กลับผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษฟังการร้องเพลงทำนองซวานโบราณ
Kim Anh -  
(VOVWORLD) - จังหวัดฟู้เถาะมีคณะเพลงทำนองซวานโบราณ 4 คณะ โดยมี 3 คณะอยู่ที่ตำบลกิมดึ๊กได้แก่ คณะฝู่ดึ๊ก (Phù Đức) คณะซวานแทด (Xoan Thét) และคณะกิมด๊าย (Kim Đái) วิหารหลายแหล่น (Lãi Lèn) ในหมู่บ้านฝู่ดึ๊ก ตำบลกิมดึ๊กเป็นแหล่งกำเนิดของการร้องเพลงทำนองซวาน โดยชาวบ้านได้อนุรักษ์และส่งเสริมการร้องเพลงทำนองซวานให้สมกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ
การแสดงการร้องเพลงทำนองซวาน ที่ วิหารหลายแหล่น (Lãi Lèn) (hanoimoi.com.vn) |
เพลงทำนองซวาน หรือ มีอีกชื่อคือเพลงเกื่อดิ่ง (hát cửa đình) หรือ คุกมนดิ่ง (Khúc môn đình) คือเพลงประกอบพิธีกรรม มีการผสมผสานระหว่างการร้องเพลงและการระบำรำฟ้อนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความเลื่อมใสของประชาชน
วิหารหลายแหล่น (Lãi Lèn) คือโบราณสถานที่สำคัญในหมู่บ้านฝู่ดึ๊กและจังหวัดฟู้เถาะเนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สักการะบูชาของชาวบ้านเท่านั้น หากยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมวัฒนธรรมชุมชนอีกด้วย รวมถึงมีโซนจัดแสดงเอกสารล้ำค่าเกี่ยวกับการร้องเพลงทำนองซวานและมีการแสดงการร้องเพลงทำนองซวานให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยตามเรื่องที่เล่าต่อๆกันมานั้น การร้องเพลงทำนองซวานมีมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์หุ่ง นาย เหงวียน ซวน โห่ย ผู้ดูแลวิหารหลายแหล่นได้เผยว่า“เที่ยงวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิในสมัยกษัตริย์หุ่ง พระองค์และบรรดาขุนพลได้เดินทางเพื่อสำรวจหาที่ตั้งนครหลวง โดยได้หยุดพักที่หมู่บ้านแห่งนี้และได้เห็นเด็กกำลังขี่ควายร้องเพลงพื้นเมืองต่างๆอย่างสนุก ซึ่งพระองค์ได้ทรงดัดแปลงเนื้อร้องต่างๆและสอนให้เด็กร้องตาม”
ตามศิลปินอาวุโสในหมู่บ้านฝู่ดึ๊ก เพลงทำนองซวานประกอบด้วยเพลงเหล (hát lễ) เพลง กว๋าแก๊ก (hát quả cách) และเพลงโห่ย (hát hội) โดยเพลงเหล (hát lễ)คือการร้องเพลงเพื่อบูชาเทพเจ้าและถวายแด่บรรพกษัตริย์เพื่อขอให้ช่วยปกปักคุ้มครองให้ชาวบ้านมีชีวิตที่อิ่มหนำผาสุก เพลงกว๋าแก๊ก (hát quả cách)คือการขับกวีและการร้องเพลงพื้นเมืองของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่จัดขึ้นที่ลานหน้าวิหาร หรือ ลานหน้าศาลาประจำหมู่บ้าน ส่วนเพลงโห่ย (hát hội) คือการร้องโต้ตอบระหว่างหนุ่มสาวในงานเทศกาลต่างๆของหมู่บ้าน นาง เล ถิ หย่าน จากคณะซวานแทด (Xoan Thét) ตำบลกิมดึ๊กได้เผยว่า“การร้องเพลงบูชามีลักษณะเฉพาะและร้องยากกว่าเพลงทำนองซวานอื่นๆ โดยนักร้องหญิงต้องร้องเสียงดังและหนักแน่น”
นักท่องเที่ยวชมการแสดง (svhttdl.phutho.gov.vn) |
ชาวบ้านหมู่บ้านฝู่ดึ๊กสามารถอนุรักษ์การร้องเพลงทำนองซวานโบราณได้เป็นอย่างดีและไม่ดัดแปลงเนื้อร้องใหม่ โดยเพลงทำนองซวานมีเนื้อเพลงกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆที่หลากหลาย เช่น เรื่องราวต่างๆในสมัยกษัตริย์หุ่ง การสรรเสริญถิ่นเกิด ประเทศ ทิวทัศน์ธรรมชาติ วิถีชีวิต การผลิตและความรักของคู่หนุ่มสาว ในการแสดงการร้องเพลงทำนองซวาน มีนักร้องหญิง นักร้องชาย และมีการตีกลองให้เข้ากับเครื่องเคาะจังหวะ การร้องเพลงทำนองซวานโบราณได้อย่างคล่องแคล่วไม่ใช่เรื่องง่ายและยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือมีการรำตามเครื่องเคาะจังหวะ ส่วนหัวหน้าคณะเพลงทำนองซวานโบราณเรียกว่า “trùm” phường Xoan เป็นศิลปินอาวุโสและได้รับการนับถือในชุมชน นาง เหงวียน ถิ แทง ฮวา เจ้าหน้าที่แผนกวัฒนธรรมและสังคมของตำบลกิมดึ๊กได้เผยว่า“หลังจากการร้องเพลงทำนองซวานได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ สำนักงานทางวัฒนธรรมและสังคมของตำบลกิมดึ๊กได้ประสานงานกับศิลปินอาวุโสและโรงเรียนต่างๆในการอนุรักษ์และสอนการร้องเพลงทำนองซวานโบราณให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงนักเรียนและสมาชิกคณะเพลงทำนองซวาน อีกทั้งประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติที่ดีงามของศิลปินรุ่นก่อน”
ทั้งนี้ การร้องเพลงทำนองซวานโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์หุ่งยังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี โดยการร้องเพลงทำนองซวานในหมู่บ้านฝู่ดึ๊กที่เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมแห่งผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ ไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมเพิ่มความหลากหลายให้แก่งานเทศกาลพื้นเมืองของจังหวัดฟู้เถาะเท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นถึงคติประจำใจของคนเวียดนามคือ “ดื่มน้ำต้องนึกถึงแหล่งที่มาของน้ำ”อีกด้วย.
Kim Anh