ส่งเสริมให้การร้องเพลงทำนองกวานเหาะพัฒนามากขึ้น

(VOVWORLD) - หลังจากที่การร้องเพลงทำนองกวานเหาะเวียดนามได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2009 จังหวัดบั๊กนิงซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเพลงทำนองกวานเหาะได้ปฏิบัติคำมั่นต่างๆที่เวียดนามได้ให้ไว้กับยูเนสโกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งเสริมให้การร้องเพลงทำนองกวานเหาะพัฒนามากขึ้น - ảnh 1การแสดงร้องเพลงทำนองกวานเหาะในงานเฟสติวัล – เยือนถิ่นเพลงกวานเหาะ (dulichvietnam.com.vn)

ที่เขตกิงบั๊ก ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเก่าและมีการเชื่อมโยงวัฒนธรรมระหว่างจังหวัดบั๊กยางและจังหวัดบั๊กนิงในปัจจุบัน มีศิลปินกวานเหาะทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายหลายรุ่นได้มีส่วนร่วมรักษาและอนุรักษ์มรดกนี้เอาไว้อย่างยั่งยืน โดยในงานเฟสติวัล – เยือนถิ่นเพลงกวานเหาะและพิธีรำลึกครบรอบ10ปีเพลงพื้นเมืองทำนองกวานเหาะบั๊กนิงห์ได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นาย เหงวียนตื๋อกวิ่ง ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดบั๊กนิงได้ยืนยันว่า ในตลอด 10ปีที่ผ่านมา  จังหวัดบั๊กนิงได้ปฏิบัติตามคำมั่นต่างๆที่เวียดนามได้ให้ไว้กับยูเนสโกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสอนร้องเพลงกวานเหาะ ฟื้นฟูการแสดงเพลงทำนองกวานเหาะบนเวทีแบบดั้งเดิม ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและประชาสัมพันธ์การร้องเพลงกวานเหาะสู่สายตาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจังหวัดบั๊กนิงคือท้องถิ่นแถวหน้าและเป็นจังหวัดเดียวที่จ่ายเบี้ยเลี้ยงรายเดือนให้แก่ศิลปินอาวุโสที่กำลังร้องเพลงทำนองกวานเหาะ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ นาย เหงวียนตื๋อกวิ่งได้เผยว่า แม้การร้องเพลงทำนองกวานเหาะในปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของยุคสมัย แต่ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมตรีของศิลปินกวานเหาะอยู่เหมือนเดิม ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเขตบั๊กนิง-กิงบั๊ก โดยสิ่งที่น่าสนใจคือประชาชนตระหนักได้ดีเกี่ยวกับคุณค่าของมรดกการร้องเพลงทำนองกวานเหาะ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของศิลปินกวานเหาะที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสอนร้องเพลงทำนองกวานเหาะให้แก่คนรุ่นหลัง รวมทั้งบรรดานักวิชาการที่สะสมเพลงพื้นเมืองและศิลปินกวานเหาะที่มีส่วนช่วยเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

จากจำนวนหมู่บ้านกวานเหาะโบราณ 49 แห่งและสโมสร 34 แห่ง จนถึงปัจจุบัน จังหวัดบั๊กนิงมีหมู่บ้านกวานเหาะ 369 แห่งและสโมสร 381 แห่งรวมสมาชิกกว่า 1 หมื่นคน รวมศิลปินกวานเหาะหลายพันคน ซึ่งทำให้เพลงกวานเหาะได้รับการจัดแสดงตามหมู่บ้านและชุมชนมากขึ้นและเป็นกิจกรรมที่โดดเด่นในงานเทศกาลต่างๆและกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน

ส่งเสริมให้การร้องเพลงทำนองกวานเหาะพัฒนามากขึ้น - ảnh 2ศิลปินกวานเหาะฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย (baobacgiang.com.vn)

ที่หมู่บ้านฮึวงี ตำบลนิงเซิน อำเภอเหวียดเอียน จังหวัดบั๊กยาง มีสโมสรร้องเพลงทำนองกวานเหาะที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่า 20ปี โดยเฉพาะสมาชิกสโมสรคือเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้าและครูเกษียณที่มีอายุตั้งแต่ 65- 80 ปี โดยพวกเขาสวมใส่ชุดอ๊าวตื้อเทินหรือชุดเสื้อยาวสี่ส่วนและงอบกวายทาวเพื่อร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง นาง เหงวียนถิโมและน้องสาวเหงวียนถิฮวน อายุกว่า 80ปี ซึ่งเป็นสมาชิกสโมสรฯได้เผยว่า“พวกเราชอบร้องเพลงทำนองกวานเหาะตั้งแต่เด็ก โดยไปดูการแสดงและร้องตามศิลปินกวานเหาะ แต่ตอนนี้ถึงได้เข้าร่วมสโมสรเพื่อเรียนการร้องเพลงกวานเหาะ การร้องเพลงโบราณยากมากแต่มีความหมายลึกซึ้ง เช่น เพลง Mời nước mời trầu หรือ แปลว่า เชิญดื่มน้ำเชิญกินหมากพลู เพลง Chim khôn đỗ ngọn thầu dầu หรือ นกฉลาดเลือกเกาะที่ต้นละหุ่ง”

ส่วนนายเจิ่นวันเท้ หัวหน้าสโมสรฯได้เผยว่า ภรรยาของเขาคือศิลปินเหงวียนถิเหยิ่นและศิลปินอื่นๆในหมู่บ้านได้เปิดชั้นเรียนสอนการร้องเพลงทำนองกวานเหาะให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆที่ชื่นชอบ โดยที่หมู่บ้านฮึวงี มีเด็กหลายคนที่สามารถร้องเพลงทำนองกวานเหาะได้บางส่วนถึงแม้ยังไม่รู้หนังสือ มีหลายครอบครัวที่มีสมาชิก 3-4 รุ่นชอบร้องเพลงทำนองกวานเหาะ ส่วนเยาวชนที่หลงใหลเพลงกวานเหาะก็ได้เรียนต่อในด้านศิลปะการแสดง“เยาวชนในหมู่บ้านชื่นชอบการเรียนร้องเพลงกวานเหาะและเราต้องการพัฒนาการร้องเพลงทำนองกวานเหาะในเชิงลึก ดังนั้นต้องพยายามศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง”

นอกจากส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนในการเรียนและแสดงการร้องเพลงทำนองกวานเหาะ สโมสรร้องเพลงทำนองกวานเหาะหมู่บ้านฮึวงี   ยังจัดกิจกรรมพบปะสังสรรคและแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านกวานเหาะอีก 17 แห่งของจังหวัดบั๊กนิงและจังหวัดบั๊กยาง อีกทั้งเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงพื้นเมืองระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศและมีศิลปินหลายคนไปแสดงในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน แม้จะมีศิลปินกวานเหาะ 10 คนทีได้รับการยกย่องสดุดีเป็นศิลปินยอดเยี่ยม แต่ศิลปินอีกหลายร้อยคนก็กำลังมีส่วนร่วมไม่น้อยต่อการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของถิ่นเกิด.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด