กิจกรรมต่างๆในโอกาสครบรอบ49 ปี วันปลดปล่อยภาคใต้รวมประเทศเป็นเอกภาพ
(VOVWORLD) -เช้าวันที่ 30 เมษายน ที่หอธงชาติในแหล่งประวัติศาสตร์พิเศษแห่งชาติ แม่น้ำเหี่ยนเลือง-เบ๊นหาย จังหวัดกว๋างจิ ได้มีการจัดพิธีเชิญธงแห่งการ "รวมประเทศเป็นปึกแผ่น" เนื่องในโอกาสครบรอบ 49 ปี วันปลดปล่อยภาคใต้อย่างสมบูรณ์ รวมประเทศเป็นเอกภาพ 30 เมษายนและครบรอบ 52 ปีวันปลดปล่อยจังหวัดกว๋างจิ 1 พฤษภาคม
พิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาได้ดำเนินการในบรรยากาศอันเคร่งขรึมท่ามกลางเสียงเพลงอันฮึกเหิม สร้างอารมณ์ความรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจให้แก่ผู้ร่วมงานหลายพันคน ต่อจากนั้นได้มีพิธียืนสงบนิ่ง1นาทีเพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อเอกราช เสรีภาพของปิตุภูมิ และความผาสุกของประชาชน
โอกาสนี้ นายหว่างนาม รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดกว๋างจิได้กล่าวทบทวนความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่รุ่งโรจน์ของชาติ เชิดชูยกย่องวีรชนที่เป็นอมตะและแสดงความสำนึกในความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของบรรพชนเพื่อเอกราชของปิตุภูมิ “ด้วยความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ ความกล้าหาญ และความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการนำของพรรคและการปฏิวัติ กองทัพและประชาชนจังหวัดกว๋างจิได้ฝ่าฟันทุกความเจ็บปวดและความโหดร้ายของสงคราม ยืนหยัดปักหลักรักษาบ้านเมืองอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวไม่ย่อท้อเพื่อต่อสู้กับศัตรู ซึ่งในช่วงเวลานั้น ธงผืนนี้ก็ยังโบกสบัดบนสะพานเหี่ยนเลืองอย่างภาคภูมิใจและได้กลายเป็นที่พึ่งแห่งความเชื่อมั่นอันแน่วแน่เกี่ยวกับเอกราชและเอกภาพของประชาชาติของพี่น้องประชาชนอยู่ในสองภาคเหนือ-ใต้ ความเชื่อนั้นนั้นได้กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ เพื่อให้กองทัพและประชาชนกว๋างจิและชาวเวียดนามทั้งประเทศร่วมกันฝ่าฟันความยากลำบากนานัปการเพื่อต่อสู้และเสียสละอย่างกล้าหาญ สร้างชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์อันเป็นการเชิดชูลัทธิการปฏิวัติ เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งมโนธรรมและศักดิ์ศรีของมนุษย์”
วันที่ 20 กรกฎาคมปี 1954 ได้มีการลงนามข้อตกลงเจนีวา ซึ่งในตอนนั้นเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเหนือ-ใต้โดยใช้เส้นขนานที่ 17 และแม่น้ำเบ๊นหายเป็นเส้นแบ่ง ทำให้แม่น้ำสายนี้กลายเป็นพื้นที่พรมแดนทางทหารชั่วคราว ส่วนสะพานเหี่ยนเลืองก็กลายเป็นสัญลักษณ์ความเจ็บปวดของการแบ่งแยกและความปรารถนาแห่งการรวมประเทศเป็นปึกแผ่น จังหวัดกว๋างจิได้กลายเป็นแนวหน้าของภาคเหนือแห่งสังคมนิยมและเป็นแนวหลังของแนวรบใหญ่ภาคใต้ซึ่งเป็นสนามรบที่ร้อนแรงดุเดือดที่สุด สงครามได้ยุติลงแล้วหลายสิบปีแต่ความทรงจำเกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งวีรกรรมอันรุ่งโรจน์เหล่านั้นยังคงฝังลึกอยู่ในใจของชาวเวียดนามทุกคนตลอดไป.
|
พิธีรำลึกครบรอบ 49 ปีการปลดปล่อยหมู่เกาะเจื่องซาได้มีขึ้นเมื่อวันที่29 เมษายน ที่อำเภอเกาะเจื่องซา โดยเมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี1975 กองทัพเรือเวียดนามได้ปลดปล่อยเกาะซองตื๋อเตย ต่อมาก็สามารถปลดปล่อยเกาะเซินกา นามเอียด ซิงโต่น และถึงเวลา 09.00 น. ของวันที่ 29 เมษายน ปี1975 ก็สามารถปลดปล่อยเกาะเจื่องซา ซึ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อชัยชนะของกองทัพประชาชนเวียดนาม รวมทั้งกองทัพเรือ อันเป็นการมีส่วนสำคัญต่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของประเทศคือการปลดปล่อยภาคใต้อย่างสมบูรณ์เพื่อรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว
โอกาสนี้ นาย ฝามเตี๊ยนเยียบ ประธานสภาประชาชนอำเภอเมืองเจื่องซายืนยันว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม กองทัพและประชาชนของอำเภอเมืองเจืองซา จังหวัดแค้งหว่า ก็จะยืนหยัด มุ่งมั่นปกป้องหมู่เกาะและบูรณภาพแห่งดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของปิตุภูมิ นับตั้งแต่วันแห่งการปลดปล่อย โฉมของเจื่องซาก็เปลี่ยนไปทุกวัน มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบ้านเรือน ถนน โรงเรียน สถานีอนามัยและสถานีอุตุนิยมวิทยาหลายแห่ง เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อกองทัพและประชาชนบนเกาะรวมทั้งชาวประมงท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล มีส่วนร่วมในการยกระดับความสามารถในการปกป้องอธิปไตยของปิตุภูมิอย่างมั่นคงถาวร.
ส่วนเมื่อค่ำวันที่ 29 เมษายน ณ ถนนคนเดินเหงวียนเหวะ เขต1 นครโฮจิมินห์ ทางการนครโฮจิมินห์ได้จัดรายการแสดงศิลปะพิเศษเพื่อขานรับกิจกรรมใหญ่รำลึก49ปีวันปลดปล่อยภาคใต้ รวมประเทศเป็นเอกภาพ โดยมีหัวข้อ “บทเพลงแห่งวีรกรรมที่อมตะ”