(VOVWORLD) -ถึงแม้มีรายได้สูงจากการทำงานในเมืองใหญ่ แต่นายหว่างแซวเฉิน หนุ่มชาวม้งในจังหวัดลาวกายก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อสร้างฐานะด้วยความปรารถนาที่จะพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าบนภูเขาให้เป็นพื้นที่เกษตรสีเขียว
หว่างแซวเฮิน แนะนำวิธีการเพาะพันธุ์ให้ชาวบ้าน |
ที่เรือนเพาะชำต้นอบเชย เรากำลังเห็น นายหว่างแซวเฉิน คุยโทรศัพท์รับใบสั่งจากลูกค้าและกำชับเรื่องการขนส่งต้นพันธุ์อบเชยให้แก่ลูกค้าอย่างระมัดระวัง ในการพูดคุยกับเราเขาเผยว่าหลังไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น 3 ปี เขาได้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องกลและสามารถสอนภาษาญี่ปุ่นให้แก่คนที่อยากไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลับเวียดนาม เขาได้หางานทำที่กรุงฮานอย
“ตอนนั้น ผมคิดว่า การทำงานที่กรุงฮานอยหรือที่เมืองใหญ่ๆอาจจะดีสำหรับเรา แต่ไม่เกิดประโยชน์สำหรับบ้านเกิด ดังนั้น จึงตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่บ้านเกิด ผมมีความรู้จึงสามารถแนะนำให้คนในพื้นที่ทำธุรกิจและสร้างรายได้ในบ้านเกิดโดยไม่ต้องไปทำงานที่อื่น”
นายหว่างแซวเฉิน เกิดที่บ้านนาป้า ตำบลบ๋านเม้ อำเภอซีมากาย จังหวัดลาวกาย โดยเกษตรกรที่เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ของที่นี่ เช่น หนุ่ง ม้ง ทูลาว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดและเลี้ยงปศุสัตว์แบบต่างคนต่างทำบนพื้นที่ภูเขา ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ก็ลำบากมาก หลังกลับบ้านเกิด นายหว่างแซวเฉิน ได้ไปศึกษาเพื่อหารูปแบบการพัฒนาการเกษตรในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ที่บ้านเกิด รวมถึงการไปศึกษารูปแบบการทำเกษตรที่อำเภอตามกี่ จังหวัดกว๋างนามกับเพื่อนๆ
“ที่อำเภอตามกี่ จังหวัดกว๋างนาม เราเห็นเกษตรกรปลูกพืชหลายชนิด เช่น กระถิน ต้นโพ... แทบทุกที่มีแต่ต้นไม้ และก็มีพื้นที่ที่เป็นภูเขาคล้าย ๆ ที่บ้านเกิดผม ผู้คนที่นี่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตอนนั้นผมคิดว่า ทำไมเขาทำได้แต่เราทำไม่ได้ พื้นที่ของเราถูกปล่อยร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราควรปลูกพืชที่มีมูลค่าเหล่านี้”
เมื่อปี 2017 นายหว่างแซวเฉิน ได้นำเงินออมทั้งหมดไปลงทุนเพื่อก่อตั้งสหกรณ์โดยใช้ชื่อบ๋านเม้ ซึ่งหลังการก่อตั้งสหกรณ์จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปี ถ้าพื้นที่ใดมีสภาพอากาศคล้ายคลึงกับที่บ้านเกิดและมีพันธุ์ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ นายเฉินก็จะไปหาซื้อพันธุ์ไม้นั้นที่สถาบันการเกษตรในกรุงฮานอย แล้วนำมาทดลองปลูก และเมื่อการทดลองปลูกประสบความสำเร็จนายเฉินก็จะถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านทำตามปัจจุบันสหกรณ์บ๋านเม้มีเรือนเพาะชำ 2 หลังที่จำหน่ายพันธุ์ไม้มากกว่า 200,000 ต้นต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น ต้นอบเชย ต้นเซือและต้นเลี่ยน เป็นต้น ในสหกรณ์ฯ มีสมาชิกประมาณ 30 คน มีรายได้ประมาณ 7-10 ล้านด่งต่อคนต่อเดือน นาง แหล่งถิเคย จากหมู่บ้าน ซิ้นฉาย ตำบล บ๋านเม้ กล่าวว่า
“ทางสหกรณ์ฯ ให้เราหว่านเมล็ดและเพาะเอง เงินเดือนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนที่เราทำได้ ปัจจุบันที่ตำบล บ๋านเม้ มีแค่สหกรณ์ของนาย เฉิน เท่านั้นที่มีจำนวนพันธุ์พืชมากที่สุด"
สหกรณ์บ๋านเม้สร้างงานทำให้แก่เกษตรกรจำนวนหนึ่ง |
แต่อย่างไรก็ตาม ในการหาวิธีการเพาะพันธุ์พืชที่ดีที่สุด นาย หว่างแซวเฉิน ก็ต้องไปศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ แล้วนำมาสอนให้แก่ชาวบ้าน นอกจากนี้ เขาก็ให้เยาวชนและครอบครัวต่างๆ นำพันธุ์พืชไปปลูกก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินที่หลังโดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนหันมาช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นการปลูกอบเชยเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและสูงขึ้น พร้อมทั้งประสานงานกับสำนักงานการศึกษาและฝึกอบรมของอำเภอซีมากายจัดชั้นเรียน แนะแนวอาชีพและส่งเสริมการทำธุรกิจสตาร์ทอัพให้แก่นักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ
“ผมหวังว่า อำเภพซีมากายจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเราจะพยายามปรับปรุงท้องถิ่นให้พัฒนามากขึ้น ทั้งในเรื่องพันธุ์พืชและการปลูกป่าเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อมีส่วนช่วยให้สภาพอากาศสดใสมากขึ้น การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเหมาะสม ป่าคือเงิน ทะเลคือเงิน ท้องถิ่นของเราไม่มีทะเลแต่มีป่า เราต้องพยายามอนุรักษ์ไว้ให้ได้เพื่อประโยชน์ต่อครอบครัวเราและสังคมด้วย”
ความพยายามของนายหว่างแซวเฉิน ได้ช่วยให้เขาได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นในเขตชนบททั่วประเทศและรางวัล เลืองดิ่งกั๋ว ปี 2020 ซึ่งเป็นรางวัลยกย่องสดุดีเยาวชนที่มีผลงานยอดเยี่ยมในการทำการเกษตรในเขตชนบท.