สุสาน สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแห่งวัฒนธรรมพื้นเมืองของชนเผ่าเกอตูในจังหวัดเถื่อเทียนเว้
Thu Hằng-CTV -  
(VOVWORLD) -
ในวิถีชีวิตของชาว เกอตู ที่อาศัยในเขตภูเขา นามดง จังหวัดเถื่อเทียนเว้ สุสานหรือหลุมฝังศพ เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเชื่อ ความเลื่อมใสของชาวบ้านโดยทั่วไป และที่โดดเด่นก็คืองานสลักและรูปแกะสลักที่สุสานที่เป็นวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ
สุสานหรือหลุมฝังศพ ของเผ่าเกอตู (doisongphapluat.com) |
ในแนวคิดของชาวเกอตูสุสานเป็นสถานที่สำหรับผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่และวิญญาณของผู้ตายจะกลายเป็นเทพเพื่อคอยปกป้องช่วยให้ชาวบ้านสามัคคีกันและพบแต่สิ่งดีๆ พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์และมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นในสุสานมักจะจัดสิ่งของเหมือนตอนที่มีชีวิต ซึ่งตำบลเถืองลอง อำเภอนามดง จังหวัดเถื่อเทียนเว้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ยังสามารถรักษาประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสร้างสุสานและการแกะสลักรูปปั้นสุสานเอาไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์
สำหรับสถาปัตยกรรมของสุสานนั้นมักจะสร้างขึ้นในทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการแกะสลักลวดลายที่หลากหลาย มีหลังคา มีการแกะสลักรูปสัตว์ที่คุ้นเคยในชีวิตของชาวบ้านบนเสาทั้งสี่ทิศ เช่น นกและงู เป็นต้น ส่วนโลงศพไม้มีรูปร่างคล้ายเรือไม้ซึ่งมีการแกะสลักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ของหัวควายที่ขาดไม่ได้ นอกจากนั้น รูปแกะสลักของสุสานถือเป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ชาวเกอตู โดยในแนวคิดของพวกเขาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เมื่อคนๆหนึ่งจากเราไปสู่อีกโลกหนึ่งพวกเขาจะต้องนำประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนติดตัวไปด้วย ดังนั้นจึงมีการสั่งเสียให้ลูกหลานทำรูปสลักเพื่อวางในสุสาน
ศิลปิน ฝามวันติน อาศัยที่ อำเภอนามดง เผยว่า หลังจากวางโลงศพไว้ในสุสาน เจ้าของบ้านจะทำพิธีวางถาดไม้ที่มีรูปสลักไม้ตั้งอยู่สี่ด้านบนโลงศพเพื่อแสดงความขอบคุณของผู้ที่มีชีวิตอยู่ต่อผู้ที่จากไป ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เด่นชัดที่สุดของสุสานของชาวเกอตูคือลวดลายที่มีสีสันฉูดฉาด หลังคาของสุสานแกะสลักเป็นรูปหัวควายและละมั่ง มีรูปสลักหัวไก่และแย้ โลงศพแกะสลักเป็นรูปควายเพื่อสื่อถึงความแข็งแรงและความอิ่มหนำ โดยสุสานของชายและหญิงจะแตกต่างกัน"สุสานของผู้หญิงจะมีรูปหัวหมูเท่านั้น ต่างจากสุสานของผู้ชายที่มีรูปสลักของหัวสัตว์หลายตัว ลวดลายต่างๆบนโลงศพจะต้องมีความพิถีพิถันไม่ทับซ้อนกัน"
ช่างศิลป์แกะสลักรูปปั้นสุสาน |
การสลักรูปปั้นไม้สุสานนั้นต้องหาไม้เนื้อดีแล้วตัดเอาแกนไม้มาใช้ ส่วนลวดลายที่หลากหลายของสีสันบนรูปแกะสลักไม้นั้นได้นำวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กรวดหินสีที่พบริมลำธาร มาประดับ
งานประติมากรรมของสุสานชาวเกอตูในเขตนามดงยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยรูปแกะสลักไม้ที่สะท้อนรูปทรงหรืออารมณ์ที่หลากหลาย เช่น รูปสลักที่แสดงความรู้สึกเศร้าโศกเมื่อญาติพี่น้องเสียชีวิต รูปสลักไม้ที่สะท้อนกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวเกอตู เช่น ชายตีกลอง เป่าแคน หรือผู้หญิงเต้นรำ เป็นต้น
นาย เลยูสิว หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมและสารสนเทศของอำเภอนามดงเผยว่า การสร้างสุสานและรูปแกะสลักของสุสานสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตทางสังคมและความเชื่อพื้นบ้านของเผ่าเกอตู แต่อย่างไรก็ตาม ชาวเผ่าเกอตูที่มีประสบการณ์ในการแกะสลักลวดลายสุสานก็เหลืออยู่ไม่มาก การสร้างสุสานต้องใช้ความพยายามและเงินไม่น้อยบวกกับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เข้ามา ทำให้งานแกะสลักสุสานของชาวเกอตูนั้นไม่ค่อยมีความสมบูรณ์เหมือนเดิม ซึ่งทางการจังหวัดได้จัดทำแผนการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเกอตู โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการบูรณะสุสานและรูปแกะสลักในสุสานเพื่อรักษาคุณค่าดั้งเดิมในชีวิตทางจิตวิญญาณของชาวเกอตู"เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นนี้ของเผ่าเกอตูกำลังได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมการพัฒนา ซึ่งเราพยายามให้งานฟื้นฟูและรักษาวัฒนธรรมพื้นเมืองนั้นได้รับการสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านชีวิตทางจิตวิญญาณของทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตและผู้เสียชีวิตแล้ว"
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ความสามารถของช่างศิลป์ฝีมือได้สร้างความหลากหลายให้แก่สุสานของชุมชนเผ่าเกอตู ดังนั้น การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางศิลปะของงานประติมากรรมสุสานนี้ไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเกอตูเท่านั้น หากยังเปิดทิศทางใหม่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณในพื้นที่ท้องถิ่นเขตเขาของจังหวัดเถื่อเทียนเว้อีกด้วย./.
Thu Hằng-CTV