(VOVWORLD) - จากเหตุดินถล่มเมื่อเช้าวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้ 33 ครอบครัวใน หมู่บ้านหนู่ ตำบลฟุ๊กแค๊ง อำเภอบ๋าวเอียน จังหวัดหล่าวกาย ถูกฝังกลบอยู่ใต้โคลน มีผู้เสียชีวิต 57 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 10 ราย โดยแค่เพียงพริบตา เด็กๆ หลายคนในหมู่บ้านแห่งนี้ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าและตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากทางการปกครองท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานและกลุ่มผู้อุปถัมภ์มากมาย ซึ่งในนั้น มีคุณครู เหงวียนซวนคาง ประธานคณะกรรมการและผู้อำนวยการโรงเรียน Marie Curie ในกรุงฮานอย ที่นักเรียนหลายรุ่นเรียกเขาว่า “คุณปู่” โดยคุณครูวัย 75 ปีคนนี้ได้ตัดสินใจให้โรงเรียน Marie Curie เป็นสถานที่รับดูแลเด็กๆ อายุน้อยกว่า 15 ปีจากหมู่บ้านหนู่จนพวกเขาอายุครบ 18 ปี
คุณครู เหงวียนซวนคาง |
หมู่บ้านหนู่ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางพื้นที่เขตเขาทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีความเงียบสงบและล้อมรอบด้วยทุ่งนา แต่หมู่บ้านแห่งนี้และคนในหมู่บ้านก็ถูกฝังอยู่ใต้โคลนหนาทึบจากเหตุดินถล่มเมื่อเช้าวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา เด็กชาย เหงวียนวันแห่ง อายุ 17 ปี เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
“ตอนนั้นคือเวลา 6 โมงเช้า ผมกำลังนอน แล้วแม่ก็ตะโกนเรียกผมว่า ลูก! วิ่งหนีเร็ว คุณแม่และผมจุงมือกันวิ่งขึ้นบันไดก่อนเกิดเหตุดินโคลนถล่ม”
เด็กชาย แห่ง ยังมีชีวิตรอด แต่คุณแม่ของเขาไม่โชคดี เมื่อตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลหนึ่งวันหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ แห่ง ก็ได้ทราบข่าวว่า พบศพของคุณแม่แล้ว ส่วนคุณพ่อเสียชีวิตไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เหตุดินโคลนถล่มครั้งนี้ได้เอาคนในครอบครัวที่เหลือเพียงคนเดียวของเขาไป ทำให้เขากลายเป็นเด็กกำพร้า
เมื่อข่าวเกี่ยวกับเด็กชายที่สูญเสียครอบครัวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้หลายๆ คนรู้สึกเศร้าใจ รวมถึงคุณครู เหงวียนซวนคาง ประธานคณะกรรมการและผู้อำนวยการโรงเรียน Marie Curie ในกรุงฮานอย ซึ่งเขาเองเป็นที่รู้จักในด้านกิจกรรมการกุศล ที่ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนชนกลุ่มน้อยที่มีฐานะยากจน คุณครู เหงวียนซวนคาง ได้กล่าวถึงกรณีของน้องแห่ง ว่า
“ผมได้ดูคลิปวิดีโอแล้วเห็นว่าน้อง เหงวียนวันแห่ง ได้รับบาดเจ็บจากเหตุดินโคลนถล่มในฐานะเป็นครู เมื่อเห็นเด็กนักเรียนที่ต้องหยุดดเรียนเนื่องจากฐานะครอบครัว ทำให้ผมยอมรับไม่ได้ ผมได้โทรไปหานักข่าวหนังสือพิมพ์ แทงเนียน เพื่อขอเบอร์โทรฯ ของคุณครูของแห่ง เพื่อฝากเขาให้กำลังใจเด็กๆ และให้ แห่ง พยายามศึกษาเล่าเรียนต่อไป”
