(VOVWORLD) - ในเวลาที่ผ่านมา คำว่า “พื้นที่สีเทา” หรือ grey zone ได้ปรากฎมากขึ้นในการวิเคราะห์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทะเลตะวันออก โดยการกระทำที่ยั่วยุของจีนในทะเลตะวันออกถูกระบุว่า เป็นการกระทำที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมพื้นที่ทะเลตะวันออกส่วนใหญ่
ทหารเรือเวียดนามบนเกาะ ด๊าลาด ในหมู่เกาะเจื่องซา (vietnamplus) |
แผนกลยุทธ์ “พื้นที่สีเทา” หรือ grey zone ได้รับการตีความว่า เป็นการกระทำเพื่อสร้างความตึงเครียดที่ต่ำกว่าระดับสงคราม ไม่สร้างเหตุผลเพื่อนำไปสู่การปะทะ ทำให้ประเทศอื่นมีข้ออ้างเพื่อใช้มาตรการทางทหารเข้ามาแทรกแซงอย่างเป็นทางการ ในยุทธวิธีนี้ กองกำลังทหารสามารถแฝงในคราบพลเรือนเพื่อทำการเคลื่อนไหว ผสานกับการปฏิบัติกลยุทธ์อื่นๆ เช่นสงครามเชิงจิตวิทยา เชิงนิตินัยและการประชาสัมพันธ์ เพื่อมุ่งเปลี่ยนเขตที่ไม่มีการพิพาทให้กลายเป็นเขตที่มีการพิพาท
จากแผนการสู่ภาคปฏิบัติ
จากคำนิยามเกี่ยวกับ“พื้นที่สีเทา” แล้วมาสอดส่องกับสถานการณ์ความตึงเครียดพร้อมกับการกระทำที่ก้าวร้าวในทะเลตะวันออกของจีนในเวลาที่ผ่านมาจะสามารถเห็นได้ว่า ทางการปักกิ่งได้ประยุกต์ใช้และปรับปรุงกลยุทธ์ “พื้นที่สีเทา” อย่างต่อเนื่อง
ก่อนอื่นคือกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนเรือประมงพลเรือนให้กลายเป็นเครื่องมือทางทหาร ขณะนี้ จีนมีขบวนเรือตรวจการณ์ทางทะเลและการประมงที่ทันสมัยจำนวนมากโดยภาพถ่ายจากดาวเทียมปรากฎว่า บางครั้งมีเรือประมงของจีน 200-300 ลำเคลื่อนไหวรอบแนวปะการัง ซูบีและแหวงคันสังกัดหมู่เกาะเจื่องซาหรือสเปรตลีย์ของเวียดนาม ซึ่งเป็นกองกำลังที่ก้าวร้าวที่สุดที่ขัดขวางเรือของประเทศอื่นที่เดินเรืออย่างชอบด้วยกฎหมายในเขตทะเลของตน ที่อันตรายกว่าก็คือ กลุ่มเรือประมงของจีนยังคงมีความสามารถในการโจมตีที่ได้เปรียบในการพิพาททางทะเล สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เรือทหารของจีนไม่สามารถเข้าถึงและปฏิบัติหน้าที่ที่เรือของกองทัพเรือไม่สามารถปฏิบัติได้ในเขตน่านน้ำของประเทศอื่น โดยเฉพาะ กลุ่มเรือประมงดังกล่าวมีการติดตั้งปืน 30 มม. และ 76 มม และในหลายกรณี เรือประมงเหล่านี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ทำหน้าที่เหมือนเรือรบที่สามารถพุ่งชนหรือวิ่งตัดหน้าเรือต่างชาติที่อยู่ใกล้ ซึ่งแผนการนี้กำลังสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประเทศต่างๆในภูมิภาค
โดยปรกติ ทางการปักกิ่งมักอธิบายว่า การกระทบกระทั่งระหว่างเรือประมงในทะเลตะวันออกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่ตามการประเมินของบรรดานักวิชาการระหว่างประเทศนั้น การเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารเรือที่แอบแฝงตัวเป็นเรือประมงของจีนทำให้มีความสามารถเดินหน้าขัดขวางและก่อกวนเรือต่างประเทศที่พวกเขาถือว่ากำลังเคลื่อนไหวใน “เส้นประเก้าเส้น” ที่ครอบคลุมพื้นที่ทะเลตะวันออกกว่าร้อยละ 80 ที่ฝ่ายจีนกำหนดขึ้นเองอย่างไร้เหตุผล
