เศรษฐกิจภาคการขนส่งทางทะเล – ก้าวกระโดดเพื่อสร้างความมั่งคั่งจากทะเล

(VOVWORLD) - เศรษฐกิจภาคการขนส่งทางทะเลประกอบด้วยท่าเรือ ระบบการขนส่งและอุตสาหกรรมการต่อเรือ ซึ่งท่าเรือเป็นปัจจัยที่สำคัญในห่วงโซ่โลจิสติกส์ซึ่งสินค้าถูกขนส่งจากทางบกไปสู่ทางทะเล ปัจจุบัน การขนส่งทางทะเลคิดเป็นถึงร้อยละ 90 ของยอดปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออก และส่วนหนึ่งของสินค้าถูกขนส่งภายในประเทศ และเป็นเส้นทางหลักในระบบการขนส่งสินค้าและการจำหน่ายสินค้าของเศรษฐกิจเวียดนาม  เวียดนามตั้งเป้าไว้ว่า จะสร้างก้าวกระโดดในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล รวมทั้งเศรษฐกิจการเดินเรือภายในปี 2030
เศรษฐกิจภาคการขนส่งทางทะเล – ก้าวกระโดดเพื่อสร้างความมั่งคั่งจากทะเล - ảnh 1ท่าเรือคอนเทนเนอร์นานาชาติเตินก๋าง-ไฮฟอง (VNA)

ปัจจุบัน เวียดนามมีระบบท่าเรือที่สมบูรณ์จากเหนือจรดใต้รวมท่าเรือ 286 แห่ง โดยนครไฮฟองเป็นท้องถิ่นที่มีท่าเรือมากที่สุดคือ 50 แห่ง รองลงมาคือจังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่าที่มี 45 แห่ง นครโฮจิมินห์ 43 แห่ง ระบบท่าเรือปัจจุบันได้รับการวางผังอย่างพร้อมเพรียงโดยเชื่อมโยงกับศูนย์กลางและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะ ท่าเรือขนาดใหญ่ด้วยบทบาทเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการนำเข้าและส่งออกสินค้า และสร้างพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาของภูมิภาคได้รับการก่อสร้างและมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือกว๋างนิงห์ และท่าเรือไฮฟองที่มีความผูกพันกับเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคเหนือ ท่าเรือเถื่อเทียนเว้ ดานัง ยุงก๊วตและกวีเญินมีความผูกพันกับเขตเศรษฐกิจหลักในภาคกลาง  ท่าเรือในนครโฮจิมินห์ บ่าเหรียะ-หวุงเต่าและด่งนายมีความผูกพันกับเขตเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ และท่าเรือเกิ่นเทอและอานยางมีความผูกพันกับเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ท่าเรือหลายแห่งกำลังได้รับการลงทุนและพัฒนาให้มีความทันสมัยในระดับโลก เช่น กลุ่มท่าเรือนานาชาติก๊ายแมบ-บ่าเหรียะหวุงเต่าและท่าเรือคอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศเตินก๋าง-ไฮฟองถูกจัดเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์น้ำลึกที่สามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ได้ นาย เหงียนซวนกี่ ผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มท่าเรือระหว่างประเทศ ก๊ายแมบ และเลขาธิการสมาคมท่าเรือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่า

“ก๊ายแมบ-ถิหวายมี 2 บทบาท 1เป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ 2คือเป็นท่าเรือขนถ่ายระหว่างประเทศ ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ก๊ายแมบมีบทบาทเป็นประตูสู่เขตเศรษฐกิจหลักในภาคใต้ ซึ่งมีเรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่ากว่า 30 ลำ ซึ่งมีการเดินเรือและขนถ่ายสินค้าที่รวดเร็วมาก”

เศรษฐกิจภาคการขนส่งทางทะเล – ก้าวกระโดดเพื่อสร้างความมั่งคั่งจากทะเล - ảnh 2นาย เหงียนซวนซาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคมและขนส่ง