จากการประสานของคุณครู เหงวียนถิโห่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม Bao Yen 1 และนักข่าวของหนังสือพิมพ์ แทงเนียน คุณครู คาง ได้มีการพูดคุยกับแห่งผ่านทางโทรศัพท์ ก่อนหน้านั้น เด็กชาย แห่ง ยังเป็นเด็กกำพร้าที่มีอนาคตไม่แน่นอน แต่หลังจากนี้ แห่ง ได้มีคนนำทางที่เต็มไปด้วยความหวังให้แก่ชีวิตเขา คุณครู โห่ง เผยว่า
“คุณครูคาง รู้สึกซาบซึ้งใจและตกลงกับฉันทันที เมื่อได้ฟังข่าวเกี่ยวกับน้องแห่งแล้ว ครูคาง บอกว่า จะรับเลี้ยงเขา อย่างน้อยคือจนถึงม.6 คุณครูไม่เพียงแค่เป็นผู้นำทางแต่ยังเป็นครอบครัวของแห่ง ด้วย”
แห่ง กลายเป็นเด็กนักเรียนคนแรกของ “โครงการรับเลี้ยงเด็กและนักเรียนหมู่บ้านหนู่หลังเหตุดินถล่ม” โดยคุณครู เหงวียนซวนคาง และโรงเรียน Marie Curie ซึ่งนอกเหนือจากกรณีของน้อง เหงวียนวันแห่ง แล้ว ครูคาง ยังได้ประสานกับทางการท้องถิ่นและหน่วยงานด้านการศึกษาในการจัดทำรายชื่อเด็กๆ ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี ที่ยังมีชีวิตรอด เพื่อให้เข้าร่วมโครงการ โดยคุณครูคาง และโรงเรียน Marie Curie จะดูแลน้องๆ จนถึงอายุครบ 18 ปี ด้วยวงเงินช่วยเหลือ 3 ล้านด่องต่อคนต่อเดือน
“สิ่งที่ผมต้องการมากตอนนี้คือ รายชื่อเด็กๆ ที่ยังมีชีวิตรอด เพื่อให้พวกเราสามารถดูแลน้องๆ ให้มีชีวิตที่เต็มอิ่มและมีการศึกษาที่ดี”
โรงเรียนของหมู่บ้านหนู่ |
จนถึงปัจจุบันหนึ่งเดือนผ่านไปหลังเกิดเหตุดินถล่ม ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ยังมีชีวิตรอดนั้น กำลังอาศัยในบ้านชั่วคราวระหว่างรอการสร้างหมู่บ้านใหม่ ซึ่งทางการปกครองท้องถิ่นและกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างกำลังพยายามดำเนินงานเพื่อให้หมู่บ้านใหม่แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 ธันวาคม และชาวบ้านทุกคนสามารถดำรงชีวิตเป็นปกติก่อนปีใหม่ นาย จิ่งซวนเจื่อง ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดหล่าวกาย แสดงความหวังว่า
“ด้วยจิตใจแห่งความรักใคร่และเกื้อหนุนจุนเจือกันของชาวบ้านที่นี่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของประชาชนเวียดนามทั่วประเทศ พวกเราจะมีอนาคตที่สดใสขึ้นอย่างแน่นอน หมู่บ้านหนู่อาจหายไปเนื่องจากภัยธรรมชาติ แต่พวกเรามุ่งมั่นที่จะสร้างหมู่บ้านหนู่แห่งใหม่ ที่สวยงาม น่าอยู่ ปลอดภัย และเต็มไปด้วยความรักซึ่งกันและกัน”
ทั้งนี้ หมู่บ้านหนู่แห่งใหม่ ซึ่งห่างจากที่ตั้งเก่าไม่ไกลนัก กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้น พร้อมด้วยความหวังว่า ผู้รอดชีวิตจะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดดยเร็ว ในขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาจะได้รับการปฏิบัติต่อไป ส่วนเด็กๆ ในหมู่บ้านจะได้ไปโรงเรียนเพื่อวาดฝันเกี่ยวกับชีวิตที่สดใสของตัวเองต่อไป./.