(VOVWORLD) - ความตื่นเต้นและน่าดึงดูด เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างรู้สึกเมื่อกล่าวถึง “การประกวดสุนทรพจน์และร้องเพลงภาษาอินโดนีเซีย” รอบชิงชนะเลิศ ที่มีขึ้น ณ หอประชุมคณะวรรณคดี มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาตินครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาแสดงทักษะความสามารถในการกล่าวสุนทรพจน์ การโต้ตอบ พร้อมความหลงไหลในภาษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย
นาย Agustaviano Sofjan กงสุลใหญ่อินโดนีเซียประจำนครโฮจิมินห์กับภริยาและนางสาว เจิ่นมิงเหี๊ยว |
จากการประชาสัมพันธ์เมื่อหนึ่งเดือนก่อน การประกวดสุนทรพจน์และร้องเพลงภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งถูกจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ณ นครโฮจิมินห์ ได้ดึงดูดความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนภาษาอินโดนีเซีย มัคคุเทศก์ หรือผู้ที่ชื่นชอบภาษาอินโดนีเซียในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยคณะกรรมการจัดงานได้คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่ยอดเยี่ยมที่สุดรวม 21 คนจากผู้เข้าร่วมการประกวดทั้งหมดเกือบ 50 คนทั้งในการกล่าวสุนทรพจน์และการร้องเพลงในรอบชิงชนะเลิศ
กิจกรรมนี้ได้สร้างบรรยากาศที่เต็มเปี่ยมด้วยวัฒนธรรมอินโดนีเซีย โดยผู้เข้าร่วมการประกวดใส่ชุดประจำชาติอินโดนีเซีย การกล่าวสุนทรพจน์และร้องเพลงภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับเสียงเชียร์จากผู้ชมอย่างล้นหลาม ด็อกเตอร์ โงถิเฟืองลาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาตินครโฮจิมินห์ ได้กล่าวถึงความหมายของการจัดการประกวดครั้งนี้ว่า
“ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ การประกวดในครั้งนี้ไม่เพียงแค่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักศึกษามีโอกาสยกระดับทักษะการใช้ภาษาอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้พวกเรามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรม ผู้คน และประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งเป็นโอกาสให้ชาวนครโฮจิมินห์ แสดงความเป็นมิตรต่อชาวอินโดนีเซีย”
นางสาวสองคนที่ได้รับรางวัลสูงสุด |
ในการประกวดสุนทรพจน์ ผู้เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 10 คน ได้ช่วยให้ผู้ชมมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับเวียดนามในหลายด้านผ่านหัวข้อต่างๆ เช่น 70 ปีแห่งความสัมพันธ์อินโดนีเซีย-เวียดนาม การส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อินโดนีเซีย-เวียดนาม บทบาทของคนรุ่นใหม่ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อินโดนีเซีย-เวียดนาม บทบาทสำคัญของอินโดนีเซียและเวียดนามในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น โดยแต่ละบทความจะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การเตรียมตัวอย่างดีของผู้เข้าแข่งขัน
สำหรับผู้เข้าแข่งขัน เจิ่นถิเกี่ยวจิง อดีตนักศึกษาภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาของมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กับการกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอินโดนีเซียกับเวียดนาม” ได้คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยความสามารถในการแสดงออกอย่างคล่องแคล่วในภาษาอินโดนีเซียพร้อมข้อความโต้ตอบอย่างเฉียบแหลม รวมถึงการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเองจากการได้รับทุนการศึกษา Darmasiswa เมื่อปี 2023 เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ต่างๆ จากความร่วมมือในด้านการศึกษา ได้อย่างชัดเจน
“สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจมากที่สุดคือ การพูดคุยและการตอบรับเชิงบวกของกรรมการและผู้ฟังกับการแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งบทสุนทรพจน์ดังกล่าวนั้นไม่เพียงแค่เพื่อเข้าร่วมการประกวดเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ฉันได้สื่อถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านการศึกษา อีกทั้งมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ”
ทุกคนถ่ายรูปร่วมกัน |
ส่วนในการประกวดร้องเพลง ซึ่งสร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานจากเสียงเชียร์ของผู้ชมภายหลังการแสดงของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน นางสาว เจิ่นมิงเหี๊ยว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาของมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาตินครโฮจิมินห์ ที่มาในชุดผ้าบาติกอินโดนีเซียแบบดั้งเดิม ด้วยความโดดเด่นในเสียงร้อง พร้อมพลังและความมั่นใจ รวมถึงความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ที่ดีของเธอกับผู้ชม เมื่อขับร้องเพลง “Laskar Pelangi” หรือ นักรบสายรุ้ง และ “Dunia Tipu-Tipu” หรือ “โลกแห่งการหลอกลวง” ได้ช่วยให้เธอคว้าชัยชนะการประกวดจากผู้เข้าแข่งขันอีก 10 คน
“ความรู้สึกแรกๆ ของฉันเมื่อเป็นผู้ชนะการประกวด คือ ดีใจมากและก็ตื่นเต้นเหมือนกัน ฉันไม่เคยคิดเลยว่า จะสามารถคว้าชัยชนะในการประกวดครั้งนี้ เพราะผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ต่างก็มากความสามารถในการร้องเพลง โดยเป้าหมายของฉันในการเข้าร่วมการประกวด คือเพื่อท้าทายตัวเอง พร้อมมีส่วนร่วมต่อการเผยแพร่ดนตรีและวัฒนธรรมอินโดนีเซียผ่านการประกวดนี้”
“การประกวดสุนทรพจน์และร้องเพลงภาษาอินโดนีเซีย” ได้มีขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 79 ปี วันชาติสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมถึงการที่ภาษาอินโดนีเซียได้รับการรับรองจากองค์กร UNESCO ในฐานะภาษาสากลขององค์กรนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2023 และครบรอบ 31 ปีการก่อตั้งภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาของมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาตินครโฮจิมินห์ นาย Agustaviano Sofjan กงสุลใหญ่อินโดนีเซียประจำนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า
“ผมขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมการประกวดทุกคน พวกเขาสุดยอดมากๆ ผมรู้ว่า น้องๆ ทุกคนต้องใช้เวลาและแรงกายแรงใจในการเตรียมตัวทั้งในการประกวดสุนทรพจน์และร้องเพลงภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งผมขอชื่นชมความตั้งใจของทุกๆ คนที่มอบให้แก่การประกวดครั้งนี้ ผมรู้สึกภูมิใจมากๆ”
ทั้งนี้ เจ้าของรางวัลสูงสุด คือ นางสาว เจิ่นถิเกี่ยวจิง และ นางสาว เจิ่นมิงเหี๊ยว ซึ่งเป็นศิษย์เก่าและนักศึกษาภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา คณะตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาตินครโฮจิมินห์ โดยพวกเขาได้รับรางวัลอันดับหนึ่งคือ แพ็คเกจท่องเที่ยวประเทศอินโดนีเซีย จาการ์ตา-ยอกยาการ์ตา-บาหลี.