เศรษฐกิจเวียดนามช่วงปี 2021-2025 โอกาสและความท้าทายจากข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ๆ
(VOVWORLD) -ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคน มีความเป็นไปได้สูงที่เวียดนามจะสามารถธำรงอัตราการขยายตัวในระดับสูงได้ถ้าหากใช้ความได้เปรียบของข้อตกลงการค้าฉบับต่างๆ โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ได้อย่างเต็มที่
|
ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะปี 2016-2020 เวียดนามสามารถธำรงอัตราการขยายตัวของจีดีพีให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างสม่ำเสมอ คือร้อยละ 6.8 โดยเฉพาะปี 2018 ได้บรรลุร้อยละ 7.08 ซึ่งถ้ามองในภาพรวมก็ถือว่าอัตราการขยายตัวจีดีพีได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ภาวะเงินเฟ้อได้รับการควบคุมและหนี้สาธารณะมีแนวโน้มลดลง แต่อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการขยายตัวยังคงอาศัยเงินทุนเป็นส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมการประกอบมีการพัฒนาอย่างล่าช้า ภาคการบริการที่มีมูลค่าสูงยังมีส่วนร่วมในระดับต่ำ ค่าใช้จ่ายในด้านโลจิสติกอยู่ในระดับสูง การส่งออกต้องอาศัยสถานประกอบการที่มีเงินทุนจากต่างประเทศ สถานประกอบการเวียดนามส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าโลก ทักษะความสามารถด้านนวัตกรรมยังไม่สูงมากนัก ในการสัมมนาเชิงวิชาการระหว่างประเทศภายใต้หัวข้อ “ศักยภาพของเศรษฐกิจเวียดนามระยะปี 2021-2025 โอกาสและความท้าทายจากข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่” ที่มีขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ บรรดาผู้แทนได้ระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้ต่อดัชนีต่างๆของเศรษฐกิจเวียดนาม โดยได้ให้ข้อสังเกตว่า ในระยะปี 2021-2025 เศรษฐกิจเวียดนามจะประสบทั้งโอกาสและอุปสรรค ดร. ดั๋งดึ๊กแองห์ รองผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและพยากรณ์เศรษฐกิจ – สังคมแห่งชาติได้ย้ำว่า “ในสภาวการณ์โลกปัจจุบันที่เกิดการปะทะต่างๆ มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราการขยายตัวและการค้าจะลดลง การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะเปลี่ยนโฉมหน้าและแหล่งเงินลงทุน ควบคู่กันนั้นจะมีแนวโน้มของทั้งการคุ้มครองการค้าและการค้าเสรี กำแพงภาษีจะลดลงแต่กำแพงอื่นๆจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลก นอกจากนี้ ความท้าทายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรและความมั่นคงทั้งรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ต่างส่งผลกระทับต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและเวียดนาม”
ศูนย์ข้อมูลและพยากรณ์เศรษฐกิจ – สังคมแห่งชาติได้มีการพยากรณ์เกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะใหม่รวมสองฉบับ โดยฉบับแรกระบุว่า จีดีพีจะบรรลุร้อยละ 7 ต่อปี ส่วนฉบับที่ 2 ระบุว่าจีดีพีจะบรรลุร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งการพยากรณ์นี้ได้อ้างอิงสถานการณ์ของเศรษฐกิจภายในประเทศและโลก โดยเฉพาะผลจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ เช่น ข้อตกลงซีพีทีพีพีและข้อตกลงอีวีเอฟทีเอ ข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้ต่างมีคำมั่นที่กว้างขวางเมื่อเทียบกับข้อตกลงการค้าเสรีฉบับอื่นๆ ซึ่งส่งผลดีต่อการขยายตัว การส่งออก โดยเฉพาะในตลาดของประเทศสมาชิก และอาจช่วยให้จีดีพีของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และร้อยละ 1.3 ภายในปี 2030 คาดว่า มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสหภาพยุโรปถึงปี 2030 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 และการส่งออกไปยังประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกของข้อตกลงซีพีทีพีพีถึงปี 2035 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 ควบคู่กันนั้น การปฏิรูปกลไกและบรรยากาศการลงทุนจะส่งผลดีต่อด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องหาทางใช้ผลประโยชน์จากความได้เปรียบดังกล่าวอย่างเต็มที่ นาย เลซวนซาง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้เสนอความคิดเห็นว่า “สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปรับปรุงกฎหมาย ต้องเป็นฝ่ายรุกในการวิจัย จัดทำและวางแผนเกี่ยวกับนโยบายอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประกอบ นโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและนโยบายเกี่ยวกับการดึงดูดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่ง 3 นโยบายนี้ต้องมีเนื้อหาที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องหาทางให้สถานประกอบการของเวียดนามสามารถใช้โอกาสนี้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เปิดตลาดเวียดนามให้สถานประกอบการต่างประเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ในขณะที่สถานประกอบการเวียดนามไม่สามารถตอบสนองได้”
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การลงนามและให้สัตยาบันข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ๆนำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทายให้แก่ระบบเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป หวังว่า จากการตระหนักได้ดี การเข้าร่วมของทั้งระบบการเมืองและความพยายามของสถานประกอบการทุกแห่ง เศรษฐกิจเวียดนามจะกลายเป็น “เสือ” แห่งภูมิภาคและโลกโดยเร็ว.