(VOVWORLD) - จากวันแรกที่กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินลงพื้นที่ทางภาคใต้เวียดนามเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ถึงทุกวันนี้ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่คงต้องรับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัส โดยทางการปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงพยายามเดินเคียงข้างกับพวกเขาในภารกิจการบรรเทาความเจ็บปวดจากสารพิษสีส้ม
ให้การดูแลเอาใจใส่ต่อผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซิน (VNA) |
นครดานังเป็นหนึ่งในท้องถิ่นที่กำลังปฏิบัติภารกิจบรรเทาความปวดร้าวจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน ที่นี่มีจำนวนผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินประมาณ 5 พันคน ซึ่งในนั้นเป็นเด็กถึง 1,400 คน รวมถึงหลายครอบครัวมีผู้ได้รับผลกระทบ 2-3 คน โดยพบความพิการหลายประเภท เช่น ความพิการทางการได้ยิน ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา หรือความพิการทางการเคลื่อนไหว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินนครดานังได้รณรงค์ให้องค์กรการกุศลต่างๆ และผู้ใจบุญหลายคนบริจาคเงินนับแสนล้านด่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฟันฝ่าความยากลำบาก นาง โห่ถิล้าง อาศัยในตำบลหว่าเฟือก อำเภอหว่าวาง ซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินหลายคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากส่วนท้องถิ่น โดยเขาเองได้รับเงินสวัสดิการจำนวน 600,000 ด่งต่อเดือน พร้อมการอำนวยความสะดวกในการเปิดร้านขายของชําเพื่อหาเงินเลี้ยงลูกและดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งล่าสุด เขาได้รับการช่วยเหลือในการสร้างบ้านหลังใหม่ นี่ถือเป็นความสุขครั้งใหญ่สำหรับครอบครัว
“สมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินแห่งนครดานัง ได้ช่วยสร้างบ้านให้กับครอบครัวของฉัน อีกทั้งยังให้เงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ ซึ่งช่วยให้ฉันฝ่าฟันความยากลำบากและมีกำลังใจสู้ชีวิตมากขึ้น”
ส่วนในพื้นที่จังหวัดซ๊อกจัง ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 สมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินทุกระดับได้ช่วยสร้างบ้านใหม่เพิ่ม 14 หลัง พร้อมจัดกิจกรรมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอีกมากมาย รวมมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านด่ง นาย เหงวียหุ่ง นายกสมาคมฯ เผยว่า
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้มีการดำเนินกิจกรรมมากมายเพื่อระดมทรัพยากรสำหรับการสร้างบ้านใหม่ พร้อมสนับสนุนเงินทุนเพื่อการดำรงชีพด้านการเลี้ยงปศุสัตว์และการเพาะปลูก รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซิน และอีกหลายๆ โครงการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อบรรเทาความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันและปรับตัวให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาคมฯ ที่พยายามทำมาโดยตลอดในทุกๆ ปี”
พลโท เหงวียนหิวจิ๊ง ประธานสมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินเวียดนาม (VNA) |
ในตลอด 13 ปีที่ผ่านมา “โครงการความร่วมมือเพื่อบรรเทาความปวดร้าวจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซิน” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินของจังหวัดต่างๆ พร้อมสมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินส่วนกลางของเวียดนาม ได้รณรงค์ให้ประชาชนและทหารทั่วประเทศร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาสุขภาพ การฝึกอบรมอาชีพ การก่อสร้างและซ่อมแซมบ้านเอื้ออาทร พร้อมมอบชุดของขวัญให้แก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินที่มีฐานะยากจนและลำบาก โดยในปีนี้ สมาคมผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินส่วนกลาง ได้ตั้งเป้าที่จะระดมเงินกว่า 2 พันล้านด่ง พลโท เหงวียนหิวจิ๊ง ประธานสมาคมฯ กล่าวว่า
“ปัจจุบัน ยังมีผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินหลายล้านคนในเวียดนาม โดยพวกเขามีโรคร้ายติดตัวที่เป็นอันตรายหลายโรค พร้อมความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือและการแบ่งปันจากสังคมเพื่อการบรรเทาทุกข์และความยากลำบากที่ต้องประสบ”
ควบคู่กับการสนับสนุนในการดำรงชีวิตให้แก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย ตั้งแต่ปี 2010 มีทหารผ่านศึกและอดีตทหารอาสาเวียดนามจำนวนมากได้เข้าร่วมโครงการอบไอน้ำเพื่อการดีท็อกซ์ที่ศูนย์คุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินในจังหวัดและเมืองต่างๆ เพื่อมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพให้แก่สัมผัสสารพิษสีส้มไดอ๊อกซิน นาย เจิ่นซวนด่าย ทหารผ่านศึกจากจังหวัดนิงบิ่งห์ เผยว่า
“เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ที่ผมทานอาหารไม่ค่อยรู้สึกถึงรสชาติ นอนน้อย และรู้สึกคันภายในร่างกายมาก แต่ตอนนี้ ผมรู้สึกอาการนั้นลดลง นอนได้เยอะขึ้น ทานอาหารก็รู้สึกอร่อยถูกปาก จิตใจก็รู้สึกสดชื่นมากขึ้น”
นอกเหนือจากการอบไอน้ำเพื่อการดีท็อกซ์แล้ว กลุ่มผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินยังได้รับการดูแลสุขภาพ ได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่ศูนย์ฯ รวมถึงการเข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมและแนะแนวอาชีพสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซิน
ทั้งนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมที่มีความหมายต่าง ๆเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้เคราะห์ร้ายจากสารพิษสีส้มไดอ๊อกซินในท้องถิ่นต่างๆ ของเวียดนาม ซึ่งช่วยสร้างพลังใจและชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้เคราะห์ร้าย./.