ความสัมพันธ์สหรัฐ – อิหร่านตกเข้าสู่ความตึงเครียดรอบใหม่
Anh Huyen - VOV5 -  
(VOVWORLD) -ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับอิหร่านนับวันทวีความตึงเครียดมากขึ้นเนื่องจากมาตรการโต้ตอบระหว่างกันโดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังมีความซับซ้อน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อสันติภาพของภูมิภาคและโลก
ประธานาธิบดีสหรัฐและประธานาธิบดีอิหร่าน (Photo AP) |
ล่าสุดนี้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ทำเนียบขาวได้แจ้งว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมประกาศคำสั่งคว่ำบาตรรอบใหม่ต่ออิหร่านหากบรรดาพลเมืองสหรัฐที่กำลังถูกคุมขังในอิหร่านไม่ได้รับการปล่อยตัวให้กลับประเทศ พลเมืองสหรัฐ 3 คน ซึ่งมีอดีตเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐหรือเอฟบีไอและสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐหรือซีไอเอถูกคุมขัง ฐานเป็นสายลับ ก่อนหน้านั้น พลเมืองอเมริกันวัย 37 ปีที่ทำงานในมหาวิทยาลัย Princeton ถูกรัฐบาลอิหร่านสั่งจำคุกเป็นเวลา 10 ปี โทษฐาน “บุกรุก” แต่รัฐบาลอิหร่านได้ปฏิเสธคำเรียกร้องดังกล่าวของสหรัฐผ่านคำตอบว่า “ไม่มีสิทธิ์ควบคุมการดำเนินงานของศาล” และเรียกร้องให้สหรัฐไม่แทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านโดยถือว่า คำเรียกร้องของสหรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐได้ประกาศคำสั่งคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรอบใหม่ต่ออิหร่านเพราะโครงการขีปนาวุธทิ้งตัวของอิหร่าน วอชิงตันยังตำหนิอิหร่านว่า มีส่วนร่วมทำให้วิกฤตทางการทูตในอ่าวเปอร์เซียเกิดขึ้น ในขณะที่อิหร่านได้กล่าวว่า สัญญาทางทหารมูลค่า 1 แสน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างสหรัฐกับซาอุดิ อาระเบียเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นภัยคุกคามต่ออิหร่าน ควบคู่กันนั้น อิหร่านยังได้ผลิตขีปนาวุธชนิดใหม่พร้อมคำประกาศของกระทรวงกลาโหมอิหร่านที่ว่า ขีปนาวุธชนิดใหม่นี้บินที่ระดับความสูง 27 ก.ม และมีพิสัยการยิงเ 120 ก.ม. ที่สามารถมุ่งเป้าหมายไปยังเครื่องบินรบ เครื่องบินไร้คนขับและขีปนาวุธนำวิธี ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับอิหร่านตกเข้าสู่ความตึงเครียดรอบใหม่
ความอบอุ่นในระยะเวลาที่สั้นเกินไป
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเคยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในเวลาสั้นๆ นั่นคือช่วงเวลาที่อิหร่านและกลุ่มประเทศพี 5+1 ประกอบด้วยสหรัฐ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส อังกฤษและเยอรมนีบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2015 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ยุติการเจรจาอย่างยืดเยื้อและลำบากเป็นเวลา 12 ปี โดยมีเนื้อหาจำกัดการพัฒนาสถานที่ผลิตนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการยกเลิกคำสั่งคว่ำบาตร แม้ข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นผลสำเร็จด้านการทูตของนายบารัค โอบามา ภายใน 2 วาระที่เป็นผู้นำของสหรัฐ แต่หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ก็ได้ตำหนิข้อตกลงฉบับนี้โดยเรียกข้อตกลงฉบับนี้เป็นข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดที่ไม่เคยมีมาก่อนแถมยังแสดงเจตนารมณ์ที่จะถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงฉบับนี้ พร้อมทั้งย้ำว่า ต้องใช้มาตรการที่แข็งกร้าวต่ออิหร่าน
ถึงขณะนี้ หลังการตรวจสอบการปฏิบัติข้อตกลง 2 ครั้ง รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้ยืนยันว่า อิหร่านกำลังปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์แต่ยังไม่สมบูรณ์และต้องประเมินข้อตกลงฉบับนี้อีกครั้งอย่างรอบด้าน
เพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอิหร่าน สหรัฐได้สะท้อนจุดยืนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งการที่สหรัฐยอมรับว่า อิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ควบคู่กับการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรอบใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า สหรัฐกำลังปฏิบัตินโยบาย “สองหน้า” ต่ออิหร่าน คือพยายามเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านแต่ก็ยังคงรักษาข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับ 6 ประเทศมหาอำนาจของโลก ส่วนอิหร่านก็ได้ออกคำประกาศที่แข็งกร้าวโดยยืนยันว่า จะธำรงสิทธิการตอบโต้สหรัฐหากในอนาคตสหรัฐไม่ปฏิบัติข้อตกลงที่อิหร่านได้ลงนามกับบรรดาประเทศมหาอำนาจในกลุ่มพี 5+1 คาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านจะตึงเครียดมากขึ้นในเวลาที่จะถึงและมีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งสองฝ่ายต้องจัดการพบปะเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของอิหร่านในอนาคต
ข้อตกลงที่ได้บรรลุหลังการเจรจาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งได้ช่วยยุติวิกฤตที่เคยทำให้ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมตกเข้าสู่ความตึงเครียดที่อาจเกิดสงครามในช่วงปี 2000 กำลังต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านได้ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและซับซ้อนต่างๆยิ่งมีความไร้เสถียรภาพมากขึ้น.
Anh Huyen - VOV5