การร้องเพลงทำนองเติมกับการเป่าปี่สะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าขมุในจังหวัดเหงะอาน
Minh Lý -  
(VOVWORLD) - ชนเผ่าขมุเป็นชนกลุ่มน้อย1ใน5เผ่าสาขามอญ-เขมรเหนือ มีประชากรกว่า 7แสนคน โดยชนเผ่าขมุในจังหวัดเหงะอานคิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนชนเผ่าขมุทั่วประเทศ วัฒนธรรมของชนเผ่าขมุมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะเครื่องดนตรีและการร้องเพลงทำนองเติม ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และปฏิบัติในชุมชน ในรายการสารคดีของเราวันนี้ ขอเชิญคุณผู้ฟังร่วมกับผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเวียดนามศึกษาเกี่ยวกับการร้องเพลงทำนองเติมกับการเป่าปี่ของชนเผ่าขมุในจังหวัดเหงะอานในโอกาสที่คณะศิลปินชนเผ่าขมุจังหวัดเหงะอานเดินทางมาแสดงในกรุงฮานอย
ปี่ของชนเผ่าขมุ |
ที่ลานหน้าห้องจัดแสดงและสาธิตวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนาม ศิลปินชนเผ่าขมุ 2 คนที่เป็นนักร้องหญิงและนักดนตรีเป่าปี่ อายุ 40 ปีกำลังฝึกซ้อมก่อนการแสดง โดยนักร้องหญิงใส่เสื้อแขนยาวสีดำ เสื้อข้างในสีแดงและกระโปรงสีดำยาวถึงข้อเท้า ศีรษะโพกผ้าที่มีหลากหลายสีสัน มีลวดลายพื้นเมืองและสวมสร้อยคอเงิน ส่วนนักดนตรีเป่าปี่เป็นผู้ชายใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวสีดำ กำลังเป่าปี่ที่มีความยาว 1เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1เซนติเมตร โดยใช้นิ้วมือปิดเปิดที่รู 3 รูบนลำปี่
ศิลปินกุตมิงกวางจากหมู่บ้านห้วยเถอะ ตำบลฮิวเกี่ยม อำเภอกี่เซิน จังหวัดเหงะอาน ได้เผยว่า ผู้ชายชนเผ่าขมุมักจะเป่าปี่ให้ผู้หญิงร้องเพลงทำนองเติมในโอกาสเทศกาลตรุษเต๊ต งานบุญข้าวใหม่และการดื่มเหล้าอุ สำหรับการทำปี่นั้น ชาวขมุต้องปีนขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อเลือกไผ่ป่าที่มีอายุ2ปี"ผมไปตัดยอดไม้ไผ่เอาไว้ทำปี่ โดยจุกลิ้นปี่ใช้ลำต้นทำ ซึ่งจะให้เสียงแค่เสียงเดียวเท่านั้น ดังนั้นต้องใช้ลำต้นอีก 3-6 ชิ้นที่มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตรแล้วเชื่อมต่อกันเพื่อให้ได้เสียงครบ โดยแต่ละชิ้นห่างกันประมาณ 3 เซนติเมตร นอกจากนี้ ต้องเจาะรูบังคับเสียง 3 รู ซึ่งในระหว่างการทำนั้น ถ้ามีความบกพร่องในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็ต้องไปตัดไม้ไผ่มาทำใหม่"
วิธีการทำปี่ |
ศิลปินกุตมิงกวางเผยต่อไปว่า ปี่คือหนึ่งในเครื่องดนตรีที่สะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าขมุ โดยเครื่องดนตรีร้อยละ90 ของชนเผ่าขมุทำจากไม้ไผ่ ส่วนดร.