(VOVWORLD) - วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มีบทบาทที่สำคัญในวัฒนธรรมเวียดนาม โดยการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมในเขตชนกลุ่มน้อยเป็นหนึ่งในด้านที่พรรคและรัฐเวียดนามให้ความสนใจเป็นพิเศษและเป็นหน้าที่สำคัญในปัจจุบัน
วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มีบทบาทที่สำคัญในวัฒนธรรมเวียดนาม |
ตามผลการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2019 เวียดนามมีประชาชนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆกว่า 14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของประชากรทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อาศัยในเขตภูดอยและเขตเขาทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน เขตริมฝั่งทะเลภาคกลาง เขตที่ราบสูงเตยเงวียนและเขตตะวันตกภาคใต้ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่น มีส่วนร่วมเพิ่มความหลากหลายให้แก่วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม
ภาพรวมที่มีชีวิตชีวาของการอนุรักษ์วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย
ไม่มีสภาพแวดล้อมใดที่จะรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมได้ดีกว่าในพื้นที่วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในหลายปีที่ผ่านมา จังหวัดเซินลาได้ให้ความสนใจสร้างสรรค์และส่งเสริมขบวนการศิลปะในหมู่ประชาชนและจนถึงปัจจุบัน ได้มีสโมสรศิลปะกว่า 3,300 แห่งประจำหมู่บ้านและเขตชุมชน ซึ่งทำให้จังหวัดเซินลาเป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่มีสโมสรศิลปะมากที่สุดของประเทศ โดยแต่ละปี ทางการจังหวัดฯได้จัดงบหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐสำหรับช่วยเหลือกิจกรรมวัฒนธรรมและศิลปะในท้องถิ่น นาง หล่อซวนเหื่อง หัวหน้าสโมสรเขตชุมชนที่ 3 แขวงเจี่ยงอาน เมืองเซินลา จังหวัดเซินลา ได้เผยว่า
“พรรคและรัฐให้ความสนใจชี้นำงานด้านนี้เป็นอย่างมาก ส่วนทางการจังหวัดได้จัดงบปีละ 85 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนขบวนการวัฒนธรรมและศิลปะ นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์เรี่ยไรเงิน 1.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อครอบครัวเพื่อสมทบเข้ากองทุนวัฒนธรรมและการกีฬาของหมู่บ้าน ส่วนดิฉันมีหน้าที่วางแผนการแสดง รวมถึงชุดแต่งกายและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อจัดทำร่างงบประมาณ”
ส่วนที่อำเภออาเลื้อย จังหวัดเถื่อเทียนเว้ ได้มีการฟื้นฟูงานเทศกาลต่างๆของชนเผ่าปาโก เช่น งาน Ariêu Caar งานAriêu Piing และงานAriêu Aza โดยทางการท้องถิ่นได้จัดงานต่าง ๆ ของชาวบ้านที่หมู่บ้านอาโนร์และตลาดนัดเขตเชาอาเลื้อย เช่น งานเทศกาล Aza งานแต่งงาน การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น นาง เลถิเทม หัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมและการสื่อสารอำเภออาเลื้อย จังหวัดเถื่อเทียนเว้ ได้ให้ข้อสังเกตว่า
“ในเวลาข้างหน้า พวกเราจะเดินหน้าอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมผ่านการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในชุมชนชนกลุ่มน้อย ส่วนในงานเทศกาลและกิจกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น เราจะจัดงานเทศกาลต่างๆ อีกทั้งมีการแสดงศิลปะ การร้องเพลงและการฟ้อนรำพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวได้ชม”
จนถึงปัจจุบัน เวียดนามมีงานเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 80 รายการที่ได้รับการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ มีหมู่บ้านกว่า 30 แห่งของ 25 กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการลงทุนในการอนุรักษ์ผสานกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งงานด้านนี้กำลังได้รับการขยายผลเพื่อสร้างสรรค์หมู่บ้านและสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในเขตชนกลุ่มน้อย
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ระดับส่วนกลาง 3 แห่งและพิพิธภัณฑ์ระดับจังหวัด 65 แห่งกำลังรวบรวม ตรวจสอบและจัดแสดงมรดกวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนาม มีมรดกวัฒนธรรมนามธรรม 145 รายการของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกระบุในรายชื่อมรดกวัฒนธรรมนามธรรมระดับชาติ โดยทุกปี กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดกิจกรรมขานรับวันวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนาม ซึ่งตรงกับวันที่ 19 เมษายนตั้งแต่ระดับส่วนกลางจนถึงระดับท้องถิ่น ทำการสำรวจและเปิดการอบรมเรื่องวัฒนธรรมนามธรรมและอาชีพพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์
เสริมสร้างพลังภายในที่เข้มแข็ง
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีแนวทางอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเอกสารของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯสมัยที่ 8 สมัยที่9 และสมัยที่ 11 เกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมที่ทันสมัยและเป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติเป็นพื้นฐานที่สำคัญของแนวทางและนโยบายอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในเวลาที่ผ่านมา ส่วนมติของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯสมัยที่ 13 ได้ระบุถึงทัศนะและแนวทางที่สำคัญแบบก้าวกระโดดเพื่อส่งเสริมพลังที่เข้มแข็งของวัฒนธรรมเวียดนาม โดยการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญเชิงก้าวกระโดด โดยเฉพาะ “โครงการเป้าหมายแห่งชาติเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในเขตชนกลุ่มน้อยและเขตเขาระยะปี 2021 – 2030” ได้สอดแทรกเป้าหมายและแหล่งพลังพลังต่างๆในนโยบายอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในเชตชนกลุ่มน้อย รวมถึงโครงการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ผสานกับการพัฒนาชุมชนเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงการให้ความสนใจของพรรคและรัฐต่อการอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและยืนยันถึงคุณค่า อัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม.