(VOVWORLD) - คำขวัญ “ใฝ่เรียนรู้ เรียนรู้เพิ่มเติม เรียนรู้ตลอดชีวิต” ถือว่าสมกับการใช้ชีวิตของครูเฟืองเป็นอย่างมาก เพราะคุณครูที่สอนภาษาเวียดนามท่านนี้ต้องเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนลาว เพื่อเข้าใจนักเรียนได้มากขึ้น ด้วยความรับผิดชอบ ความรักใคร่ และยิ่งไปกว่านั้นคือหน้าที่ “ผู้ปลูกฝังภาษาเวียดนาม”
ปัจจุบัน มีครูชาวเวียดนามหลายคนกำลังสอนภาษาเวียดนามให้แก่เด็กๆ ชาวเวียดนามในประเทศลาวเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ภาษาบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งในนั้นมีคุณครู เจืองวันเฟือง อายุ 35 ปีจากตำบลเซินถวี อำเภอเหละถวี จังหวัดกว๋างบิ่งห์ ที่ได้ตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอนและครอบครัวหลังเรียนจบ มาทำงานในแขวงคำม่วนที่อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาวมากกว่า 100 กิโลเมตร
คุณครู เจืองวันเฟือง |
ด้วยสำเนียงภาคกลางที่ฟังอ่อนช้อยและชัดเจน คุณครู เจืองวันเฟือง กำลังสอนเด็กๆ นักเรียนของโรงเรียนประถม โท้งเญิ้ด ในตำบลท่าแขก แขวงคำม่วน จำนวน 20 คนบทความเรื่อง “ฮวาหงอกลาน” หรือ ดอกจำปี ซึ่งแม้เด็กๆ อาจยังไม่เคยเห็นดอกไม้ชนิดนี้มาก่อน แต่ผ่านคำบรรยายของคุณครูนั้น เด็กๆ ป.5 ทุกคนต่างรู้ได้ว่า ต้นจำปีมีลักษณะสูงใหญ่และมีดอกสีขาวหอม โดยสำหรับพวกเขาเอง ภาษาแม่ถือเป็น “ภาษาต่างประเทศ” เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศลาวตั้งแต่กำเนิด ด้วยประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพครูเป็นเวลาถึง 10 ปีในลาวและถือประเทศนี้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนแห่งที่สองของตนเอง คุณครูเฟืองได้ใส่ใจอย่างมากในการสอนภาษาเวียดนาม ซึ่งเขาเองก็ต้องเรียนรู้หลายอย่างจากประสบการณ์จริงในการสอนให้เด็กๆ กลุ่มนี้
“ถ้าสอนพวกเขาในแบบสอนให้เด็กเวียดนามก็จะไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ต้องสอนแบบเรียนไปเล่นไปถึงจะมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเด็กๆ เชื้อสายเวียดนามกลุ่มนี้เป็นรุ่นที่ 5 และ 6 แล้วจึงใช้ภาษาเวียดนามได้เล็กน้อยเท่านั้น และส่วนใหญ่พูดภาษาลาวเป็นหลัก ดังนั้น ผมจึงต้องอธิบายความหมายจากภาษาเวียดนามเป็นภาษาลาว ควบคู่กับการใช้รูปภาพประกอบที่เหมาะสมกับบทเรียน เช่น เมื่อสอนเกี่ยวกับคำว่า เล็ก ก็ต้องเอารูปเด็กเล็กมาให้พวกเขาดู เป็นต้น”
แม้แสงแดดที่ร้อนแรงในพื้นที่ภาคกลางของประเทศลาวทำให้ผิวพรรณดำคล้ำขึ้นเรื่อยๆ กับรูปร่างที่ผอมบาง แต่รอยยิ้มบนใบหน้าของครูเฟืองนั้นทำให้เขาได้รับความเอ็นดูจากเหล่าเด็กๆ ทุกคนอย่างมาก ครูเฟืองเป็นทั้งคุณครูและพ่อแม่ของเด็กๆ นักเรียน เพราะได้สั่งสอนให้พวกเขาความรู้ทั้งในตำราและในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อกล่าวถึงโชคชะตาที่พาเขาเดินทางมาถึงอาณาจักรล้านช้างแห่งนี้ ครูเฟืองได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2011 จังหวัดกว๋างบิ่งห์ ได้เปิดรับสมัครครูไปสอนที่ประเทศลาว ซึ่งตัวเขาเองได้ลงทะเบียนไว้ด้วยความกังวลใจ เพราะรู้ว่าการใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลังจากได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากครอบครัว ครูเฟืองได้ฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่าง จัดกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปประเทศลาว
“เมื่อเดินทางมาถึงประเทศลาวในช่วงแรกๆ สิ่งที่ยากลำบากที่สุดคือภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักเรียน แถมด้วยวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนลาวที่มีความแตกต่างหลายอย่างกับเวียดนาม ผมจึงต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับผู้คนในพื้นที่ นอกจากนี้ บรรดาผู้แทนจากสมาคมชาวเวียดนามโพ้นทะเลได้เข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจผมในทุกวัน รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น วันครูเวียดนาม 20 พฤศจิกายน”
เด็กๆ ป.5 ของโรงเรียนประถม โท้งเญิ้ด ในตำบลท่าแขก แขวงคำม่วน |
คำขวัญ “ใฝ่เรียนรู้ เรียนรู้เพิ่มเติม เรียนรู้ตลอดชีวิต” ถือว่าสมกับการใช้ชีวิตของครูเฟืองเป็นอย่างมาก เพราะคุณครูที่สอนภาษาเวียดนามท่านนี้ต้องเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนลาว เพื่อเข้าใจนักเรียนได้มากขึ้น ด้วยความรับผิดชอบ ความรักใคร่ และยิ่งไปกว่านั้นคือหน้าที่ “ผู้ปลูกฝังภาษาเวียดนาม” ครูเฟืองก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและความรักจากเด็กๆ ทุกคน สำหรับเด็กหญิง Vilayphone ที่กำลังเรียนอยู่ ป.5 ในโรงเรียนประถม โท้งเญิ้ด ก็พยายามแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อคุณครูที่ได้สั่งสอนเธอมาเป็นเวลาหลายปี ผ่านสำเนียงการพูดภาษาเวียดนามที่ยังไม่ค่อยชัด ว่า
“ครูเฟืองมีความตั้งใจพยายามสั่งสอนและให้ความรู้พวกหนู ให้กำลังใจพวกหนูก่อนการทำข้อสอบทุกครั้ง พร้อมให้ความช่วยเหลือมากมายในกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนอีกด้วย พวกหนูรักคุณครูมาก”
ทั้งนี้ การให้ความเคารพ มีความความขยันหมั่นเพียรและตั้งใจเรียนภาษาเวียดนามของเด็กๆ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้ครูเฟืองเลือกที่จะใช้ชีวิตและสร้างครอบครัวที่นี่ ด้วยความหวังว่าจะสร้างศูนย์การสอนภาษาเวียดนามเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนามและมีความมั่นใจบนเส้นทางที่เลือกเฟ้น
คุณครูหนู่ม เจืองวันเฟือง เป็นแบบอย่างดีเด่นเนื่องจากมีผลงานที่ยอดเยี่ยมมากมายในการเป็นครูสอนภาษาเวียดนามมานานกว่า 10 ปีและได้รับการยกย่องพร้อมเกียรติบัตรจากคณะกรรมการประชาชนแขวงคำม่วนและจังหวัดกว๋างบิ่งห์ รวมถึงสถานกงสุลใหญ่และหน่วยงานด้านการศึกษาระดับท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอันสูงส่งในการเป็นครูเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมเวียดนามให้แก่ชาวเวียดนามที่กำลังอาศัยในประเทศลาวอีกด้วย.