จังหวัดกอนตุมส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ
Thu Hằng -  
(VOVWORLD) - กอนตุมคือจังหวัดชายแดนทางทิศเหนือของเขตที่ราบสูงเตยเงวียนและเป็นถิ่นอาศัยของชนกลุ่มน้อย 28 เผ่า โดยแต่ละชนเผ่ามีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นและหลากหลาย ในหลายปีมานี้ การสนับสนุนจากพรรคและรัฐและการส่งเสริมพลังต่างๆในการพัฒนาวัฒนธรรมพื้นเมืองได้ช่วยให้จังหวัดฯบรรลุผลงานที่สำคัญๆในการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในท้องถิ่น
การนำวัฒนธรรมฆ้องและการฟ้อนรำซวางมาสอนให้แก่นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆในจังหวัดกอนตุม (baovanhoa.vn)
|
เพื่อปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ จังหวัดกอนตุมได้มีโครงการต่างๆ เช่น การตรวจสอบและประเมินมรดกวัฒนธรรมนามธรรมเพื่อจัดทำเอกสารขอรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมในจังหวัดกอนตุม การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกบรรยากาศวัฒนธรรมฆ้องจังหวัดกอนตุมระยะปี 2016-2020 การอนุรักษ์และพัฒนาอาชีพหัตถกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ การลงทุน เชื่อมโยงและประชาสัมพันธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกอนตุมจนถึงปี 2020 การอนุรักษ์เทศกาลพื้นบ้านของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ การฟื้นฟู อนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟู อนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมฆ้องและโครงการวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นเมืองและความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน การรวบรวมข้อมูลข่าวสารและฟื้นฟูเทศกาลพื้นเมืองต่างๆ รวมทั้งการขับเสภาบทกวีมหากาพย์ นาย ฟานวันหว่าง รองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดกอนตุมได้เผยว่า“ในหลายปีที่ผ่านมา พวกเราได้ให้คำปรึกษาและปฏิบัติกิจกรรมต่างๆเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมตามการชี้นำของทางการจังหวัดฯ ส่งเสริมให้ศิลปินอาวุโสชนกลุ่มน้อยเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภูมิภาคต่างๆและกิจกรรมมรดกวัฒนธรรมของจังหวัดอื่นๆเพื่อเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆได้พบปะสังสรรค์และแนะนำเอกลักษณ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมรดกและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในจังหวัดกอนตุม”
การสอนและแนะนำวิธีการตีฆ้องและการฟ้อนรำซวางให้แก่นักเรียน (baovanhoa.vn) |
ผลงานที่สำคัญที่สุดคือการนำวัฒนธรรมฆ้องและการฟ้อนรำซวางมาสอนให้แก่นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆในจังหวัดกอนตุมเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเพื่อปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวในระยะยาว โรงเรียนต่างๆในท้องถิ่นได้ประสานงานกับทางการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ที่ได้รับการนับถือในเขตชุมชนในการเปิดการเรียนการสอนและแนะนำวิธีการตีฆ้องและการฟ้อนรำซวางให้แก่นักเรียน 2ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนสำหรับนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมตอนต้นในเมืองกอนตุมได้รับการแนะนำวิธีการตีฆ้องและการฟ้อนรำซวางที่แสดงในเทศกาลของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน เด็กชายอาเทย นักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาเจี่ยวถิจริง เมืองกอนตุมได้เผยว่า“ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เรียนการตีฆ้องที่โรงเรียน นอกจากนี้ ปู่ย่าตายายและศิลปินอาวุโสในหมู่บ้านก็ได้สอนผมให้รู้จักการตีฆ้องเพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าบานา”
การสอนการตีฆ้องมีขึ้นก่อนการสอนวิชาต่างๆ 15นาทีในวันอังคารและวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ครูหว่างวันบา ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาเจี่ยวถิจริงได้เผยว่า“การสอนการตีฆ้องและการฟ้อนรำซวางให้แก่นักเรียนทำให้โรงเรียนมีความผูกพันกับเขตชุมชนมากขึ้น โดยกิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและทำให้นักเรียนชอบไปโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งมีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพของการสอนวัฒนธรรมพื้นเมืองให้แก่เด็กๆ”
เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมฆ้องเตยเงวียนในท้องถิ่น หน่วยงานการศึกษาจังหวัดกอนตุมได้จัดงานมหกรรมการตีฆ้องและการฟ้อนรำซวางสำหรับนักเรียนจากโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมตอนต้นเป็นประจำทุกๆ 2ปี โดยมีนักเรียนกว่า 1200คนจาก 20คณะเข้าร่วม
ปัจจุบัน จังหวัดกอนตุมมีมรดกวัฒนธรรมที่โดดเด่นและหลากหลาย โดยเฉพาะบรรยากาศวัฒนธรรมฆ้องที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ จังหวัดกอนตุมมีคณะศิลปินตีฆ้องกว่า 400คณะ รวมฆ้องกว่า 1900ชุดของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ซึ่งหน่วยงานวัฒนธรรมกำลังวางแผนการต่างๆเพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมการตีฆ้องของชนกลุ่มน้อยเผาต่างๆในท้องถิ่นเอาไว้ นาย ฟานวันหว่าง รองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดกอนตุมได้เผยว่า“หน่วยงานวัฒนธรรมจะขยายการประชาสัมพันธ์งานด้านการอนุรักษ์คุณค่าวัฒนธรรมพื้นเมืองเพื่อให้ประชาชนชนกลุ่มน้อยในเขตทุรกันดารและเขตที่อยู่ห่างไกลความเจริญมีความเข้าใจมากขึ้นและตระหนักถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองของชนเผ่าตนผ่านการจัดงานวันวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมฆ้องและเปิดการเรียนการสอนด้านวัฒนธรรมพื้นเมือง”
ทั้งนี้และทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานทุกระดับและท้องถิ่นต่างๆในจังหวัดกอนตุมได้ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในสภาวการณ์ใหม่ โดยได้ประสบผลงานต่างๆที่น่ายินดี มีส่วนร่วมที่เข้มแข็งในการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
Thu Hằng