เคียงข้างสนับสนุนสตรีในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพจากแหล่งทรัพยากรท้องถิ่น
Phương Thoa -  
(VOVWORLD) - การประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรท้องถิ่น เป็นโครงการสนับสนุนสตรีในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพที่สหพันธ์สตรีทุกระดับทั่วประเทศกำลังดำเนินการระยะปี 2017-2025 โดยในพื้นที่อำเภอ ญาบิ่งห์ จังหวัดบั๊กนิงห์ โครงการดังกล่าวได้ช่วยให้กลุ่มสตรีจำนวนมากประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านวิธีการสนับสนุนที่หลากหลาย จนประสบความสำเร็จ พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมในพื้นที่ให้ดีขึ้น
นาง เลืองถิกิมหงอก ที่อาศัยอยู่ในตำบลดงเกิ๊ว อำเภอญาบิ่งห์ จังหวัดบั๊กนิงห์ มีผลผลิตเห็ดฟางและเห็ดนางรมอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน |
โรงเรือนเพาะเห็ด ซึ่งมีเนื้อที่ราว 1,000 ตารางเมตร ของครอบครัวนาง เลืองถิกิมหงอก ที่อาศัยอยู่ในตำบลดงเกิ๊ว อำเภอญาบิ่งห์ จังหวัดบั๊กนิงห์ มีผลผลิตเห็ดฟางและเห็ดนางรมอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน โดยนาง หงอก เผยว่า เมื่อปี 2015 เขาได้ล้อมตาข่ายรอบพื้นที่โรงเรือนขนาด 300 ตารางเมตร พร้อมซื้อเครื่องจักรเพาะเห็ดตามมาตรฐาน Viet Gap จนถึงปี 2018 ด้วยการช่วยเหลือและอบรมจากสหพันธ์สตรีอำเภอญาบิ่งห์ เขาได้เข้าร่วมการประกวด “สตรีสตาร์ทอัพ” ซึ่งโมเดลธุรกิจของเขาได้รับรางวัลพร้อมเงินสนับสนุนเพื่อขยายกิจการจากปริมาณผลผลิตเห็ดเพียงแค่ไม่กี่ร้อยกิโลกรัมในช่วงเริ่มต้นสู่ตัวเลขที่ราว 2 ตันต่อเดือน นาง กิมหงอก เผยว่า
“ฉันโชคดีมากที่ได้รับรางวัลผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหญิงที่มีศักยภาพ พร้อมเงินสนับสนุน เพื่อนำไอเดียมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม อีกทั้งได้ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพแรงงาน ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่รูปแบบการเพาะเห็ด ส่วนสหพันธ์สตรีทางอำเภอก็ได้มีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขาย การบริหารจัดการฟาร์ม รวมถึงด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการแปรรูปและการจัดเก็บสินค้า ซึ่งเชื่อว่า ครอบครัวของฉันจะสามารถสร้างรูปแบบเพาะเห็ดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากเห็ดได้อย่างมั่นคงในอนาคต”
นาง บุ่ยถิมาย ผู้อำนวยการสหกรณ์เพาะไก่เซินมาย |
ส่วนในตำบลด่ายลาย อำเภอญาบิ่งห์ หลังจากให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นาง บุ่ยถิมาย ในการขยายโรงเรือนเพาะไก่ สหพันธ์สตรีอำเภอยังได้ให้ความช่วยเหลือในการเตรียมเอกสารเพื่อจัดตั้งสหกรณ์ พร้อมแนะนำการกรอกใบสมัครขอสินเชื่อตามโครงการ “สนับสนุนสตรีประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ” ของจังหวัดฯ ด้วยวงเงิน 1 พันล้านด่อง เพื่อดำเนินโมเดลธุรกิจการเพาะเลี้ยงไก่พันธ์ ดงต๋าว รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการฟักไข่และจำหน่ายพ่อพันธ์แม่พันธุ์ไก่ จนถึงปัจจุบัน ครอบครัวนาง มาย มีไก่ตัวเมียอยู่ที่ประมาณ 5 พันตัว ในขณะที่จำนวนพ่อพันธ์ไก่อยู่ที่ 200 ตัว รวมถึงตู้ฟักไข่ที่ทันสมัย 2 ตู้ ซึ่งสามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ได้ 7 แสนถึง 1 ล้านตัว สร้างรายได้ราว 3 พันล้านด่อง ต่อปี นาง บุ่ยถิมาย เผยว่า
