ป้องกันการถ่ายโอนกำไรระหว่างสถานประกอบการเอฟดีไอเพื่อเลี่ยงภาษี

(VOVWORLD) -การปฏิบัตินโยบายที่เปิดเผยและอำนวยความสะดวกของรัฐบาลเวียดนามให้สิทธิพิเศษต่อสถานประกอบการที่ใช้เงินลงทุนจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอ ซึ่งได้มีส่วนร่วมเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานประกอบการเอฟดีไอที่ฉวยโอกาสนี้เพื่อหลบเลี่ยงภาษีผ่านการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน ซึ่งทำให้สูญเสียงบประมาณและส่งผลกระทบในทางลบต่อบรรยากาศการลงทุน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ สำนักงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามกำลังปรับปรุงระบบกฎหมายเพื่อทำให้บรรยากาศการลงทุนมีความโปร่งใสและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
ป้องกันการถ่ายโอนกำไรระหว่างสถานประกอบการเอฟดีไอเพื่อเลี่ยงภาษี - ảnh 1สถานประกอบการเอฟดีไอมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจเวียดนาม (Photo vietnamnet.vn)

กรมการเงินสถานประกอบการสังกัดกระทรวงการคลังได้เผยว่า อัตราสถานประกอบการที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศประกาศขาดทุนต่อเนื่องในปี 2016 อยู่ที่ร้อยละ 61 ซึ่งสูงกว่าทุกปีตั้งแต่ปี 2012-2015 โดยนับตั้งแต่ปี 2012-2016 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 44-51 แต่ในทางเป็นจริงสถานประกอบการเอฟดีไอที่ประกาศขาดทุนและขาดทุนต่อเนื่องส่วนใหญ่ล้วนมีการขยายการลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาการกำหนดราคาโอนเพื่อเลี่ยงภาษีที่นับวันซับซ้อนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัท Metro Cash & Carry VietNam ได้ใช้วิธีการถ่ายโอนกำไรเพื่อเลี่ยงภาษีในเวียดนามในตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องจ่ายภาษีย้อนหลังกว่า 5 แสนล้านด่ง หรือล่าสุดนี้ก็มีบริษัท Grab ที่มีเงินทุนจดทะเบียน 2 หมื่นล้านด่งได้ประกาศขาดทุนต่อเนื่องกว่า 9 แสน 3 หมื่น 8 พันล้านด่ง ควบคู่กันนั้น ยังเกิดกรณีการโอนกำไรจากบริษัทแม่ที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศไปยังบริษัทภายในเครือที่ประกอบธุรกิจในเวียดนามเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีและใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษสำหรับนักลงทุนต่างชาติ นายบุ่ยหงอกต๊วน รองผู้อำนวยการบริษัทให้คำปรึกษาด้านภาษี Deloitte Viet Nam เผยว่า “ปัจจุบันนี้ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 20 ซึ่งใกล้ถึงระดับต่ำ ส่วนประเทศสิงคโปร์ก็อยู่ในระดับต่ำที่สุด การมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำบวกกับการได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ถือว่า น่าสนใจมากในภูมิภาค”

การวิเคราะห์สถานการณ์การประกอบธุรกิจของสถานประกอบการเอฟดีไอได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทเหล่านี้ยังไม่ได้เสียภาษีทัดเทียมกับทรัพยากรที่บริษัทใช้ไป โดยสถานประกอบการหลายแห่งได้ใช้ช่องโหว่ในนโยบายให้สิทธิพิเศษในระดับสูงแก่นักลงทุน เช่น ค่าเช่าที่ดิน ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อถ่ายโอนกำไรจากบริษัทแม่ในต่างประเทศไปยังบริษัทในเครือที่เวียดนาม นางเหงียนถิลานแอง รองอธิบดีกรมตรวจตราสังกัดทบวงภาษี กระทรวงการคลังเวียดนามเผยว่า เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่พึงเสียสถานประกอบการเอฟดีไอส่วนใหญ่ใช้มาตรการโอนกำไรทั้งในลักษณะการประกาศขาดทุน มีกำไรหรือผ่านทรัพย์สินต่างๆ การกำหนดอัตราภาษีต่ำหรือไม่เก็บภาษี ตลอดจนการปล่อยกู้สินเชื่อต่างๆ ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการใช้วิธีการโอนราคาของสถานประกอบการเอฟดีไอที่มีความสัพมันธ์กัน ทางฝ่ายสำนักงานภาษีต้องทำการวิจัยมาตรการแก้ไขต่อไปเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีความสมบูรณ์เพื่อสามารถควบคุมตรวจสอบรายได้ของสถานประกอบการเอฟดีไอ นางเหงียนลานแองเผยว่า            “เราจะเป็นฝ่ายรุกในการวิจัยมาตรการแก้ไขเพื่อจัดทำและปรับปรุงข้อมูลของผู้ชำระภาษี ผลักดันกระบวนการสร้างฐานข้อมูลด้านการค้าและข้อมูลของหน่วยงานภาษีเพื่อตอบสนองความต้องการในการป้องกันปัญหาการโอนราคาเพื่อเลี่ยงภาษี พร้อมทั้งขยายการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นฝ่ายรุกในการร่วมมือกับต่างประเทศ”

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจหลายคนให้ข้อสังเกตว่า จำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างนโยบายให้สิทธิพิเศษบนพื้นฐานของกำไรอย่างมีประสิทธิพาพ พร้อมทั้งพิจารณาการปรับปรุงรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษเพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่ทำประโยชน์อย่างแท้จริงจากนโยบายเหล่านี้ ดังนั้นข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับสิทธิพิเศษในด้านภาษีต้องมีความโปร่งใสและไม่ซ้ำซ้อน ต้องปรับปรุงบรรยากาศการประกอบธุรกิจ ยกระดับคุณภาพของแหล่งบุคลากร เน้นพัฒนาหน่วยงานอุตสาหกรรมประกอบเพื่อสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนภายใต้ระบบตรวจสอบและประเมินที่มีประสิทธิภาพ./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด