(VOVWORLD) -ร้านทำผม Mai Lan Hair Salon ตั้งอยู่ที่ถนน หลากลองกวน ในกรุงฮานอย มีความพิเศษมากกว่าร้านทำผมทั่วไปคือเป็นศูนย์การเรียนการสอนอาชีพช่างทำผมให้แก่เยาวชนชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เขตเขาและทุรกันดารจากจังหวัดต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นาง เจิ่นถิลาน เจ้าของร้าน ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความประสงค์ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการตระหนักรู้ พร้อมช่วยให้เยาวชนในพื้นที่มีอาชีพที่มั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
นาง มายลาย สอนอาชีพช่างทำผมให้แก่เยาวชนชนกลุ่มน้อย |
นางสาว ถ่าวถิยี อาศัยในอำเภอเหนิ่มโป่ จังหวัดเดี่ยนเบียน เป็นหนึ่งในนักเรียนที่กำลังได้รับการฝึกอบรมอาชีพช่างทำผมที่ร้าน Mai Lan Hair Salon โดยครอบครัวของเธอมีฐานะยากจนจึงไม่ได้ไปโรงเรียน และต้องไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ ดูเหมือนว่า ชีวิตเธอก็จะไม่ต่างจากเพื่อนๆ วัยเดียวกันในหมู่บ้าน คือแต่งงานและมีลูกเร็ว นางสาว ถ่าวถิยี เล่าให้ฟังว่า
“เห็นเพื่อนๆ อายุยังน้อยแต่แต่งงานและมีลูกเร็ว แล้วลูกๆ ก็ลำบากเหมือนพ่อแม่ หนูมีชีวิตที่ดีกว่านั้น เมื่อได้มาเรียนที่นี่ น้าลานก็ดูแลหนูทุกอย่าง ช่วยเหลือหนูทั้งในเรื่องการฝึกงาน พร้อมที่พักอาศัยและอาหารการกินในแต่ละวัน”
นอกจาก ถ่าวถิยี แล้ว นางเจิ่นถิลาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ มายลาน เจ้าของร้านก็ยังอุปการะเด็กชนกลุ่มน้อยอีก 8 คน ซึ่งสำหรับเด็กชนกลุ่มน้อยทั้ง 8 คน Mai Lan Hair Salon เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองและนางมายลานเปรียบเสมือนคุณแม่ ซึ่งสร้างชีวิตใหม่ด้วยอนาคตอันสดใส่ให้แก่พวกเขา
“หนูเรียนถึงม.3 ก็เลิกเรียน ถ้าไม่ได้มาที่ฮานอย คงก็ทำไร่ทำสวนที่บ้านค่ะ”
“ถ้าผมไม่ได้มาเรียนที่นี่ ผมคงไปทำงานรับจ้างทั่วไปหรือแต่งงานแล้วก็ได้”
ด้วยแนวคิดที่ต้องการสอนอาชีพช่างทำผมที่สั่งสมมานานกว่า 30 ปีและเดินทางไปทำกิจกรรมการกุศลในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ นาง มายลาน ได้ประสานกับครูและอาจารย์ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องในบางอำเภอของจังหวัดเดียนเบียน ลายโจว์ และเตวียนกวาง เพื่อรณรงค์ให้ครอบครัวของเยาวชนชาวม้ง ไต่ ไย้ และไท ที่มีฐานะยากจน อนุญาตให้เด็กๆ ไปอยู่ที่กรุงฮานอยเพื่อเรียนอาชีพช่างทำผมที่ Mai Lan Hair Salon โดยเด็กๆ ส่วนใหญ่เรียนจบชั้น ม.3 และ ม.6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอุปสรรคในช่วงแรกคือพวกเขาสามารถสื่อสารได้เพียงภาษาของชนเผ่าตนเท่านั้น ฉะนั้น ในส่วนทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ คุณลาน ได้มีการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจง่ายและสามารถเรียนรู้งานได้เร็ว คุณมายลาน เผยว่า
“ฉันต้องจัดเป็นกลุ่มย่อยในการสอนพวกเขา สำหรับน้องๆ ที่เพิ่งจบม.3 ต้องศึกษาและฝึกฝนให้มาก โดยต้องมีช่างทำผมหลักหนึ่งคนอยู่ด้วยเพื่ออธิบายให้พวกเขารู้ว่าต้องทำอย่างไร ให้พวกเขามีความคุ้นชินกับงานก่อนและเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องทำ หลังจากนั้น ก็กลับไปเรียนทฤษฎีอีกรอบ ส่วนกลุ่มเด็กๆ นักเรียนที่จบม.6 ก็จะเรียนทฤษฎีก่อน เพราะสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่า”
สำหรับเด็กชนกลุ่มน้อยทั้ง 8 คน Mai Lan Hair Salon เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองและนางมายลานเปรียบเสมือนคุณแม่ |
ควบคู่กับการสอนงานทำผมแล้ว คุณลานยังสอนเกี่ยวกับทักษะการใช้ชีวิตและการสื่อสาร สอนหนังสือ บทกวีและการร้องเพลง เพื่อให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและมีความมั่นใจในการสื่อสารกับคนรอบข้าง นาง มายลาน เผยว่า
“งานที่ทำดูเหมือนง่าย แต่เมื่อได้เรียนในเชิงลึกแล้ว ก็ไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องการความคล่องแคล่วในการพูดคุยกับลูกค้า นอกจากนั้น ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการคำนวณและสารเคมีต่างๆ เพราะการทำผมมีความเกี่ยวข้องหลายอย่างกับสารเคมี ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์เพราะเกี่ยวข้องกับความร้อน แถมยังต้องมีรสนิยมเพื่อรู้ว่ายังไงคือสวยหรือไม่สวย”
ไม่เพียงแค่สอนงานสอนอาชีพให้แก่เด็กๆ เท่านั้น นาง มายลาน ยังแนะแนวการใช้ชีวิตให้แก่พวกเขา โดยหวังว่า จะสามารถช่วยให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่เขตเขามีอาชีพการงานที่มั่นคงและความคิดที่เป็นผู้ใหญ่
“แนวคิดของคนในเมืองแตกต่างกับของคนในหมู่บ้านหนู โดยทุกคนที่บ้านเกิดหนูมักจะแต่งงานเร็ว พ่อแม่หนูก็เร่งหนูเรื่องนี้ แต่หนูยังไม่อยากแต่งงาน ดังนั้น เลยบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า หนูอยากมีอาชีพที่มั่นคงก่อน แล้วค่อยแต่งงานที่หลัง”
“ผมอยากเป็นช่างทำผมและอยากเปิดร้านเป็นของตัวเอง เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ”
หลังจากได้เรียนงานไม่นาน นักเรียนทุกคนจะได้รับเงินสนับสนุนจากคุณมายลาน เพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัวเป็นประจำทุกเดือน ส่วนนักเรียนที่มีทักษะอาชีพในระดับที่ดีแล้ว พวกเขาจะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 8-10 ล้านด่องต่อเดือน
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาข้างหน้า คุณมายลานมีความประสงค์ที่จะทำการอบรมเพิ่มเติมให้แก่เด็กๆ ชนกลุ่มน้อย เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวไปข้างหน้ากับอาชีพช่างทำผม โดยเฉพาะการคัดเลือกและนำนักเรียนบางคน ไปเข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จอีกขั้น พร้อมเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ที่มีฐานะยากจน อีกทั้งช่วยปรับเปลี่ยนแนวคิดและความตระหนักรู้ของพวกเขา เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต.