ชีวิตของชนกลุ่มน้อยในจังหวัดเลิมด่งมีเสถียรภาพจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
Quang Sáng; Thu Hằng -  
(VOVWORLD) - จากการปฏิบัติแนวทางปรับปรุงโครงสร้างพันธุ์พืช ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรที่ให้ประสิทธิภาพต่ำเช่น การทำนาหรือปลูกกาแฟ มาทำการผลิตเกษตรที่ให้ผลผลิตสูง ในเวลาที่ผ่านมา ชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในจังหวัดเลิมด่งได้นำพันธุ์พืชใหม่ๆที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงหลายชนิดมาปลูก รวมถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่กำลังเป็นรูปแบบการผลิตที่สร้างรายได้สูง สามารถช่วยให้หลายครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ชีวิตของชนกลุ่มน้อยในจังหวัดเลิมด่งมีเสถียรภาพจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม |
ในปี 2021 ถึงแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่ฐานะของครอบครัวที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดเลิมด่งยังคงมีเสถียรภาพและมีรายได้เพิ่มขึ้น ทุกครอบครัวสามารถจับจ่ายซื้อของใช้จำเป็นได้อย่างครบครันเพื่อเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิและต้อนรับตรุษเต๊ตกับหมู่บ้านอย่างมีความสุข
นับตั้งแต่คุณ กาลวาน ในเขตชุมชน กอน แต๊ก ดัง ในตัวเมือง ดิงวัน อำเภอ เลิมห่า จังหวัดเลิมด่ง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกกาแฟที่ให้ผลผลิตต่ำจำนวน 1 เฮกตาร์มาเป็นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คุณ กาลวาน เผยว่า เธอเลี้ยงหนอนไหม 1 จ่อโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนได้กำไรเกือบสิบล้านด่ง โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2021 ราคารังไหมเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ด่ง/กก. ทำให้ครอบครัวมีรายได้มากขึ้น ในวันตรุษเต๊ตปีขาล 2022 นี้ ครอบครัวเธอสามารถจัดงานสังสรรค์ชุมนุมพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างมีความสุขและอบอุ่นมากขึ้น
“ครอบครัวของดิฉันยากจนและไม่มีที่ดินมากเหมือนคนอื่นๆ ดิฉันมีที่นาไม่ถึง1ไร่และมีพื้นที่ปลูกกาแฟ 100ตารางวาเท่านั้น สำหรับการปลูกกาแฟ แต่ละปีเก็บผลผลิตได้เพียง 3 ถึง 4 ตัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น ดิฉันจึงเปลี่ยนพื้นที่ปลูกกาแฟ มาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งนับตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ครอบครัวของดิฉันก็มีเงินมากขึ้น”
เช่นเดียวกันครอบครัวคุณ กาลวาน ครอบครัวของนาย K'Du ในหมู่บ้านหมายเลข 4 ตำบล ตามโบ๊ อำเภอยีลิงห์ จังหวัดเลิมด่งก็มีฐานะที่ดีขึ้นจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นาย K'Du เผยว่า ในช่วงแรกการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นเรื่องที่ยากมากและได้กำไรไม่สูงเนื่องจากขาดประสบการณ์ แต่หลังจากได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากทางการปกครองท้องถิ่นและสมาคมเกษตรกรอำเภอฯ โดยเฉพาะการเปิดชั้นเรียนฝึกอบรมได้ช่วยให้รายได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากประยุกต์ใช้เทคนิคในการดูแลและค้ำประกันแหล่งจัดสรรพันธุ์ไหมที่มีคุณภาพแล้ว การคัดเลือกพันธุ์หม่อนลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตระดับครัวเรือน ปัจจุบัน ราคาขายรังไหมอยู่ที่ประมาณ 170,000 ถึง 190,000 ด่ง/กก. ซึ่งทำให้ครอบครัวของนาย K'Du มีรายได้เกือบ 20 ล้านด่งต่อเดือน
“สมาคมเกษตรกรอำเภอสนับสนุนเงินสำหรับนำไปซื้ออุปกรณ์การเลี้ยง ผมเลี้ยงหนอนไหมประมาณครึ่งถาดต่อฤดู นับตั้งแต่ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ครอบครัวของผมก็มีฐานะที่มั่นคงมากขึ้น ผมมีแผนการขยายพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้มากขึ้น”
ไม่เพียงแต่ในอำเภอเลิมห่าและยีลิงห์เท่านั้น หากรูปแบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยังได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางในพื้นที่หลายแห่งของชนกลุ่มน้อยในจังหวัดเลิมด่งอีกด้วย นาง บุ่ยถิแทงเหวี่ยน อุปนายกสมาคมเกษตรกรในตำบลหลกเติน อำเภอบ๋าวเลิม ได้กล่าวว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรูปแบบเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ช่วยให้ชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ในท้องถิ่นมีโอกาสปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีหลายครอบครัวได้กลายเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี
“ชนกลุ่มน้อยที่นี่ส่วนใหญ่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้เวลาไม่นานก็สามารถเก็บรังไหมได้ มีหลายครอบครัวที่เลี้ยงไหม 2 ถาด ได้รังไหมประมาณ 100 กิโลกรัม โดย100 กิโลกรัมขายได้ 21 ล้านด่งในขณะที่ค่าซื้อหนอนไหม 1 ถาดเพียง 6 แสนด่งเท่านั้น ส่วนต้นหม่อนปลูกง่ายมาก ชาวบ้านดูแลใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ก็ได้ใบหมอนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ชนกลุ่มน้อยกำลังพัฒนาและทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”
จากการเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของรูปแบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้บริหารจังหวัดเลิมด่งได้อนุมัติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างยั่งยืนในระยะต่อไป โดยจนถึงปี 2023 มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกหม่อนในจังหวัดฯเป็น 10,000 เฮกตาร์ ผลผลิตใบหม่อนอยู่ที่ 210,000 ตัน จัดสรรพันธุ์ไหมที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในการผลิตและเพิ่มผลผลิตรังไหมเป็น 14,500 ตัน และการผลิตไหมให้ได้ 1,900 ตัน ควบคู่กันนั้น จังหวัดเลิมด่งจะเน้นสร้างห่วงโซ่เชื่อมโยงการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจเพื่อให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีเสถียรภาพ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ไหมในท้องถิ่น เมื่อโครงการนี้ดำเนินการอย่างกว้างขวาง จะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้ประชาชนในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยในจังหวัดฯสามารถหลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน.
Quang Sáng; Thu Hằng