แปรแผนการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของนักศึกษาให้เป็นจริง
Viet Hung - Vinh Phong -  
(VOVWORLD) -ปัจจุบันนี้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆที่นครโฮจิมินห์มีนักศึกษาหลายคนที่วางแผนการทำธุรกิจสตาร์ทอัพและสามารถปฏิบัติให้เป็นความจริงได้ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ ซึ่งในการประกวดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพหลายครั้ง มีโครงการของนักศึกษาหลายโครงการที่ได้รับคำชื่นชมและความสนใจจากองค์กรและสถานประกอบการต่างๆที่ได้เข้ามาร่วมลงทุนเพื่อแปรแผนการเหล่านี้ให้กลายเป็นความจริง
แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยวัสดุอินทรีย์ |
เมื่อหลายปีก่อน นาย เหงวียนหิวต๊วน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรและป่าไม้นครโฮจิมินห์ได้วางแผนนำโสมมาปลูกในเขตที่ราบลุ่ม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า แผนการของตนมีความเป็นไปได้สูง เขาได้ซื้อโสมจากสาธารณรัฐเกาหลีมาปลูกในพื้นที่หน้าห้องพัก ซึ่งโสมต้นนี้สามารถเติบโตได้ดี ต่อจากนั้น เขาได้ทดลองปลูกโสมหงอกลิงห์ของเวียดนามด้วยวิธีแอโรโปนิกส์ ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ตามข้อมูลของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเห็นความหลงใหลในการปลูกโสมของนาย ต๊วน อาจารย์หลายคนในคณะฯจึงสนับสนุนและช่วยทำความฝันของเขาให้กลายเป็นความจริง จนสามารถปลูกโสมหงอกลิงห์ได้ในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเกษตรและป่าไม้
เมื่อปี 2019 นาย ต๊วน ได้นำโสมที่ปลูกด้วยวิธีการนี้เข้าร่วมการแข่งขันรางวัลความสามารถพิเศษ “เลืองวันกาน” ซึ่งก็ได้รับรางวัลที่หนึ่งและปัจจุบันนี้โครงการของเขาเป็นหนึ่งในโครงการของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยฯ ส่วนคุณต๊วนเองก็กำลังวางแผนนำโสมในห้องปฏิบัติการมาปลูกในพื้นที่เขตที่ราบลุ่มเพื่อให้ได้โสมที่ปลูกแบบธรรมชาติ “โสมสามารถปลูกในเกาหลีได้ ทำไมจะปลูกในเวียดนามไม่ได้ เราสามารถปลูกโสมในสภาพแวดล้อมปกติโดยไม่ต้องปลูกในสภาพแวดล้อมพิเศษคือบนภูเขา เราสามารถปลูกโสมในเขตที่ราบลุ่มด้วยเทคโนโลยีการปลูกแบบแอโรโปนิกส์และไฮโดรโปนิกส์ อาจารย์และศูนย์บ่มเพาะฯได้สนับสนุนผมเป็นอย่างมากในด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร”
ด้วยความหลงใหลในสาขาวิชาที่ตนกำลังเรียนอยู่ นาย ฝ่ามดิ่งลองเหญิด นักศึกษาปีที่ 2 คณะอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทคนิกส์นครโฮจิมินห์ ได้มีแนวคิดในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยวัสดุอินทรีย์ โดยได้ทำการวิจัยและทดสอบกับพืชและผักผลไม้ต่างๆ เพื่อหาวัสดุนำไฟฟ้าที่สามารถนำไปผลิตเซลล์รับแสงอาทิตย์ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ 2 ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับวิธีการแบบดั้งเดิม ดังนั้น โครงการผลิตแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยวัสดุอินทรีย์ ของลองเหญิดได้เข้ารอบชิงชนะเลิศในการแข่งขัน "Schneider Go Green Vietnam 2021" ซึ่งเป็นการประกวดโครงการที่มีศักยภาพในด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดย Schneider Electric Vietnam คุณลองเหญิดกล่าวว่า “ผมรู้สึกโชคดีที่สามารถกำหนดทิศทางในอนาคตได้ ผมอยากพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของเวียดนาม และโชคดีที่มีเพื่อนๆและอาจารย์ที่ให้การสนับสนุน ในชั้นปีที่ 2พวกเราส่วนใหญ่กำลังเรียนความรู้ขั้นพื้นฐาน ดังนั้น ผมอยากจะมีทีมงานที่เข้มแข็งและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น”
การนำโครงการทดลองในห้องปฏิบัติการมาปฏิบัตินอกห้องทดลองคือกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและต้องได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก ซึ่งสถานประกอบการหลายแห่งพร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนและเดินพร้อมกับนักศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อปฏิบัติโครงการเหล่านี้ แต่นักศึกษาเองก็ต้องพัฒนาทักษะความสามารถ นาง เหงียนถิห่ง กรรมการบริหารของบริษัทนำเข้าและส่งออกเทคโนโลยีหายเหญิดเผยว่า “นักศึกษาอาจจะเก่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ คุณต้องการความรู้และทักษะความสามารถเกี่ยวกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพอีกด้วย เช่น วิธีการทำธุรกิจ วิธีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ดังนั้นคุณต้องมีทีมงานที่ดีที่สุดเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการหาทุน สถานที่ผลิต โรงงาน การบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น”
จุดแข็งของนักศึกษาในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพคือมีความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามความฝัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการต่างๆด้วย.
Viet Hung - Vinh Phong