สำหรับเรื่องนี้ อาจยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2014 จีนได้ติดตั้งแท่นขุดเจาะไหหยาง 981ในเขตทะเลของเวียดนาม หรือล่าสุดคือการส่งเรือสำรวจไหหยาง 8 รุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของเวียดนามในแนวปะการังตือชิ้งเป็นเวลากว่า 3 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนตุลาคมปี 2019 โดยจีนได้ใช้กองกำลังระดับต่ำกว่ากองทัพ กองกำลังชายฝั่งและผู้บัญชาการทหารบ้านเพื่อบังคับ ขัดขวางการขุดเจาะน้ำมันและก่อกวนชาวประมง ซึ่งกลยุทธ์นี้ดำเนินไปภายใต้แผนการที่ว่าไม่ใช้กองกำลังทหาร
2 คือ ฐานทัพแห่งใหม่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จีนตั้งขึ้นในทะเลตะวันออกมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมเขตนี้ และสุดท้ายคือแนวรบด้านการสื่อสารที่มีบทบาทสำคัญ นี่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “พื้นที่สีเทา” โดยจีนได้พยายามทำเสนอหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ส่งนักวิชาการเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อแสดงทัศนะปกป้องอธิปไตย ตลอดจนการผลักดันการตีพิมพ์แผยแพร่บทความที่สนับสนุนทัศนะของตน
ส่งผลกระทบในทางลบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
ทั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ประเทศต่างๆและประชามติโลกไม่เคยรับรองคำเรียกร้อง “เส้นประเก้าเส้น” ที่ไร้มูลความจริงและไม่มีหลักฐานรองรับของจีน ล่าสุด ในรายงาน “มหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก เสรีภาพและเปิดกว้าง: การผลักดันวิสัยทัศน์ร่วม” ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ยืนยันว่า อธิปไตยที่อาศัยแผนที่ “เส้นประเก้าเส้น” ที่จีนประกาศในทะเลตะวันออกคือสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้แต่หลักฐานทางนิตินัยเพียงข้อเดียวที่จีนอ้างเพื่อเรียกร้องอธิปไตยในทะเลตะวันออกก็ถูกศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก หรือพีซีเอ ปฏิเสธอิงตามข้อกำหนดของ UNCLOS 1982 เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2016 ในคดีฟิลิปปินส์ฟ้องร้องจีน แต่อย่างไรก็ตาม จีนได้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเหล่านี้และยังคงเรียกร้องอธิปไตยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเปลี่ยนเขตทะเลที่อยู่ในอธิปไตยของประเทศอื่นและไม่มีการพิพาทให้กลายเป็นเขตทะเลที่มีการพิพาท
ความทะเยอทะยานควบคุมทะเลตะวันออกได้ก่อให้เกิดกลยุทธ์ “พื้นที่สีเทา” และการที่จีนใช้กองกำลังที่มากมายมหาศาลของตนเพื่อบรรลุผลประโยชน์ได้ทำให้ความเสี่ยงเผชิญหน้าและกระทบกระทั่งในทะเลได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบในทางลบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ประเทศต่างๆในภูมิภาคและโลกต่างมีผลประโยชน์ที่ผูกพันกับทะเลตะวันออก ดังนั้น การผลักดันความเป็นระเบียบโดยอาศัยกฎหมาย โดยเฉพาะการให้ความเคารพกฎหมายสากลอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลหรือ UNCLOS ปี 1982 ต้องมีความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะอาเซียนต้องธำรงบทบาทเป็นศูนย์กลางและความสามัคคี เมื่อประชาคมโลกมีเสียงพูดที่เข้มแข็งและมีความพร้อมใจการกระทำที่ขัดกับกฎหมายสากลก็ย่อมจะประสบความล้มเหลว.