เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างชัดเจน
Thu Trang; Vinh Phong -  
(VOVWORLD) - ทบวงสถิติของกระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้ประกาศรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในเดือนสิงหาคมและใน 8 เดือนแรกที่ผ่านมาซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมการผลิตและประกอบธุรกิจมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2022 มีศักยภาพมากมายในสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนอย่างซับซ้อน
เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างชัดเจน |
เศรษฐกิจของเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหลายประการ เช่น วิกฤตในยูเครน ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างแรงผลักดันให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการระยะ 5 ปีตั้งแต่ปี 2021-2025 รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวง สำนักงานและท้องถิ่นต่างๆปฏิบัติหน้าที่และมาตรการตามมติเกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ซึ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายังคงมีเสถียรภาพและภาวะเงินเฟ้อได้รับการควบคุม นาง โด๋ถิหงอก อธิบดีกรมสถิติและข้อมูลสถิติของกระทรวงการวางแผนและการลงทุนกล่าวว่า
“จุดเด่น เช่น ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นหลายเดือนติดต่อกัน ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 กิจกรรมการค้าและการบริการฟื้นตัวในหน่วยงานส่วนใหญ่ โดยยอดค้าปลีกของสินค้าและรายได้อุปโภคบริโภคและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การท่องเที่ยวก็ถือเป็นจุดเด่นเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนเวียดนามใน 8 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.7 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 กิจกรรมการนำเข้าและส่งออกยังคงธำรงอัตราการเติบโตในระดับสูงด้วยยอดมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4 แสน 9 หมื่น 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุล 3.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานประกอบการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ดี จำนวนสถานประกอบการที่เข้าสู่ตลาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั่วประเทศมีสถานประกอบการที่จดทะเบียนใหม่ประมาณ 1 แสน 3 พันแห่ง เงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตในปี 2020”
มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ประมาณเกือบ 3 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาได้เปรียบดุลการส่งออกเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักเศรษฐศาสตร์ เล ยวี บิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Econimica Vietnam กล่าวว่า
“การได้เปรียบดุลการค้านี้ได้สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายการเงินของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ในสภาวการณ์ที่มีแรงกดดันต่อค่าเงินด่อง ในภาพรวม อัตราการเติบโตเกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 2.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งเป็นจุดเด่นของเวียดนามท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังประสบอุปสรรคมากมายเนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อดีสำหรับเศรษฐกิจเวียดนามในสภาวการณ์ปัจจุบัน”
นักเศรษฐศาสตร์ เล ยวี บิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Econimica Vietnam |
หนึ่งในจุดเด่นของเศรษฐกิจเวียดนามคือสถานการณ์การจดทะเบียนธุรกิจของสถานประกอบการ โดยใน 8 เดือนที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีสถานประกอบการที่จดทะเบียนใหม่และกลับมาประกอบธุรกิจเกือบ 150,000 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนมีสถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นใหม่และกลับมาประกอบธุรกิจอีกครั้ง 1 หมื่น 8 พัน 7 ร้อยแห่ง แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนสถานประกอบการที่ถอนตัวออกจากตลาดยังอยู่ในระดับสูง บรรดาผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า นอกจากอัตราการเติบโตที่เป็นบวกแล้ว ต้องวิเคราะห์และพิจารณาประเด็นนี้อย่างลึกซึ้งและชัดเจน การที่สถานประกอบการหลายแห่งต้องถอนตัวออกจากตลาดเนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจหรือไม่สามารถทนต่อความยากลำบากที่ประสบมานับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ได้แสดงให้เห็นว่า อัตราการฟื้นตัวยังขาดความยั่งยืน โดยเฉพาะในสภาวการณ์ใหม่ นาย ฟานชี้แอง ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยการบริหารธุรกิจหรือ CBAS ของมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยกล่าวว่า
“เราสามารถเห็นได้ว่า การพัฒนาของภาคธุรกิจและการบริการคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของการเติบโตของจีดีพีประจำปี ถ้าหากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการสนับสนุนภาคส่วนนี้ได้ ก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการค้ำประกันการเติบโตของจีดีพี นอกจากเป้าหมายการพัฒนาที่ดีมากแล้ว ยังมีการประเมินที่เป็นเอกฉันท์ระหว่างข้อมูลของทบวงสถิติและธนาคารโลกเกี่ยวกับการฟื้นตัวที่น่ายินดีของเศรษฐกิจเวียดนามคือยังมีหลายปัญหาที่ต้องให้ความสนใจ นั่นคือปัญหาหนี้เสียของธนาคารเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการเบิกจ่ายเงินที่ล่าช้าของการลงทุนสาธารณะและดัชนีการบริโภคเพิ่มขึ้น นี่เป็นปัญหาของการเติบโต”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่บัดนี้จนถึงปลายปียังคงอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อจะลากยาวไปถึงปีหน้า ดั้งนั้น ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องการปฏิบัตินโยบายการเงิน และการบริหารราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ในภาพรวม บรรดาผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานหรือการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคต่างต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อค้ำประกันว่า การเติบโตยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลที่สำคัญของเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพในเดือนสุดท้ายของปี จะเป็นพื้นฐานของการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนของเศรษฐกิจในปี 2023 ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ต้องมีแนวทางและนโยบายที่รวดเร็วและคล่องตัวจากระดับส่วนกลาง อีกทั้งประชาชนทุกคนต้องร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจและสถานประกอบการเดินหน้าปฏิรูปกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ.
Thu Trang; Vinh Phong