(VOVWORLD) -วันที่ 15 เมษายน ครบรอบ 1 ปีที่เกิดการปะทะในประเทศซูดาน ซึ่งปัจจุบัน สถานการณ์ยังคงรุนแรงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนนับล้านคนต้องเผชิญปัญหาด้านมนุษยธรรมในขณะที่การดำเนินมาตรการสันติภาพยังคงชะงักงัน
ผู้ลี้ภัยชาวซูดานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน Adre ประเทศชาด (Reuters) |
การปะทะในซูดานเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายนปีที่แล้ว โดยกองทัพซูดานได้ต่อสู้กับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็วหรือ RSF เพื่อชิงอำนาจควบคุมประเทศ ซึ่งการเผชิญหน้าในกรุงคาร์ทูมได้บานปลายไปทั่วประเทศ
โศกนาฏกรรมด้านมนุษยธรรม
การสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างสองฝ่ายที่เคยเป็นพันธมิตรกันได้ส่งผลให้ประเทศซูดานตกเข้าสู่ภาวะวุ่นวาย โดยระบบเศรษฐกิจและประเทศกำลังใกล้จะล่มสลาย ตามข้อมูลสถิติของสหประชาชาติ การปะทะในตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในซูดานได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 150,000 คนและได้รับบาดเจ็บนับแสนคน ประชาชนกว่า 8.5 ล้านคนต้องทิ้งบ้านเรือนอพยพไปยังประเทศอื่น โดยประมาณ 1.8 ล้านคนได้อพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เผยว่า ระบบสาธารณสุขในซูดานได้ล่มสลายเนื่องจากการขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ยารักษาโรคและอุปกรณ์การแพทย์อย่างหนัก ซึ่งสถานีอนามัยร้อยละ 80 ต้องยุติการดำเนินงานเนื่องจากการสู้รบ และบางพื้นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การแพทย์ในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการปะทะได้ส่งผลให้ซูดานตกเข้าสู่วิกฤตมนุษยธรรมอย่างรุนแรง โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ระบบคัดเลือกความมั่นคงด้านอาหารของสหประชาชาติหรือ IPC ได้คาดการณ์ว่า มีชาวซูดานเกือบ 5 ล้านคนประสบภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 3.6 ล้านคน และสตรีมีครรภ์และให้นมบุตรประมาณ 1.2 ล้านคน ถ้าหากไม่สามารถยุติการเผชิญหน้าและผลักดันการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ชาวซูดานประมาณ 1 ใน 2 จะต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรงที่สุดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม คุณ Justin Brady ผู้อำนวยการของสำนักงาน OCHA แห่งสหประชาชาติประจำซูดานได้เผยว่า
“การปะทะครั้งนี้รุนแรงเป็นอย่างมากสำหรับเด็กๆ โดยมีเด็กประมาณ 730,000 คนกำลังตกเข้าสู่ภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าหากไม่มีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เด็กกว่า 200,000 คนจะต้องเสียชีวิตจากภาวะอดอยาก”
การปะทะในซูดาน ความล้มเหลวในการบริหารประเทศและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ถูกทำลายได้ส่งผลให้การขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ประสบความยากลำบากเป็นอย่างมาก และที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ วิกฤตในซูดานกำลังบานปลายไปยังประเทศเพื่อน
บ้านที่กำลังประสบความยากลำบากเช่นกัน นาย Michael Dunford ผู้อำนวยการย่านแอฟริกาตะวันออกของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติหรือ WFP เผยว่า
“ผู้ลี้ภัยซูดานได้อพยพไปยังประเทศชาดและซูดานใต้ ซึ่งเป็นสองประเทศที่กำลังอยู่ในภาวการณ์ไร้เสถียรภาพ เช่น ซูดานใต้ต้องรับผู้ลี้ภัยซูดานกว่า 600,000 คนในขณะที่ประชากรซูดานใต้ประมาณร้อยละ 75 ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดังนั้น WFP และองค์การต่างๆ จึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทั้งหมด”
การปะทะที่ถูกเพิกเฉย
ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมในซูดาน การให้การช่วยเหลือประชาชนในประเทศนี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากเท่าที่ควร สหประชาชาติเผยว่า องค์กรมนุษยธรรมของสหประชาชาติต้องการเงินอย่างน้อย 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้เพื่อใช้จัดหาอาหาร อุปกรณ์การแพทย์และสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ ให้แก่ชาวซูดาน 24 ล้านคนหรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรซูดานทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 51 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม OCHA ได้คำนวณว่า ถึงปลายเดือนมีนาคมนี้ นักอุปถัมภ์จะให้คำมั่นเกี่ยวกับการจัดสรรเงิน 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ซูดาน ซึ่งตอบสนองความต้องการได้แค่ร้อยละ 5 เท่านั้น นาย Christos Christou ประธานองค์กร “แพทย์ไร้พรมแดน” หรือ MSF กล่าวว่า การเพิกเฉยนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้เพราะว่า ซูดานกำลังอยู่ในวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในขณะเดียวกัน ความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อแสวงหามาตรการแก้ไขการปะทะในซูดานยังคงตกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยในการประชุมครั้งล่าสุดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ในซูดานเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายไม่สามารถบรรลุมาตรการใด ๆ นอกเหนือจากคำเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการสู้รบเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ มีบางประเทศที่ยังคงกล่าวตำหนิกันไปมาเกี่ยวกับการแทรกแซงการปะทะในซูดานซึ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการชะงักงันนี้ได้ส่งผลให้นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติต้องออกมาเตือนว่า
“การปะทะกำลังสร้างผลที่ร้ายแรงต่อชาวซูดาน ส่งผลกระทบต่อเอกภาพของประเทศนี้ ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงที่การปะทะจะส่งผลให้เกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคและผลเสียหายอย่างหนักจากเขตซาเฮลอาจบานปลายไปถึงเขตจะงอยแอฟริกาและทะเลแดง”
การปะทะในซูดานได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างซูดานกับซูดานใต้ที่ได้แยกออกจากซูดานเมื่อกว่า 1 ทศวรรษก่อน เพราะการปะทะไม่เพียงแต่ส่งผลให้ซูดานใต้ต้องรับแรงกดดันจากขบวนผู้ลี้ภัยเท่านั้น หากยังทำให้ความไร้เสถียรภาพในเขตชายแดนระหว่างสองประเทศนี้รุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งทำลายกิจกรรมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งท่อส่งน้ำมันจากซูดานใต้ผ่านดินแดนของซูดานไปยังท่าเรือซูดานในทะเลดำอีกด้วย ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์เตือนว่า ถ้าหากการปะทะในซูดานยังคงยืดเยื้อต่อไป ซูดานและซูดานใต้อาจกลับไปสู่ภาวะการเป็นศัตรูกันเหมือนเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้ตกเข้าสู่สถานการณ์ที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น.