(VOVWORLD) - ในปี 2023 นครไฮฟองสามารถดึงดูดแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอราว 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเขตนิคมอุตสาหกรรมรวม 14 แห่งในนครได้ดึงดูดโครงการลงทุนเกือบ 800 โครงการ รวมทั้งโครงการลงทุนเอฟดีไอกว่า 500 แห่ง ควบคู่กับการก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทางนครฯ ยังผลักดันการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจทางทะเลซึ่งเปิดโอกาสใหม่ให้แก่ไฮฟองและเชื่อมโยงกับเขตนิคมอุตสาหกรรมทางทะเล สร้างพลังขับเคลื่อนให้แก่จังหวัดฯ และเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง
เขตเศรษฐกิจด่งหวู – ก๊าดหาย (VNA) |
ในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แหล่งเงินทุนเอฟดีไอที่ไหลเข้านครไฮฟองได้บรรลุตัวเลข 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในปี 2023 นครไฮฟองสามารถดึงดูดเงินลงทุนเอฟดีไอถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสถานประกอบการรายใหม่ๆ และบริษัทที่ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจจำนวนมาก นาย Woncheo Park ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของเครือบริษัท SKC สังกัดเครือบริษัท SK ของสาธารณรัฐเกาหลีเผยว่า หลังจากที่เจาะตลาดการลงทุนประกอบธุรกิจในนครไฮฟอง ทางเครือบริษัทฯ ได้ตัดสินใจก่อสร้างโรงงานผลิตวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เขตนิคมอุตสาหกรรม DEEP C ไฮฟอง 1 โดยใช้เงินลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ เราเห็นว่า นครไฮฟองเป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่มีโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคที่ดีและทันสมัย รวมทั้งมีกลไกดึงดูดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ทางบริษัทได้ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยให้คำมั่นว่า จะสร้างระบบนิเวศที่ดีให้แก่สถานประกอบการของสาธารณรัฐเกาหลีและเสนอให้บริษัทอื่นๆ ของสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในนครไฮฟองมากขึ้น”
นอกจากเครือบริษัท SKC นครไฮฟองยังเป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุนของเครือบริษัทข้ามชาติรายใหญ่เช่น LG, Bridgestone, Vingroup และ Pegatron… ซึ่งปัจจุบันนี้ ในนครไฮฟอง มีเขตนิคมอิตสาหกรรมทั้งหมด 14 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 6,000 เฮกตาร์ และมีสถานประกอบการมาเช่ากว่าร้อยละ 61 โดยเขตเศรษฐกิจดิ่งหวู – ก๊าดหายที่มีพื้นที่กว่า 22,500 เฮกตาร์ได้รับการลงทุนก่อสร้างอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งมีทั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตตัวเมือง ศูนย์กลางการค้าและระบบโลจิสติกส์ระดับโลก โดยสามารถดึงดูดโครงการลงทุนเกือบ 800 โครงการ รวมทั้งโครงการที่ใช้เงินทุนเอฟดีไอกว่า 500 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 2 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ นาย เหงียนชี้หยุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุนได้เผยว่า เขตเศรษฐกิจไฮฟองเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจทางทะเลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเวียดนาม
นาย เหงียนชี้หยุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน (VNA) |
เพื่อใช้ความได้เปรียบของเขตเศรษฐกิจด่งหวู – ก๊าดหายและสร้างพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาของนครฯในปีต่อๆไป ทางนครฯ ได้สนับนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจทางทะเลทางทิศใต้ของนครฯ โดยคาดว่า เขตเศรษฐกิจแห่งที่ 2 นี้จะกว้างประมาณ 20,000 เฮกตาร์ ครอบคลุมพื้นที่ทางทิศใต้ของปากน้ำวันอุ๊ก บริเวณท่าเรือและโลจิสติกส์ของเขตนามโด่เซิน นาย เลเตี๊ยนโจว เลขาธิการพรรคสาขานครไฮฟองได้ย้ำว่า เขตเศรษฐกิจทางทะเลจะเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ ช่วยเปิดโอกาสพัฒนานครไฮฟองต่อไปในอนาคต
“เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและศึกษาเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในทั่วโลกเพื่อรักษาการพัฒนาแห่งสีเขียวและยั่งยืนให้สมดุลกับการพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งต้องคำนึงถึงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวเมือง อุตสาหกรรม การค้า การบริการ สาธารณสุขและการศึกษา เป็นต้น เพื่อค้ำประกันชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตเศรษฐกิจ”
เขตเศรษฐกิจทางทะเลทางทิศใต้ของนครไฮฟองจะเชื่อมโยงกับเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจของท้องถิ่นใกล้เคียง เช่น เขตนิคมอุตสาหกรรมกว๋างเอียน หายห่าและม้องก๊ายของจังหวัดกว๋างนิงห์ เขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดท้ายบิ่ง จังหวัดนามดิ๋งและจังหวัดแทงฮว้า เป็นต้น เพื่อสร้างระบบนิคมอุตสาหกรรมทางทะเล รองศ.ดร. บุ่ยเต๊ดทั้ง อดีตหัวหน้าสถาบันยุทธศาสตร์พัฒนาแสดงความคิดเห็นว่า การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจต่างๆ จะช่วยให้นครไฮฟองกลายเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง
“การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจนี้ของนครไฮฟองไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจทางทะเลต่างๆ เท่านั้น หากยังช่วยให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นพลังขับเคลื่อน ตัวอย่างและหัวเรือ สมกับสถานะและความปราถนาของนครไฮฟอง ผมขอเสนอให้เรียกเขตเศรษฐกิจนี้เป็นเขตเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจทางทะเล โดยเราตั้งความหวังว่า จะเป็นตัวอย่างให้แก่เขตเศรษฐกิจทางทะเลในภาคเหนือ”
นครไฮฟองกำลังใช้ประโยชน์ของการเป็นท้องถิ่นริมฝั่งทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จากการดำเนินแนวทางที่ถูกต้องบวกกับการลงทุนที่เน้นในด้านหลัก เชื่อว่า นครไฮฟองจะกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทางทะเลระดับโลกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตอันใกล้นี้.