(VOVWORLD) - ตำบลเวินเซิน อำเภอเตินหลาก เป็นสถานที่ปลูกส้มที่มีชื่อเสียงในจังหวัดหว่าบิ่ง ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธุ์พืชจากการปลูกมันฝรั่ง ข้าวโพดและมันสำปะหลัง มาเป็นการปลูกส้มและส้มโอ ประชาชนหลายคนในตำบลเวินเซินจึงค่อยๆ สร้างฐานะและมีฐานะร่ำรวยมากขึ้น
นาง ดิงถิเกวี๊ยด ในหมู่บ้านซม ตำบลเวินเซิน
|
ตำบลเวินเซินอยู่ห่างจากตัวอำเภอเตินหลากไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 20 กม. มีหมู่บ้าน 17 แห่งและมีประชากรประมาณ 5,600 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าเหมื่อง ที่คิดเป็นร้อยละ 98 ของประชากรทั้งหมด
ประชาชนในตำบลเวินเซินได้ฟื้นฟูการปลูกส้มเขียวหวานพันธุ์ Nam Son ซึ่งปลูกในช่วงปี 1950 ในตำบลนามเซิน ซึ่งปัจจุบันได้ผนวกเข้ากับตำบลเวินเซิน ชาวท้องถิ่นเรียกส้มพันธุ์นี้ว่าส้มเขียวหวานโบราณ ส้มเขียวหวาน Nam Son มีชื่อเสียงเนื่องจากเปลือกบาง เนื้อฉ่ำและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว อีกทั้งได้รับการรับรองเครื่องหมายการค้า “ส้มเขียวหวาน Nam Son” เมื่อปี 2018 นอกจากการปลูกส้มเขียวหวานแล้ว เกษตรกรที่นี่ยังปลูกส้มเนื้อสีเหลืองและส้มโอ Tan Lac หรือที่รู้จักในชื่อส้มโอแดง Tan Lac ที่ให้ผลผลิตสูง โดยเนื้อส้มโอนี้จะมีสีชมพูอมแดงเมื่อสุก กรอบ หวาน อร่อย ส้มโอพันธุ์นี้ได้รับการรับรองเครื่องหมายการค้า “ส้มโอแดง Tan Lac” เมื่อปี 2017 นาย เลชี้เหวียน รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอเตินหลาก จังหวัดหว่าบิ่ง เผยว่า
“ผลไม้ในอำเภอเตินหลากมีแบรนด์และมีส่วนแบ่งในตลาด เราได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าส้มโอแดง Tan Lac และได้รับการรับรองว่า เป็นผลิตภัณฑ์ OCOP ส้มโอแดง Tan Lac ได้รับการส่งออกไปยังอังกฤษ ส่วนส้มเขียวหวานโบราณ Nam Son ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ OCOP ระดับ 3 ดาวของจังหวัดหว่าบิ่ง”
ประชาชนในตำบลเวินเซิน รวบรวมส้มเพื่อขายให้แก่พ่อค้า
|
เนื่องจากเหมาะสมกับที่ดินและสภาพอากาศในท้องถิ่น ต้นส้มจึงเติบโตเป็นอย่างดีและให้ผลผลิตสูง เมื่อถึงฤดูเก็บผลผลิต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ทุกปี บนไหล่เขาตามหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลเวินเซิน ส้มจะออกผลเต็มต้น บริเวณเนินเขาเต็มไปด้วยสีเหลืองอร่ามของส้ม นาย หว่าวันห่า รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลเวินเซิน เผยว่า
“เรากำหนดว่า ส้มเขียวหวานโบราณเป็นไม้ผลหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจในตำบล เมื่อก่อน เราปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดและมันฝรั่ง แต่ขณะนี้ เราเปลี่ยนโครงสร้างพันธุ์พืช โดยเลิกปลูกพันธุ์พืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่สูง มาเป็นการปลูกส้ม ทางตำบลฯ มีพื้นที่ปลูกส้มกว่า 500 เฮกตาร์ ในเวลาที่จะถึง เราจะปลูกส้มในหมู่บ้านทั้งหมด 17 แห่ง ราคาส้มที่พ่อค้ามารับซื้อที่สวนคือ 40,000 ด่ง/กก. หรือประมาณ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ ตำบลเวินเซินได้ประสานกับอำเภอเตินหลากจัดการประชุมส่งเสริมการลงทุนเพื่อหาทางจำหน่ายสินค้าเกษตรให้แก่ชาวท้องถิ่น พ่อค้าหลายคนมาที่สวนเพื่อซื้อผลผลิตทางการเกษตร”
ขบวนการปรับปรุงสวนและเปลี่ยนมาปลูกส้มที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงได้รับการขยายผลทั่วตำบลเวินเซิน จากการปลูกส้มทำให้หลายครอบครัวในตำบลฯได้หลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตที่มั่นคง นาย ห่าวันแจง ในหมู่บ้ามซม ตำบลเวินเซินเผยว่า
“เมื่อก่อน เราปลูกข้าวโพด มันฝรั่ง และมันสำปะหลัง แต่ไม่นานมานี้ นับตั้งแต่มีส้มพันธุ์นี้ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกส้มแทน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านจึงมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น การปลูกส้มมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูง ชาวบ้านจึงขยายพื้นที่ปลูก เก็บผลผลิตปีละครั้ง ปัจจุบัน ครอบครัวปลูกต้นส้ม 2,000 ต้น พอกินพอใช้ และมีกำไรประมาณ 100 ล้านด่ง คิดเป็นเกือบ 4,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี”
เกษตรกรในตำบลเวินเซินเยี่ยมชมสวนส้ม |
เพื่อให้การจำหน่ายส้มมีความมั่นคง ชาวสวนได้เชื่อมโยงกับสถานประกอบการที่รับซื้อสินค้าเพื่อค้ำประกันราคาที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้บางครอบครัวมีกำไรถึง 1 พันล้านด่ง คิดเป็นเกือบ 41,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นาง ดิงถิเกวี๊ยต ในหมู่บ้านซม ตำบลเวินเซินเผยว่า
“ปัจจุบัน ครอบครัวดิฉันปลูกส้มกว่า 1,000 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 20 ตันต่อฤดูพ่อค้ามารับซื้อส้มที่สวน ครอบครัวของดิฉันมีสมาชิก 6 คน แต่ละคนมีกำไรเฉลี่ย200 ล้านด่ง คิดเป็น 8,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี การปลูกส้มช่วยให้ครอบครัวของดิฉันมีเงินสร้างบาน ซื้อมอเตอร์ไซค์และเครื่องตัดหญ้า ในเวลาที่จะถึง ครอบครัวของดิฉันจะขยายพื้นที่ปลูกส้มเพื่อสร้างฐานะให้ดีขึ้น ทางการปกครองท้องถิ่นเปิดชั้นเรียนฝึกอบรมให้แก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีประสบการณ์และนำไปประยุกต์ในการทำเกษตรได้ ครอบครัวได้รับการสนับสนุนเงินกู้เพื่อทำธุรกิจจากทางตำบล”
ถึงแม้จะเป็นตำบลที่ยากจนในจังหวัดหว่าบิ่ง แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในตำบลเวินเซินได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ส้มโอและส้มของตำบลฯ ได้รับการจำหน่ายในจังหวัดและนครหลายแห่งในภาคเหนือ เช่น กรุงฮานอย จังหวัดบั๊กยางและจังหวัดฮึงเอียน เป็นต้น การที่ต้นส้มในตำบลฯ ได้รับการปลูกเชิงพาณิชย์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวท้องถิ่นอย่างมั่นคง.