นักเรียนชาวลาวปรับตัวเข้ากับคนเวียดนามผ่านโครงการโฮมสเตย์
Thành Nam -  
(VOVWORLD) - ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี เมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนมิตรภาพ T78 ได้ร่วมกับคณะกรมการประชาชนตำบลเถาะหลก อำเภอฟุ๊กเถาะ กรุงฮานอย จัดกิจกรรมพานักเรียนชาวลาวไปทัศนศึกษาในชุมชน” ปีการศึกษา 2022-2023 ด้วยความคาดหวังว่า จะช่วยให้นักเรียนชาวลาวมีโอกาสพัฒนาทักษะภาษาเวียดนามและมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชาวเวียดนาม
การแสดงศิลปะของนักศึกษาลาว |
ด้วยคำขวัญ “กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน และเรียนด้วยกัน” ในปีการศึกษานี้ นักเรียนชาวลาวจำนวน 162 คนที่กำลังศึกษาในโรงเรียนมิตรภาพ T78 จะมีโอกาสเรียนรู้และใช้ชีวิตกับครอบครัวชาวเวียดนามในตำบลเถาะหลก อำเภอฟุ๊กเถาะ กรุงฮานอย เป็นเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งครั้งนี้ถือว่ามีจำนวนนักเรียนชาวลาวเข้าร่วมโครงการมากที่สุดนับตั้งแต่จัดกิจกรรมนี้ นาย เลฟู้ทั้ง ครูใหญ่โรงเรียนมิตรภาพ T78 ได้ประเมินเกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการนี้ว่า
“ถึงแม้ระยะเวลาที่กลุ่มนักเรียนชาวลาวใช้ชีวิตกับชาวบ้านจะอยู่ที่ประมาณ 15-20 วัน แต่ก็ได้ประสบผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการดูแลเอาใจใส่และความช่วยเหลือ รวมถึงคำแนะนำในการเรียน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้การสื่อสารของพวกเขาดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้ชีวิตกับพ่อแม่คนเวียดนามยังช่วยให้บรรดานักเรียนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเวียดนาม พร้อมทั้งมีโอกาสแนะนำและประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมลาวอีกด้วย”
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มนักเรียนชาวลาวได้รับประสบการณ์อย่างเต็มที่ นอกจากการดูแลที่ดีของโรงเรียนและทางการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่ละครอบครัวที่รับดูแลนักเรียนชาวลาวต่างได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีเกี่บวกับเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน ที่พักอาศัย และการเดินทาง สำหรับครอบครัวชาวเวียดนาม นักเรียนชาวลาวก็เหมือนลูกหลานในครอบครัว ซึ่งต้องดูแลเป็นอย่างดีในทุกๆ เรื่อง ช่วยเพิ่มพูนทักษะความสามารถด้านภาษาเวียดนาม และเข้าใจขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมในครอบครัวมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในเวียดนาม นาย ค้วดเหิวโทย หนึ่งในครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการเผยว่า
“นักเรียนชาวลาวตั้งใจเรียนมากๆ แม้ในตอนทานข้าว แต่ก็ถามพวกเราว่าอาหารนี้คืออะไร เมื่อปี 2017 มีเด็กคนหนึ่งชื่อ โน เล่าให้ผมฟังว่า เขากลัวสอบตก ผมจึงถามกลับไปว่า กังวลวิชาไหน เขาบอกว่า ห่วงวิชาการฟังและการเขียน และยังถามอีกว่า คำต่างๆ ในภาษาเวียดนามมีกี่เสียง ซึ่งผมก็ตอบคำถามต่าง ๆ อย่างชัดเจนเพื่อให้เข้าใจ ดังนั้น เมื่อรับนักเรียนชาวลาวมาอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านทุกคนต่างรู้ดีว่า ไม่เพียงแต่ดูแลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องสั่งสอนแนะนำเพื่อช่วยให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้นและมีประสบการณ์ที่น่าจดจำ”
นอกจากนี้ นักเรียนชาวลาวยังได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีความหมาย เช่น การจุดธูปเทียนเพื่อรำลึกถึงวีรชนทหารพลีชีพเพื่อชาติ ณ สุสานทหารพลีชีพเพื่อชาติ เข้าชมรูปแบบเศรษฐกิจของฟาร์มปลูกพืชผสมกับการเพาะเลี้ยงในหมู่บ้าน 5 แห่งของตำบล อีกทั้งทำกิจกรรมจิตอาสา ทำความสะอาดถนนและตรอกซอกซอยในหมู่บ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมจิตอาสา ทัศนคติเชิงบวกของเยาวชนเวียดนาม-ลาว และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างนักเรียนชาวลาวกับชาวบ้านในท้องถิ่น นาย Kittisak และนางสาว Thipphaphone Nammavong นักเรียนชาวลาว เผยว่า
“ผมชอบกิจกรรมเข้าชมรูปแบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสร้างประโยชน์อย่างมากให้แก่ชุมชน แน่นอนว่า หลังจากกลับประเทศลาว ผมจะแนะนำรูปแบบที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ให้แก่ชาวบ้านในลาว”
“ตอนไปจุดธูปเทียนเพื่อรำลึกถึงวีรชนทหารพลีชีพเพื่อชาติที่สุสานทหารพลีชีพตำบลเถาะหลก พร้อมรับฟังเรื่องราวจากบรรดาทหารผ่านศึก ฉันได้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเวียดนามกับลาว วีรชนทหารพลีชีพทุกท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อเอกราช เสรีภาพ และรวมประเทศเป็นเอกภาพ ยุติแอกปกครองของนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสและการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาเพื่อกู้ชาติ ซึ่งในนั้นมีทหารอาสาเวียดนามที่สละชีวิตอย่างกล้าหาญในดินแดนประเทศลาว”
ทั้งนี้ ในตลอด 6 ปีของการจัดกิจกรรม “พานักเรียนชาวลาวไปทัศนศึกษาที่ชุมชน” จนถึงปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังคงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาชาวลาวจำนวนมากในการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตประจำวันของชาวเวียดนาม อีกทั้งมีส่วนร่วมต่อการกระชับความสัมพันธ์มิตรภาพเวียดนาม-ลาว รวมถึงความสัมพันธ์ในระดับประชาชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น.
Thành Nam