“ตั้งแต่ที่เริ่มดำเนินธุรกิจเพาะเลี้ยงไก่ พวกเราได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวด อีกทั้งได้รับการอำนวยความสะดวกจากสหพันธ์สตรีทุกระดับในการสมัครขอสินเชื่อ รวมถึงการเตรียมเอกสารต่างๆ ตามระเบียบราชการพร้อมคำแนะนำต่างๆ เพื่อจัดตั้งสหกรณ์อย่างรวดเร็วและสะดวกที่สุด”
ในตลอด 5 ปีที่การปฏิบัติโครงการ “สนับสนุนสตรีในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ” สหพันธ์สตรีอำเภอ ญาบิ่งห์ ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งสหกรณ์ 5 แห่ง และกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษที่ใช้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน 3 แห่ง โดยเฉพาะทางสหพันธ์ฯ ได้แนะนำวิธีการแปรแนวคิดสตาร์ทอัพให้เป็นรูปธรรม พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากสมาชิก เพื่อเสนอต่อธนาคารนโยบายสังคมของอำเภอในการพิจารณาอนุมัติ อีกทั้งแนะนำการจัดเตรียมเอกสารเพื่อสามารถขอเงินกู้ได้อย่างสะดวก ปัจจุบัน มีสตรีสตาร์ทอัพที่ได้รับสินเชื่อพิเศษทั้งหมด 36 คน รวมวงเงินสินเชื่อให้กู้ราว 3 หมื่น 1 พันล้านด่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้พวกเขาสามารถลงทุนขยายการผลิตและประกอบธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว นาง เจิ่นถิฮวา ประธานสหพันธ์สตรีอำเภอ ญาบิ่งห์ จังหวัดบั๊กนิงห์ เผยว่า
“พวกเราได้ประสานงานกับธนาคารนโยบายสังคมของอำเภอในการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอต่อสหพันธ์สตรีของจังหวัด ซึ่งมีส่วนช่วยเปิดโอกาสให้บรรดาสมาชิกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสตรีสตาร์ทอัพให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้น ก็จะมีการแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนและเอกสารเพื่อให้สามารถขอสินเชื่อให้ได้เร็วที่สุด พวกเราร่วมกับหน่วยงานเกษตรอำเภอเพื่อให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ การเตรียมเอกสารเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร วิธีการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน ฝึกอบรมและแนะแนวทักษะความสามารถในการบริหารจัดการ สร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ประยุกต์ใช้ในการผลิต นอกจากนี้ พวกเราได้ประสานงานและร่วมมือกับกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและสถานประกอบการหลายราย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการจัดจำหน่ายผลผลิตให้แก่บรรดาสมาชิกสตาร์ทอัพหญิง”
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนสตรีเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นได้ช่วยสนับสนุนสมาชิกสตรีในการพัฒนาการผลิตและประกอบธุรกิจ สร้างงานทำให้แก่แรงงานท้องถิ่นและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันสตรีสตาร์ทอัพต่างๆ ถือเป็นเวทีใหญ่ที่มีส่วนร่วมเสริมสร้างศักยภาพ ความกระตือรือร้น ความรู้ความสามารถ จิตใจแห่งการกล้าคิดกล้าทำและสร้างแรงจูงใจอันแข็งแกร่งให้แก่สตรีทั่วประเทศในการเข้าร่วมจัดตั้งโมเดลธุรกิจที่หลากหลายรูปแบบ เช่น สถานประกอบการ สหกรณ์ กลุ่มความร่วมมือ หรือธุรกิจครัวเรือน เพื่อพัฒนาภาคการผลิตและประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มรายได้และสร้างฐานะที่ดีขึ้นให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม.
Phương Thoa