อินเดียเสร็จสิ้นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์
Quang Dung- VOV5 -  
(VOVWORLD) -วันที่ 4 มิถุนายน อินเดียได้ทำการนับคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งการเลือกตั้งที่มีความซับซ้อนและขอบเขตใหญ่ที่สุดในโลกนี้ได้ประสบความสำเร็จ สร้างพื้นฐานเพื่อช่วยให้อินเดียแก้ไขความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมหลังการเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้ง Varanasi ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนปี 2024 (Photo: AFP /TTXVN)
|
การเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียเริ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน โดยจัดขึ้นเป็น 7 ระยะและเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 642 ล้านคนได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพื่อเลือกสส. 543 นายและเลือกพรรคที่จะเป็นรัฐบาลบริหารประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า
การเลือกตั้งในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถือว่าได้ประสบความสำเร็จ โดยในตลอด 6 สัปดาห์ที่จัดการเลือกตั้ง ไม่เกิดปัญหาแม้จะมีความวิตกกังวลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในรัฐทางใต้และรัฐที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จากการที่สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากเกิดอากาศร้อนจัดได้ทำให้ประชาชนนับหมื่นคนป่วยโรคลมแดดและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้ทำให้อัตราผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งลดลงมากนัก ตามข้อมูลสถิติ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่าร้อยละ 66 ในจำนวนเกือบ 970 ล้านคนได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งต่ำกว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 ร้อยละ 1 เท่านั้น นาย Rajiv Kumar หัวหน้าคณะกรรมการเลือกตั้งอินเดียได้ประกาศว่า
“พวกเราได้ทำสถิติโลก โดยมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 642 ล้านคน ซึ่งสูงกว่า 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 และมากกว่า 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของ 27 ประเทศสมาชิกอียู ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ”
พรรคการเมืองกว่า 750 พรรคได้เข้าร่วมแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะมีพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นจำนวนมากแต่การเลือกตั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NDA นำโดยพรรคภารตียชนตาหรือ BJP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีกับกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดียหรือ INDIA นำโดยพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย
ผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจที่น่าประทับใจของอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีและพรรค BJPเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้พรรค BJPได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในเวลาที่ผ่านมา อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกและอยู่ที่ร้อยละ 8.2 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในยุคของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี อินเดียยังแสดงบทบาทที่สำคัญในโลก กลายเป็นเสาหลักในซีกโลกใต้ เป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของกลุ่มเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดใหม่หรือ BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ส่วนภายในประเทศ จากการส่งเสริมแนวทางชาตินิยมฮินดู พรรคBJP ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ก็สามารถสร้างฐานเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
ความท้าทายหลังการเลือกตั้ง
หลังการเลือกตั้ง อินเดียต้องแก้ไขความท้าทายต่างๆ สำหรับด้านเศรษฐกิจ ในตลอด 10 ปีที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี บริหารประเทศแม้อินเดียกลายเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลกและได้รับการพยากรณ์ว่า จะกลายเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับที่ 3 ในโลกในอีก 2 ปีข้างหน้าแต่อินเดียยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่ำที่สุดในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาและเพิ่งเกิดใหม่ชั้นนำของโลกหรือจี 20 โดยเฉพาะอัตราคนว่างงานถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อินเดียต้องแก้ไข ตามข้อมูลของศูนย์ติดตามเศรษฐกิจอินเดียหรือ CMIE ระบุว่า อัตราคนว่างงานในอินเดียในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ในเขตตัวเมือง อัตราคนว่างงานที่มีอายุ 15-29 ปีอยู่ที่ร้อยละ 17 นี่เป็นจุดที่พรรคฝ่ายค้านต่างๆในอินเดียตำหนินายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นอกจากนี้ บรรดาผู้สังเกตการณ์ยังย้ำถึงความไม่เสมอภาคทางสังคมในอินเดียที่นับวันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างเขตตัวเมืองกับเขตชนบท นาย Ashoka Mody นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันของสหรัฐเผยว่า การที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดพ เพิ่มการสนับสนุนค่าครองชีพ เช่น ค่าก๊าซหุงต้มและอาหารให้แก่ประชาชนซึ่งได้เกิดประโยชน์ในระยะสั้นแต่ยังไม่พอเพื่อช่วยให้หลายล้านครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน นาย Pushpendra Kumar Singh นักสังคมศาสตร์อินเดียเห็นว่า
“อัตราจีดีพีของอินเดียอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาที่คนจนในอินเดียกำลังต้องเผชิญแต่นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในสังคมอินเดียที่นับวันเพิ่มมากขึ้น คนรวยจะรวยมากขึ้น ส่วนคนจนก็จะยากจนลงและคนจนต้องทำงานมากขึ้น”
นอกจากความท้าทายด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียยังต้องแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ในด้านศาสนาและสังคมเนื่องจากความแตกแยกระหว่างชุมชนชาวมุสลิม 200 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรอินเดียกับชุมชนชาวฮินดูที่นับวันเพิ่มมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ความไม่พอใจของเกษตรกรเนื่องจากรายได้ต่ำที่ทำให้เกิดการชุมนุมต่างๆ เมื่อปีที่แล้วยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลอินเดียต้องให้ความสนใจเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีความซับซ้อนด้านวัฒนธรรมและศาสนาแห่งนี้.
Quang Dung- VOV5