วีวันอานจากแผนกวิจัยและสะสมของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนามได้เผยว่า การร้องเพลงเติมที่บรรเลงด้วยปี่นั้นสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าขมุอย่างสมบูรณ์"เพลงเติมคือเพลงพื้นเมืองของชนเผ่าขมุ โดยเนื้อเพลงกล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความลำบากต่างๆ รวมทั้งความรักคู่หนุ่มสาว ความสวยงามของหมู่บ้าน การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงานและพิธีไหว้เจ้าขอพรให้แก่ทารกครบเดือน โดยผู้ชายมักจะเป่าปี่ให้ผู้หญิงร้องเพลงทำนองเติม หรือ มีการร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายหญิงและฝ่ายชายที่เป็นคู่หนุ่มสาวหรือพ่อแม่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว"
ศิลปินจากหมู่บ้านห้วยเถอะ ตำบลฮิวเกี่ยม อำเภอกี่เซิน จังหวัดเหงะอาน |
คุณผู้ฟังกำลังฟังการร้องเพลงทำนองเติมจากการขับร้องของศิลปินหม่องถิยุงจากหมู่บ้านห้วยเถอะ ตำบลฮิวเกี่ยม อำเภอกี่เซิน จังหวัดเหงะอาน โดยเนื้อเพลงกล่าวถึงการที่คุณแม่เตือนลูกสาวเกี่ยวกับสิ่งที่ควรและไม่ควรทำก่อนงานแต่งงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจและอวยพรให้ครอบครัวฝ่ายชายมีเงินทองตลอดและไม่ตำหนิครอบครัวฝ่ายหญิง นายหลือวันเลิม สมาชิกคณะศิลปินชนเผ่าขมุจากหมู่บ้านห้วยเถอะ ตำบลฮิวเกี่ยม อำเภอกี่เซิน จังหวัดเหงะอานได้เผยว่า ในงานแต่งงาน จะมีการร้องโต้ตอบกันระหว่างครอบครัวฝ่ายหญิงและครอบครัวฝ่ายชาย"ครอบครัวฝ่ายหญิงจะร้องว่า ครอบครัวดิฉันมีฐานะยากจน ลูกสาวอายุยังน้อยจึงขาดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เช่น การนอนดึกตื่นเช้าและการทำความสะอาดบ้าน ส่วนครอบครัวฝ่ายชายจะร้องตอบว่า ผมจะรับผิดชอบในการอบรมบ่มสอนลูกสะใภ้เหมือนลูกสาวของตนเอง ซึ่งหลังการร้องโต้ตอบกัน 2ครั้ง ครอบครัวฝ่ายหญิงจะยอมส่งลูกสาวไปอยู่ที่บ้านของครอบครัวฝ่ายชาย"
นอกจากการร้องเพลงทำนองเติมในงานแต่งงานแล้ว ชาวขมุยังร้องเพลงทำนองเติมในงานบุญข้าวใหม่ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมทุกปี โดยจะมีการทำอาหารที่อร่อยและเหล้าเพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าและมีการร้องเพลงทำนองเติมเพื่อขอพรให้ชาวบ้านมีสุขภาพแข็งแรงและการเก็บเกี่ยวได้ผลดี นายหลือวันเลิม เผยต่อไปว่า "เพลงทำนองเติมได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษและมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย รวมทั้งมีการแต่งเพลงใหม่ๆด้วย"
นอกจากอนุรักษ์ศิลปะการร้องเพลงทำนองเติมในกิจกรรมต่างๆในชุมชนแล้ว จากการสนับสนุนของทางการปกครองในท้องถิ่น บรรดาศิลปินชนเผ่าขมุได้ไปแสดงศิลปะการร้องเพลงทำนองเติมในท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ เช่น จังหวัดเถื่อเทียนเว้ เมืองวิง จังหวัดเหงะอานและกรุงฮานอยเพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์วัฒนธรรม อีกทั้งมีส่วนร่วมให้การศึกษาเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมนามธรรม ตลอดจนอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของประชาชาติในการผสมผสานเข้ากับกระแสโลก.
Minh Lý