พร้อมกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านจำนวนแล้ว ระบบท่าเรือของเวียดนามยังคงได้รับการปรับปรุงเกี่ยวกับความสามารถในการรองรับเรือและคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ดังนั้น ปริมาณสินค้าที่ได้รับการขนถ่ายผ่านระบบท่าเรือเฉลี่ยแต่ละปีจึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 บรรลุ 734 ล้านตันในปี 2022 ความสามารถในการรองรับเรือของระบบท่าเรือของเวียดนามได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของเรือขนส่งระหว่างประเทศ ท่าเรือระหว่างประเทศบ่าเหรียะ - หวุงเต่าสามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดกว่า 200,000 DWT ท่าเรือไฮฟองสามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ได้ถึง 145,000 DWT โครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจกรรมการขนส่งทางทะเล เขื่อนกันคลื่น กิจการรักษาความปลอดภัยทางทะเลและระบบควบคุมการเดินเรือของท่าเรือส่วนใหญ่ได้รับการลงทุนอย่างพร้อมเพรียง คุณภาพของการให้บริการท่าเรือได้รับการปรับปรุงเมื่อมีสถานประกอบการด้านท่าเรือและบริษัทการเดินเรือทั้งภายในและต่างประเทศหลายแห่งเข้ามาลงทุน นาย เลกวางจุง รองประธานสมาคมสถานประกอบการโลจิสติกส์เวียดนาม และรองผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มบริษัทการเดินเรือเวียดนาม เผยว่า

“จนถึงขณะนี้ ไฮฟองมีสถานประกอบการด้านท่าเรือประมาณ 50 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีสถานประกอบการเกือบ 2,000 แห่งที่เข้าร่วมห่วงโซ่โลจิสติกส์และอุปทาน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เป็นภูมิภาคที่สำคัญมากในการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างการนำเข้าและส่งออกสินค้าในภาคเหนือของเวียดนามไปสู่ตลาดโลก”

พร้อมกับระบบท่าเรือ เวียดนามยังได้กำหนดเส้นทางการขนส่งทางทะเล 32 เส้นทาง โดยเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ 25 เส้นทาง และเส้นทางขนส่งทางทะเลภายในประเทศ 7 เส้นทาง นอกจากเส้นทางเอเชียแล้ว เวียดนามยังให้บริการ 16 เส้นทางไปยังอเมริกาเหนือและยุโรป รายงานดัชนีโลจิสติกส์ตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ปี 2022 ซึ่งจัดโดยบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำของโลก Agility ระบุว่า ตลาดโลจิสติกส์ของเวียดนามอยู่อันดับที่ 11 ในกลุ่มตลาดโลจิสติกส์เกิดใหม่ 50 แห่งทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 3 ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน รองจากสิงคโปร์และไทย ในหลายปีที่ผ่านมา โลจิสติกส์เป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพโดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 14-16 ซึ่งมีส่วนร่วมต่อการขยายตัว GDP ของเวียดนามตั้งแต่ร้อยละ 4-5

ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง และอัตรการการเติบโตที่พึ่งพาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นอย่างมาก ดังนั้น ระบบท่าเรือและกิจกรรมโลจิสติกส์จึงมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของเวียดนาม นาย เหงียนซวนซาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคมและขนส่ง เผยว่า

“นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติการวางแผนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาระบบท่าเรือของเวียดนามในช่วงปี 2021-2030 วิสัยทัศน์ถึงปี 2050 ปัจจุบัน ทางกระทรวงฯกำลังมอบหมายให้กรมการเดินเรือเวียดนามจัดทำการวางแผนกลุ่มท่าเรือ 5 กลุ่ม และวางแผนพื้นที่ทางบกและทางน้ำของท่าเรือทุกแห่งทั่วประเทศ”

กิจกรรมสำคัญในการพัฒนาศรษฐกิจภาคการขนส่งทางทะเลคือการต่อเรือและซ่อมแซมเรือ จนถึงขณะนี้ อุตสาหกรรมการต่อเรือของเวียดนามได้เริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค โดยมีอู่ต่อเรือหลายแห่งที่ได้รับการรับรองคุณภาพในระดับโลกและสามารถก่อสร้างโรงงานสนับสนุนการต่อเรือหลายแห่ง การลงทุนที่เข้มแข็งในอุตสาหกรรมการต่อเรือบวกกับการพัฒนาระบบท่าเรือและการเพิ่มขีดความสามารถของระบบการขนส่งทางทะเลถือเป็นปัจจัยหลักที่สร้างก้าวกระโดดเพื่อให้เวียดนามพัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่งคั่งจากเศรษฐกิจทางทะเล.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด