(VOVWORLD) - การประชุมครั้งที่ 56 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เสร็จสิ้นลง ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยการเข้าร่วมของเวียดนามในการประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเวียดนามในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีส่วนร่วมปฎิบัตินโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกอย่างเข้มแข็งและมีความรับผิดชอบต่อปัญหาของประชาคมระหว่างประเทศในฐานะเป็นสมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวาระปี2023-2025
ภาพการประชุม (VNA) |
การประชุมครั้งที่ 56 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในระหว่างวันที่ 19 มิถุนายนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม โดยได้พิจารณาและอนุมัติมติ 25 ฉบับ รวมถึงมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชนที่เวียดนาม บังคลาเทศและฟิลิปปินส์เป็นผู้เสนอและส่งเสริม
ผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนความพยายามของเวียดนาม
มติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชนได้ยืนยันอีกครั้งถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อการได้รับประโยชน์จากสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิในการใช้ชีวิต สุขภาพ น้ำสะอาด สุขอนามัยและสิทธิในการพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ผู้ยากจน สตรี เด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ ดังนั้น มตินี้จึงเรียกร้องให้มีมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว
มตินี้ยังส่งเสริมวิธีการเข้าถึงที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง รอบด้านและครอบคลุมต่อนโยบายรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆจัดทำและปฏิบัตินโยบายค้ำประกันกระบวนการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืนดำเนินการอย่างยุติธรรม เท่าเทียมกัน ครอบคลุม ยั่งยืนและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงการสร้างตำแหน่งงานใหม่ การค้ำประกันสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มตินี้ยังย้ำถึงความสำคัญของการขยายความร่วมมือและช่วยเหลือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสนับสนุนด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเสริมสร้างศักยภาพเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความพยายามระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเรียกร้องให้ประเทศตั้งเป้าหมายการเงินด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ที่สูงขึ้นในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือ COP 29
เอกอัครราชทูต มายฟานหยุง หัวหน้าคณะผู้แทนถาวรเวียดนามประจำสหประชาชาติ องค์การการค้าโลกและองค์กรระหว่างประเทศ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 56 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เวียดนามได้เป็นประธานการประชุมทาบทามความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับร่างมติดังกล่าว โดยมีการเข้าร่วมของตัวแทนประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศและองค์กร NGO จำนวนมาก อีกทั้งจัดการประชุมหารือทวิภาคีกับหุ้นส่วนที่ให้ความสนใจปัญหานี้ทั้งในระดับเอกอัครราชทูตและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการที่มตินี้ได้รับการอนุมัติจากสภาสิทธิมนุษยชนและมี 70 ประเทศสนับสนุนการปฏิบัติได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและความสำเร็จของเวียดนามในการเป็นผู้ประสานงานจัดทำมตินี้
บทบาทสมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวาระปี 2023-2025
การประชุมครั้งที่ 56 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประกอบด้วยการประชุมอภิปราย 5 นัด การประชุมหารือและสนทนาด้วยขั้นตอนพิเศษ 40 ขั้นตอนของสภาสิทธิมนุษยชนและกลไกต่างๆด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รวมถึงการประชุมทาบทามความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างมติดังกล่าวหลายครั้ง
ในการประชุม คณะผู้แทนเวียดนามได้หารือและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิในการศึกษา ปัญหาความยากจนสัมบูรณ์ การเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง โดยแสดงทัศนะ นโยบายที่เสมอต้นเสมอปลายและผลสำเร็จของเวียดนามในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมการหารือ พิจารณาและอนุมัติมติต่างๆของสภาฯอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการเป็นผู้ประสานงานกลุ่มปฏิบัติงานที่สำคัญเพื่อจัดทำ นำเสนอและส่งเสริมให้สภาสิทธิมนุษยชนอนุมัติมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชนในหัวข้อ “การปรับเปลี่ยนที่เท่าเทียม”
ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของเวียดนามในการประชุมครั้งที่ 56 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทการเป็นสมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวาระปี 2023-2025 ของเวียดนาม ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับคำยืนยันของนาย บุ่ยแทงเซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามหลังจากเวียดนามได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาฯเมื่อปี 2022 โดยนาย บุ่ยแทงเซินได้เผยว่า
“เวียดนามจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก มีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อกิจกรรมต่างๆของสภาฯ ส่งเสริมการสนทนาและความร่วมมือระหว่างประเทศบนเจตนารมณ์แห่งการให้ความเคารพ ความเข้าใจระหว่างกัน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตอบสนองเงื่อนไข ความต้องการและผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เวียดนามจะร่วมกับประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความคิดริเริ่มและมาตรการในด้านต่างๆ เช่น สิทธิในการใช้ชีวิตท่ามกลางสันติภาพ สิทธิในการพัฒนา สิทธิของกลุ่มเปราะบาง ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา งานทำ การรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโรคระบาด เป็นต้น”
ทั้งนี้และทั้งนั้น ด้วยความรับผิดชอบ การเป็นฝ่ายรุกและความพยายามมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งต่างๆ เวียดนามได้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างลุล่วงไปด้วยดี ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศสร้างโลกสันติภาพ โดยประชาชนทุกคนและทุกประเทศต่างได้รับประโยชน์จากผลการพัฒนาและความก้าวหน้าทางสังคม.