ตรุษเต๊ตประเพณีของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในเขตชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(VOVWORLD) - ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทุกครอบครัวชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในหมู่บ้านชางหน่า ตำบลติ่งฮุก อำเภอบิ่งเลียว จังหวัดกว๋างนิงห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจะช่วยกันทำอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งนี่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนานไปด้วยเสียงหัวเราะของเด็กๆในหมู่บ้าน
ไปเอาน้ำในช่วงปีใหม่ |
เช้าวันส่งท้ายปีเก่าของทุกๆปี สมาชิกในครอบครัวของคุณป้า ลาถิห่ง จะช่วยกันทำอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ลูกชายคนสุดท้องของคุณป้ากับชายหนุ่มหลายคนในหมู่บ้านจะชวนกันเข้าป่าหาต้นไผ่มาทำเป็น “เสาตุง” ตั้งไว้หน้าบ้าน ส่วนลูกชายคนโตและภรรยาทำความสะอาดบ้านและหิ้งบูชา เครื่องมือที่ใช้ในการทำนาทำไร่จะถูกติดด้วยกระดาษสีแดงบ่งบอกว่าเครื่องมือเหล่านี้ก็พักงานเพื่อฉลองตรุษเต๊ตเหมือนกับมนุษย์เช่นกัน
คุณป้า ลาถิห่งบอกว่าถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงตรุษเต๊ตนั้นจะมีขนมข้าวต้มมัดใหญ่ซึ่งเป็นอาหารพิเศษที่ขาดไม่ได้ ดังนั้นในวันที่ 25 หรือ 26 เดือน 12 ตามจันทรคติ คุณป้าและสมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันล้างใบตอง เตรียมเนื้อหมูและข้าวเหนียวเพื่อห่อขนมข้าวต้มมัดใหญ่ โดยห่อแบบรูปทรงกระบอก เรียกว่า “ขนมพ่อ” และ “ขนมแม่” ที่มีใส้เป็นไข่ไก่และปลา ซึ่งมีแต่ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เท่านั้นสามารถห่อขนมชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีห่อขนม “ก๊อกหม่อ” ขนาดเล็กๆไว้แจกให้เด็กๆด้วยคุณป้าบอกว่า “ถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษของครอบครัวในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มักจะมีเนื้อหมู เหล้าอุ ขนมข้าวต้มมัดใหญ่และไก่ลวก 1 ตัว ลูกหลานจะกลับมาชุมนุมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทำให้ป้ามีความสุขมาก”
หลังจากทานข้าวมื้อค่ำเสร็จสมาชิกในครอบครัว ก็จะไปนั่งล้อมวงที่เตาฟืน นาย เลืองเทียนฟู้ มักจะเล่าเรื่องราวต่างๆให้ลูกหลานฟังพร้อมเหลากิ่งสตรอเบอร์รี่เป็นช่อดอกหลายชั้นเตรียมไว้สำหรับเทศกาลเอาน้ำในวันรุ่งขึ้น ก่อนช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ชนกลุ่มน้อยเผ่าไตทุกคนจะกลับบ้านเพื่อตื่นเช้าในวันรุ่งขึ้นของปีใหม่จะได้นึ่งข้าวเหนียวย้อมสีเหลืองด้วยลูก “แหย่งแหย่ง”แล้ว เอาขนม “ก๊อกหม่อ” ไปแขวนไว้ที่ประตูบ้านเชิญดวงวิญญาณที่ร่อนเร่พเนจรเข้ามาร่วมฉลองตรุษเต๊ต เสร็จแล้ว ทั้งครอบครัวจะพากันไปเอาน้ำซี่งเป็นพิธีสำคัญที่สุดของชนเผ่าไต นาย เลืองเทียนฟู้ จะปักกิ่งหม่อน วางถาดเซ่นไหว้ที่มีข้าวเหนียวสีเหลืองและกระดาษไหว้เจ้าที่ต้นลำธารแล้วขอพรให้เทพที่ดูแลสายน้ำแห่งนี้ดลบันดาลให้ชีวิตของครอบครัวมีความอิ่มหนำผาสุกในปีใหม่ ส่วนลูกชายและลูกสะใภ้จะใช้เปลือกของต้นหม่อนทำเป็นเชือกผูกไว้กับก้อนหินเล็กๆที่เปรียบเสมือนเป็นวัยควายเพื่อลากกลับบ้านขอพรนำโชคในปีใหม่ นายฟู้อธิบายว่า “น้ำที่ไปเอาจากลำธารใช้ล้างหน้าล้างตาเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงในปีใหม่ ส่วนเมื่อลูกหลานจูง“วัวควาย”จำลอง กลับถึงบ้าน ก็เรียกถามคนในบ้านว่า “คุณพ่อคุณแม่ครับ อยากได้วัวควายมาเป็นทรัพย์สินในบ้านมั้ยครับ” แล้วพ่อแม่ก็จะตอบว่า “เอามาเลย มีอะไรก็เอามาหมดทั้งวัวควายหมูเห็ดเป็ดไก่ เพื่อให้ครอบครัวมีความเจริญ ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง”
มื้ออาหารในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ |
ส่วนถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษของบ้านในวันขึ้นปีใหม่ก็ให้พ่อแม่ หัวหน้าครอบครัวทาน ซึ่งอาจจะเป็นอ้อย น้ำตาล ขนมมังสวิรัติและเนื้อ แต่ก่อนเที่ยงวันที่ 1 ตรุษเต๊ต ทุกคนจะทานอาหารมังสวิรัติและหลังเที่ยงจึงจะทานอาหารคาว ในวันที่ 1ของปีใหม่ชาวไตจะเลี่ยงไม่ไปบ้านคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ร้องไห้และไม่เทน้ำ
ในวันที่ 2 ของปีใหม่ เป็นวันสำหรับญาติพี่น้องฝ่ายแม่ คุณ ลาถิแหล่ง ลูกสะใภ้คนใหม่ในครอบครัวของนาย ฟู้ เล่าว่า ตั้งแต่แต่งงานมาเป็นสะใภ้ พ่อแม่สามีจะสอนให้รู้ขนบประเพณีทุกอย่างในวันตรุดเต๊ด “ในวันที่ 2 ของตรุษเต๊ต ดิฉันเตรียมไก่ตอน 1 ตัว ขนมข้าวต้มมัดใหญ่หนึ่งห่อ อั่งเปา ขนมและผลไม้ต่างๆนำไปมอบให้แก่พ่อแม่ของดิฉันและญาติพี่น้องอื่นๆโดยถือว่า เป็นการแสดงถึงความสำนึกในบุญคุณต่อพ่อแม่ ผู้ที่ได้ให้กำเหนิดเราและเป็นโอกาสที่ให้ญาติพี่น้องได้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น ทุกคนจะดีใจและมีความสุขมากที่ได้พบปะกันในช่วงปีใหม่”
เมื่อวสันตฤดูเวียนมาในทุกซอกทุกซอยของหมู่บ้านชางหน่า หนุ่มสาวชาวไตจะสวมใส่ชุดพื้นเมืองสวยงามเข้าร่วมฉลองงานด้วยเสียงเพลง“แทน” พื้นเมืองอันไพเราะ อย่างสนุกสนาน ทุกคนต่างอวยพรกัน ขอให้ชีวิตมีความสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลและประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในปีใหม่./.