ส่งเสริมบทบาทของการขนส่งทางน้ำภายในประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
(VOVWORLD) -หัวข้อในปีนี้ของวันแห่งปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม คือ “น้ำสำหรับทุกคน” โดยมีเป้าหมายเพื่อย้ำถึงบทบาทสำคัญของน้ำในชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ จากการมีแม่น้ำกว่า 2,360 สาย รวมระยะทาง 41,900 กม. เวียดนามมีความได้เปรียบในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางน้ำ ดังนั้น หน่วยงานคมนาคมและขนส่ง ทางการปกครองจังหวัดและนครต่างๆ ได้ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมบทบาทสำคัญของการขนส่งทางแม่น้ำในระบบเศรษฐกิจ
นาย เหงียนซวนซาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและการขนส่ง |
ศักยภาพการขนส่งทางทะเลของเวียดนามอยู่อันดับที่ 4 ของโลกเนื่องจากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการมีแม่น้ำสายต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง มีท่าเรือทะเล 12 แห่งและท่าเรือธรรมดา 35 แห่ง สามารถรองรับเรือขนาด 20,000 เดทเวทตัน นอกจากนี้ ในภูมิภาคนี้ ยังมีท่าเรือในประเทศ 57 แห่งและจุดจอดเรือ 4,000 แห่ง ซึ่งช่วยลดความแออัดในการขนส่งทางบกและต้นทุนการขนส่ง การขนส่งทางน้ำจากนครโฮจิมินห์ไปยังจังหวัดต่างๆในภาคตะวันตก โดยเฉพาะหลังจากที่โครงการขยายคลองเจอะก๋าว ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเตี่ยนยางกับแม่น้ำหว่ามก๋อดง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง แล้วเสร็จจะช่วยให้เรือสามารถขนส่งสินค้าไปได้เกือบทุกจังหวัดในเขตตะวันตกตอนใต้ นายเยืองแทงฮึง ผู้อำนวยการโครงการคมนาคมทางน้ำสังกัดกระทรวงคมนาคมและการขนส่ง เผยว่า
“โครงการขยายคลองเจอะก๋าว จะเอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจถ้าหากเสร็จเรียบร้อย ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านคลองนี้จะอยู่ที่ประมาณ 70 -80 ล้านตันต่อปี ซึ่งช่วยให้การส่งออกสินค้าจากเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงไปยังท่าเรือไซ่ง่อน นครโฮจิมินห์และท่าเรือบ่าเหรียะหวุงเต่าเกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูง”
ในภาคเหนือเวียดนาม เส้นทางขนส่งทางน้ำจังหวัดกว๋างนิงห์ - จังหวัดไฮฟอง - เมืองเหวียดจี จังหวัดฟู้เถาะ มีระยะทางกว่า 200 กม. ซึ่งนี่เป็นเส้นทางสำหรับการขนส่งคอนเทนเนอร์ทางน้ำไปยังท่าเรือทะเล นาย เหงียนซวนซาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและการขนส่ง เผยว่า
“ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ทางกระทรวงฯ ได้กำชับให้กรมทางน้ำภายในประเทศศึกษาการเปิดใช้เส้นทางขนส่งทางน้ำนครไฮฟอง – เมืองเหวียดจี เป็นการนำร่อง นอกจากนี้ เราได้ประสานงานกับสำนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อจัดทำแผนอำนวยความสะดวกด้านระเบียบราชการให้แก่เรือขนส่ง”
ควบคู่กับการก่อสร้างเส้นทางขนส่งทางน้ำภายในประเทศเป็นการนำร่อง ทางภาครัฐยังให้ความสนใจถึงรูปแบบการขนส่งแบบครบวงจรอย่างเช่นท่าเรือเก๊วหวอในจังหวัดบั๊กนิงห์ที่เป็นท่าเรือขนส่งสำคัญที่เชื่อมกับเส้นทางขนส่งทางบกของจังหวัดบั๊กยาง จังหวัดบั๊กนิงห์ กรุงฮานอยและจังหวัดท้าเหงียน นาย เหงียนซวนซาง เผยต่อไปว่า
“ทางกระทรวงฯ ยังนำเสนอแผนการพัฒนาในระยะกลาง โดยในภาคใต้ โครงการขยายคลองเจอะก๋าวได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการพัฒนาระเบียงการขนส่งตะวันออก – ตะวันตกตอนใต้ก็ได้รับการอนุมัติ ส่วนในภาคเหนือ นอกจากการใช้เงินทุนจาก World Bank แล้ว ยังมีการปฏิบัติโครงการต่างๆ ในระยะกลางเพื่อยกระดับสะพานแม่น้ำด๊วง ซึ่งหวังว่า โครงการเหล่านี้จะช่วยแก้ไขอุปสรรคในการขนส่งสินค้าทางน้ำ”
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วส่งผลให้ระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางรถไฟ ทางอากาศและทางน้ำต้องพัฒนาตามไปด้วย ดังนั้น การพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศถือเป็นมาตรการสำคัญเพื่อช่วยลดความแออัดให้แก่การขนส่งทางบก ลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความรวดเร็วในการขนส่งและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ.