(VOVWORLD) - เนื่องด้วยจุดแข็งจากแหล่งปลูกลูกพลับแหว่งเควียนในท้องถิ่น นาง เวืองถิเทือง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนาเสิ่ม อำเภอวันหลาง จังหวัดหล่างเซิน ได้ตัดสินใจประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จกับสินค้า “ลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้ง”
นาง เวืองถิเทือง แขวนลูกพลับแต่ละลูกโดยใช้ลวดมัดให้แน่นบนราวตาก |
ในพื้นที่ของโรงงานผลิต “ลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้ง” ตว่านเทือง นาง เวืองถิเทือง ได้แขวนลูกพลับแต่ละลูกโดยใช้ลวดมัดให้แน่นบนราวตาก เธอเผยว่า เมื่อก่อนเธอทำงานเป็นครู แต่เมื่อเห็นว่า ลูกพลับที่เป็นผลไม้พื้นเมืองประสบปัญหา “ผลผลิตยิ่งดี ราคายิ่งตก” ยอดขายไม่มั่นคงมานานหลายปี เธอจึงได้ตั้งใจที่จะก้าวออกจาก “พื้นที่ปลอดภัย” ของตน เพื่อแสวงหาทิศทางใหม่
“ครอบครัวของฉันมีผลผลิตลูกพลับแหว่งเควียนประมาณ 8 พันตันต่อปี แต่ปีไหนที่ผลผลิตยิ่งดี ราคาก็ยิ่งตก แถมยอดขายก็ไม่มั่นคง ทำให้ชาวบ้านตัดต้นทิ้งเป็นจำนวนมาก ฉันคิดว่า การที่ตัวเองสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน ช่วยให้พวกเขาสามารถหลุดพ้นจากความยากจนและมีรายได้ที่มั่นคง”
ในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้นธุรกิจ นาง เทือง ได้ประสบอุปสรรคมากมายในการศึกษาขั้นตอนการตากแห้งลูกพลับให้ได้ตามมาตรฐาน โดยต้องทิ้งลูกพลับจำนวนหลายร้อยกิโลกรัมหลายครั้งเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ลูกพลับ เธอได้ศึกษาประสบการณ์ เทคนิคการปลูก การดูแล และแปรรูปลูกพลับตากแห้งของเมืองดาลัดและประเทศอื่นๆ และเลือกใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นในการผลิต
“ฉันได้ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต ตั้งแต่การแปรรูป การใช้เครื่องปอกเปลือกและเครื่องอบแห้ง ตู้อบความร้อน โรงเรือนกระจก รวมถึงเครื่องบรรจุสูญญากาศ นอกจากนี้ ฉันยังได้ติดต่อกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการถนอมอาหารและผลไม้ เพื่อพัฒนากระบวนการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น”
สำหรับรูปแบบการผลิตขนาดใหญ่และรักษาแหล่งอุปทานที่มั่นคง นาง เวืองถิเทือง ได้ก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรตว่านเทือง เพื่อรับซื้อสินค้าให้แก่ 10 ครัวเรือนที่ปลูกลูกพลับแหว่งเควียนในชุมชน ซึ่งสร้างงานทำให้กับชาวบ้านนับหลายสิบคน นอกจากการผลิตลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้งแล้ว นาง เทือง ยังทำการจำหน่ายลูกพลับสดในท้องถิ่นทางภาคเหนือ ราว 500 ตันต่อเดือน นาง หว่างถิถวี๊ อาศัยในอำเภอวันหลาง จังหวัดหล่างเซิน ได้แสดงความดีใจเมื่อสหกรณ์การเกษตร ตว่านเทือง เซ็นสัญญารับซื้อลูกพลับแหว่งเควียนในราคาที่สูงขึ้นและมั่นคง
“ที่บ้านฉันมีต้นพลับแหว่งเควียน 600 ต้น โดยในแต่ละฤดูกาลจะให้ผลผลิตประมาณ 15 ตัน ซึ่งก่อนหน้านั้น ราคาขายในตลาดไม่คงที่ แต่ปัจจุบัน มีโรงงานผลิตแล้วและฉันก็ได้เซ็นสัญญาด้วย ราคาจึงคงที่มากขึ้นและไม่ต้องกังวลว่า พ่อค้าแม่ค้าคนกลางจะมารับซื้อหรือไม่”
ผลิตภัณฑ์ลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้งของนางเทือง ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ |
เพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์ควบคู่กับเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมืองที่หลากหลาย นาง เทือง ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง 12 แห่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 12 ท้องถิ่นในจังหวัดหล่างเซิน นอกจากนี้ ก็ได้โพสต์รูปภาพและข้อมูลของลูกพลับแหว่งเควียนลงบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูบ ซึ่งทำให้สินค้าก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ปัจจุบัน ลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้ง ของนาง เวืองถิเทือง ได้มีการวางขายและจำหน่ายในท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศ และมีความฝันอันยิ่งใหญ่คือ การพัฒนาเพื่อนำเครื่องหมายการค้า “ลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้ง” สู่ตลาดโลก
“ฉันหวังว่า จะสามารถส่งออกสินค้าหลายรายการของเวียดนามไปยังต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์พื้นเมืองและของภูมิภาค ปัจจุบัน ตลาดของลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ ส่วนแนวทางในอนาคตคือ มีการวางขายทั่วประเทศและจะสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยหรือจีนภายในปี 2025”
ทั้งนี้ ภายหลังการประกอบธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ผลิตภัณฑ์ลูกพลับแหว่งเควียนตากแห้งของนางเทือง ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ โดยมีราคาขายสูงถึง 300,000 ด่อง หรือประมาณ 430 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาลูกพลับสดอยู่ที่เพียง 1,000 ด่อง หรือ 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่สามารถขายออกได้หมด ซึ่งสร้างรายได้ราว 1 พัน 5 ร้อยล้านด่อง หรือประมาณ 2 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น สหกรณ์การเกษตรตว่านเทือง ยังสร้างงานทำและช่วยจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรให้แก่หลายสิบครัวเรือนในชุมชน และทำให้พวกเขารู้สึกมีความมั่นคงในการผลิต จากผลสำเร็จเหล่านี้ นาง เวืองถิเทือง ไม่เพียงแค่มีส่วนร่วมในการเพิ่มมูลค่าของผลไม้พื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นตัวอย่างผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับผู้หญิงหลายคนที่มีความปรารถนาสร้างฐานะจากผลิตภัณฑ์เกษตรในท้องถิ่น./.