การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่หมู่บ้านซินซุ้ยโห่ในจังหวัดลายโจว์
Diệu Linh -  
(VOVworld) - หมู่บ้านการท่องเที่ยวชุมชนซินซุ้ยโห่ในอำเภอฟองโถ๋ จังหวัดลายโจว์ เป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจเพราะมีความงามแบบธรรมชาติ บ้านของชนเผ่าม้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและอัธยาศัยที่ดีของชาวบ้าน รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นมืออาชีพ
(VOVworld) - หมู่บ้านการท่องเที่ยวชุมชนซินซุ้ยโห่ในอำเภอฟองโถ๋ จังหวัดลายโจว์ เป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจเพราะมีความงามแบบธรรมชาติ บ้านของชนเผ่าม้งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและอัธยาศัยที่ดีของชาวบ้าน รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นมืออาชีพ
สตรีชาวม้งในหมู่บ้านซินซุ้ยโห่
|
ตำบลซินซุ้ยโห่ในอำเภอฟองโถ๋อยู่ห่างจากใจกลางเมืองลายโจว์ประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1400 เมตร ซึ่งเป็นที่อาศัยของชนเผ่าม้งมานานแล้ว ชื่อของตำบลซินซุ้ยโห่ในภาษาถิ่นหมายความว่า ลำธารมีทองคำ ในจำนวนหมู่บ้านที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในเขตเขาทางเหนือของประเทศ รวมกว่า 100 แห่งในรอบ 10ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านการท่องเที่ยวชุมชนซินซุ้ยโห่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ความเป็นมืออาชีพในการบริการการท่องเที่ยวและความเรียบง่ายที่เป็นเอกลักษณ์ของชนบทได้สะท้อนให้เห็นตั้งแต่ส่วนป้ายของหมู่บ้าน โดยที่ประตูของหมู่บ้านมีป้ายที่ทำจากตาข่ายสีดำและแท่งไม้ไผ่และใช้เชือกขดเป็นคำว่า หมู่บ้านซินซุ้ยโห่ – จุดท่องเที่ยวชุมชน ส่วนที่ประตูของบ้านทุกหลังในหมู่บ้านมีแผ่นป้ายที่ทำจากไม้ที่มีการขดชื่อด้วยเชือกหรือประกอบจากหินกรวดสีขาวเป็นชื่อของเจ้าของบ้าน เบอร์โทรศัพท์และให้บริการ Wi-fi ฟรี เส้นทางเข้าหมู่บ้านก็มีตลาดนัดของชนเผ่าม้งที่มีผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น เช่น หมูป่า หน่อไม้ดอง ข้าวเหนียว ข้าวโพด ชุดกระโปรงและผ้าพันคอของชาวเขา ส่วนสองข้างทางเข้าบ้าน หรือใต้ร่มไม้ใหญ่ได้ประดับด้วยพุ่มดอกไม้หลายสีสัน ซึ่งทำให้ผู้ที่เดินทางเข้าหมู่บ้านเหมือนพลัดหลงเข้ามาในโลกแห่งดอกไม้ป่า นาย หว่างอาลาย ชาวบ้านซินซุ้ยโห่ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชนเผ่าตนว่า“เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าม้งมีหลายอย่างที่น่าสนใจทั้งงานเทศกาล การระบำรำฟ้อน รวมถึงเครื่องดนตรีจ่างที่ใช้ในงานรืนเริงต่างๆ”
ในหลายปีมานี้ การท่องเที่ยวชุมชนได้รับการพัฒนามากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจะได้ลิ้มลองอาหารพื้นเมืองของชาวท้องถิ่น เช่น เนื้อหมูลวก ผักป่า หน่อไม้ดอง เป็นต้น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถทดลองฝีมือด้วยการปรุงอาหารและเล่นเครื่องดนตรีจ่างด้วยตนเองตามคำแนะนำของเจ้าของบ้าน นาย หว่างอาจิ๋ง หัวหน้าหมู่บ้านซินซุ้ยโห่ได้เผยว่า หมู่บ้านมีทั้งหมด 100 ครอบครัว ซึ่งในนั้นมี 6 ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยต้อนรับนักท่องเที่ยว 8 ถึง 10 คนต่อวัน ซึ่งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวบ้าน นาย หว่างอาจิ๋งกล่าวว่า“หลังจากเข้าร่วมโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ครอบครัวผมได้รับการฝึกอบรมจากคณะกรรมการประชาชนจังหวัดเพื่อปฏิบัติโครงการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวหมู่บ้านนับวันเพิ่มมากขึ้น ราคาที่พัก 8 หมื่นด่งต่อคนต่อคืน ซึ่งได้ช่วยให้ครอบครัวผมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนลูกหลานก็ได้ไปโรงเรียน”
นาย เลกวางมิง หัวหน้าฝ่ายการท่องเที่ยวสังกัดสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดลายโจว์ได้เผยว่า เนื่องจากชาวบ้านล้วนเป็นชนเผ่าม้ง ดังนั้นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการประกอบอาชีพปลูกกล้วยไม้ และกระวาน การทอผ้าลวดลายพื้นเมืองและการทำของที่ระลึกจากไม้และไม้ไผ่ ส่วนสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดลายโจว์กำลังมีนโยบายสนับสนุนทักษะความรู้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชาวบ้าน นาย เลกวางมิงเผยว่า“พวกเราได้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารมาแนะนำเกี่ยวกับการจัดถาดอาหารให้แก่ชาวบ้านและจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีการบริการ อย่างเช่น ถ้าอยากไปเที่ยวนํ้าตกจ๋ายติมและป่าดงดิบในหมู่บ้านซินซุ้ยโห่ นักท่องเที่ยวจะเสียเงินแค่ 1 หมื่นด่งต่อคนเท่านั้นเพื่อเป็นค่าสนับสนุนชาวบ้านทำความสะอาดเพราะพวกเราอยากให้หมู่บ้านซินซุ้ยโห่อนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าม้งเอาไว้”
ทางการจังหวัดลายโจว์ได้มีโครงการช่วยเหลือประชาชนหมู่บ้านซินซุ้ยโห่กู้เงินด้วยดอกเบี้ยพิเศษเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและทำการฝึกอบรมด้านวิชาชีพให้แก่ชาวบ้าน ในปี 2016 ทางการจังหวัดจะสงวนเงิน 1 แสน 8 หมื่นล้านด่งเพื่อลงทุนขยายเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองลายโจว์กับหมู่บ้านซินซุ้ยโห่ ซึ่งจะเอื้อให้แก่การเดินทางของนักท่องเที่ยวและทำให้หมู่บ้านซินซุ้ยโห่กลายเป็นจุดท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจอีกแห่งสำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางไปเที่ยวเขตเขาทางเหนือของเวียดนาม.
Diệu Linh