ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเด็กออทิสติกปรับตัวเข้ากับชุมชน
Bùi Hằng -  
(VOVWORLD) - ตามรายงานสถิติล่าสุด เวียดนามมีผู้ป่วยออทิสติกเกือบ 2 แสนคน และจำนวนเด็กออทิสติกนับวันเพิ่มมากขึ้น โดยในจำนวนเด็ก 100 คนมีเด็กออทิสติก 1 คน ดังนั้นต้องมีการร่วมแรงร่วมใจของสังคมเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ปรับตัวเข้ากับชุมชน
ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเด็กออทิสติกปรับตัวเข้ากับชุมชน (หนังสือพิมพ์แรงงาน)
|
คุณ มายแอง ในเขต หว่างมาย กรุงฮานอย ได้เล่าเรื่องที่ตื้นตันใจเกี่ยวกับช่วงเวลาให้การดูแลลูกชาย เหงียนจุงเหียว เกิดปี 1999 ที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกว่า ลูกชายของเธอเกิดในช่วงที่โรคออทิสติกยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เมื่อพาลูกชายไปหาหมอ ก็ไม่มีใครทราบว่า ลูกชายป่วยเป็นโรคอะไร มีครั้งหนึ่ง คุณ มายแอง บังเอิญพบสาเหตุที่ทำให้ลูกชายมีอาการไม่เหมือนปกติเมื่ออ่านหนังสือที่บรรยายเกี่ยวกับโรคออทิสติก และนี่คือครั้งแรกที่คุณ มายแอง รู้จักโรคออทิสติก จึงรีบพาลูกชายไปยังโรงพยาบาลเด็กส่วนกลางเพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียด ซึ่งหมอก็สรุปว่า ลูกชายของเธอที่ขณะนั้นอายุ 2 ปี 6 เดือนป่วยเป็นโรคออทิสติก ในช่วงเวลาดังกล่าวความรู้เกี่ยวกับโรคออทิสติกยังมีไม่มากนัก โดยต้องแลกเปลี่ยนความรู้กับคุณแม่คนอื่น ๆ ที่มีลูกป่วยเป็นออทิสติกและข้อมูลผ่านหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีไม่กี่เล่มและหาคนแปลลำบากมาก คุณ มายแอง เผยว่า “ครอบครัวดิฉันมีลูกที่ป่วยเป็นออทิสติก ในช่วงที่โรคนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในเวียดนาม ดังนั้นวิธีรักษาต้องศึกษาจากต่างประเทศ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสอน พ่อแม่ต้องเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กออทิสติกด้วยตนเอง เราต้องหาและฝึกอบรมครูเอง”
จากเด็กที่ไม่อยากกิน ไม่อยากนอนและชอบกรีดร้อง ถึงตอนอายุประมาณ 5 ขวบ เหียวก็เริ่มฝึกพูด หลังจากนั้น ๑ ปี เหียวเริ่มชอบเล่นกีตาร์และวาดภาพ ขณะนี้ เหียว เล่นกีตาร์เก่งมาก วาดภาพได้หลายภาพและทำอาหารได้หลายอย่าง ภายหลัง ๒๐ ปีที่คอยช่วยเหลือลูกชาย คุณ มายแอง ก็ประสบความสำเร็จในการช่วยให้ลูกชายปรับตัวเข้ากับสังคม
ปัจจุบัน เรื่องของคุณ มายแอง มิใช่เป็นเรื่องพิเศษ เพราะคาดว่าในเวียดนามมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกเกือบ ๒ แสนคน รวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และมีจังหวัด นคร สำนักงานและองค์การหลายแห่งได้ก่อสร้างโรงเรียน หรือศูนย์ให้การช่วยเหลือดูแล ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคออทิสติก เช่นศูนย์ “เพื่ออนาคตของเด็กออทิสติก” ในกรุงฮานอย เป็นต้น
ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆที่หลากหลายเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กออทิสติก |
ถ้านี่ไม่ใช่ชั้นเรียนสำหรับเด็กออทิสติก การทักทายของเด็กชายชื่อบี อายุ ๑๕ ปีกับคุณครูจะไม่สร้างความแปลกใจให้แก่ทุกคน เด็กชาย บี ก็เหมือนเด็กออทิสติกคนอื่นๆที่กำลังรักษาตัวที่ศูนย์ “เพื่ออนาคตของเด็กออทิสติก” ที่มีข้อจำกัดในการติดต่อทางสังคม การช่วยให้เด็กๆเหล่านี้มีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ถึงแม้จะนิดหน่อยก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีแล้ว คุณ เหงียนถิเหื่อง ครูในศูนย์ “เพื่ออนาคตของเด็กออทิสติก” เผยว่า “การสอนเด็กออทิสติกไม่อาจทำแบบรีบร้อนได้ ต้องมีความอดทนและทำทีละขั้นตอน เราต้องทราบข้อจำกัดของเด็กแล้วถึงจะเริ่มจัดทำหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ในฐานะเป็นคุณแม่ ดิฉันมองเด็กๆ เป็นลูกของดิฉัน เด็กๆก็ให้ความเคารพตนเองและค่อยเปิดใจ ดิฉันรู้สึกมีความสุขมาก”
คุณ เหงียนถิหงอกบิ๊ก ผู้อำนวยการศูนย์ “เพื่ออนาคตของเด็กออทิสติก” เผยว่า เด็กออทิสติกพูดไม่เก่ง พูดช้าและพูดซ้ำ ดังนั้นต้องสอนเด็กฝึกพูดทีละคำและทีละประโยคง่ายๆ เช่น แม่ ย่า การฝึกพูดนั้นก็แล้วแต่เด็ก ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ๑ ถึง ๒ ปีหรือนานกว่านั้น “เมื่อก่อน ถ้าเด็กออทิสติกไปเรียนหนังสือ ครูก็ไม่รู้ว่าออทิสติกคืออะไร แต่ปัจจุบัน หลายคนรู้จักโรคนี้แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีต่อเด็กๆ เพราะพวกเขาจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติและได้รับการยอมรับในชุมชนมากขึ้น”
ไม่มีหลักสูตรการสอนสำหรับเด็กออทิสติก ครูส่วนใหญ่ต้องดูอาการของเด็กแต่ละคนเพื่อมีวิธีการสอนเฉพาะ คุณเหงียนถิหงอกบิ๊ก เผยต่อไปว่า ในจำนวนเด็กออทิสติก มีเด็กบางคนสามารถฟื้นฟูได้ก่อนเกณฑ์อายุเข้าโรงเรียนและสามารถไปเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กปรกติ แต่ก็มีเด็กที่อายุเกินเกณฑ์ที่ยังมีปัญหาในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์และสมองไม่สามารถฟื้นฟูให้เป็นปกติได้ ซึ่งถือเป็นเด็กด้อยโอกาสที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ “เมื่อก่อนเข้าใจกันว่าโรคออทิสติกเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ ๒ ถึง ๓ ขวบ แต่อันที่จริง นี่เป็นโรคที่ สามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด การตรวจพบโรคนี้ได้เร็วจะช่วยบรรเทาอาการ ถ้าพ่อแม่พบว่าลูกพูดช้าก็ควรพาไปหาหมอ และพยายามศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคออทิสติก และใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น”
เด็กออทิสติกในเวียดนามถูกระบุให้เป็นเด็กพิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะดวกเพื่อให้เด็กได้รับสิทธิพิเศษของรัฐสำหรับคนพิการ ซึ่งมีส่วนร่วมช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจและความหวังเพื่อปรับตัวเข้ากับชุมชน./.
Bùi Hằng