธนาการนี้ถูกมองว่า เป็นการรุกรานและว่า อังการาทำยุทธนาการนี้ก็เพราะมีความรักต่อประชาชนซีเรียและปกป้องชาวซีเรียจากกองกำลังชาวเคิร์ดที่ทางอังการาถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ดูเหมือนว่า ตุรกีจะปฏิบัติยุทธนาการนี้ต่อไปจนกว่าจะสามารถเก็บกวาดนักรบของกลุ่ม YPG ที่อังการาถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายได้ทั้งหมด แต่ยุทธนาการนี้จะนำฤดูใบไม้ผลิมาให้แก่ประเทศซีเรียจริงหรือไม่ก็ยังไม่อาจทราบได้ แต่ที่เห็นชัดเจนแล้วก็คือ ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคและการถูกคัดค้านจากประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งหลังการประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา 5 ประเทศยุโรป ประกอบด้วยฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ เบลเยียมและโปแลนด์ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่เรียกร้องให้ตุรกียุติยุทธนาการดังกล่าว.