ประเพณีตั้งเสาตุง ช่วงวันขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าเหมื่องจังหวัดแทงฮว๊า

(VOVWORLD) -ในทุกๆปีเมื่อเห็นพื้นที่เขตเขาทางภาคเหนือปกคลุมด้วยดอกท้อสีชมพูหรือดอกแอปริคอทสีขาวนวลที่บานสะพรั่ง ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ฤดูใบไม้ผลิกำลังเวียนมา โดยชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในจังหวัดแทงฮว๊า ได้เกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วและพักผ่อนก่อนถึงฤดูปลูกข้าวใหม่ ซึ่งประเพณีตั้งต้น Nêu หรือเสาตุง ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญอันดับแรกในช่วงฉลองตรุษเต๊ตของชนเผ่าเหมื่อง

ประเพณีตั้งเสาตุง ช่วงวันขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าเหมื่องจังหวัดแทงฮว๊า - ảnh 1ชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องจัดพิธีตั้งเสาตุง (Photo: suckhoedoisong)

ชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในจังหวัดแทงฮว๊า มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า กาลครั้งหนึ่ง บรรพบุรุษของชาวเหมื่องได้ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติเพื่อหาพื้นที่ปลูกพืช หาไฟทำครัว ปักเสาสร้างบ้าน กินเหล้าแก้เหงากับเพื่อนๆ แต่งเพลงเกี้ยวสาว พร้อมสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อชีวิตที่อิ่มหนำผาสุก แต่ด้วยความอิจฉาริษยา พวกภูติผีปีศาจได้มาทำลายพืชผล ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมและความแห้งแล้ง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พระราชมารดาหรือที่ชาวเหมื่องนับถือเป็นพระพุทธเจ้าได้ระดมชาวบ้านหาวิธีขับไล่ปีศาจที่ชั่วร้าย โดยวิธีการดังกล่าวคือ ชาวเหมื่องจะต้องตั้งเสาตุง เพื่อทำเป็นเครื่องหมายยืนยันอาณาเขตหวงห้ามของตน โดยบนยอดเสาตุงแขวนจีวรของพระพุทธเจ้า และพื้นที่ตรงไหนที่เงาจีวรตกกระทบก็ถือว่าเป็นพื้นที่ของพระพุทธเจ้าที่สงวนให้มนุษย์อยู่อาศัย ฉะนั้น ในทุกๆ วันที่ 28 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวเหมื่องจะจัดพิธีตั้งเสาตุง เพื่อแสดงความสำนึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชมารดา พร้อมขับไล่สิ่งชั่วร้ายในปีเก่าและต้อนรับสิ่งดีๆ ของปีใหม่ นาย ฝามวันโท้ง อาศัยในตำบลกาวหงอก และนาย บุ่ยโห่งญี อาศัยในตำบลหงอกเซิน อำเภอหงอกหลัก จังหวัดแทงฮว๊า เผยว่า

“เมื่อถึงช่วงเวลาปลายปีและตรุษเต๊ดที่กำลังจะเวียนมา ประมาณวันที่ 25-26 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ชุมชนชาวเหมื่องจะไปทำความสะอาดหลุมศพบรรพบุรุษ ก่อนที่จะตั้งเสาตุง เพื่อเป็นการบอกให้บรรพบุรุษ รวมถึงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านทราบเพื่อร่วมกันฉลองกับครอบครัว ผืนผ้าสีแดงที่แขวนบนยอดเสาตุงใช้ในการขับไล่สิ่งชั่วร้ายนั้น สะท้อนชีวิตที่หลากสีสันของชาวเหมื่อง”

“นับตั้งแต่ที่มีมหากาพย์เกี่ยวกับการให้กำเนิดแผ่นดินและแหล่งน้ำในดินแดนเหมื่อง ชาวเหมื่องได้ใช้เสาตุงเพื่อยืนยันอธิปไตยและอาณาเขตของตน จากนั้น เมื่อฤดูใบไม้ผลิและเทศกาลตรุษเต๊ดเวียนมา ชาวเหมื่องจะตั้งเสาตุงเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย พร้อมทั้งแจ้งบรรพบุรุษให้ทราบว่า พวกเขาได้เตรียมการต้อนรับตรุษเต๊ดเป็นที่เรียบร้อยแล้วและขอเชิญบรรพบุรุษกลับมาร่วมฉลองในห้วงเวลาอันสำคัญกับลูกหลาน”

สำหรับชาวเหมื่อง ถ้าเห็นเสาตุงก็หมายความว่า เป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลตรุษเต๊ด ซึ่งถือเป็นคำเชิญชวนพี่น้องที่อยู่แดนไกลให้เดินทางกลับบ้านฉลองตรุษเต๊ดร่วมกับครอบครัว โดยในทุกๆ วันที่ 25 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านในพื้นที่จะส่งตัวแทนเข้าป่าตัดต้นไผ่ที่สวยที่สุดเพื่อนำไปทำเสาตุง นาง ฝ่ามถิบ๋าว ชาวเหมื่องในตำบลกาวหงอก อำเภอหงอกหลัก จังหวัดแทงฮว๊า เผยว่า

“ก่อนจะทำเสาตุงชาวบ้านต้องหาผู้ชายที่มีงานการที่มั่นคงและมีลูกหลานที่ดีเป็นตัวแทนของหมู่บ้านเพื่อไปตัดต้นไผ่ ด้วยความปรารถนางว่า ชาวบ้านทุกคนจะเจริญรุ่งเรืองและพบเจอแต่สิ่งดีๆ ตลอดทั้งปี ซึ่งหลังจากตั้งเสาตุงที่มีความสูงประมาณ 7-9 เมตรเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการอธิษฐานและขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้สุขสมหวังดั่งใจปราถนาทุกประการ ฟ้าฝนเป็นใจ ชาวบ้านมีสุขภาพแข็งแรง เงินทองไหลมาเทมา โดยบนยอดของเสาตุงต้องมีใบไผ่และกิ่งครบสมบูรณ์ และต้องผูกผ้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งฤดูกาลที่ดีทั้งสี่ฤดู”

ประเพณีตั้งเสาตุง ช่วงวันขึ้นปีใหม่ของชนเผ่าเหมื่องจังหวัดแทงฮว๊า - ảnh 2ชาวบ้านทุกคนในชุมชนจะเข้าร่วมงานตั้งเสาตุง (Photo:suckhoedoisong)

ส่วนนาย บุ่ยโห่งญี อาศัยในตำบลหงอกเซิน อำเภอหงอกหลัก จังหวัดแทงฮว๊า เผยว่า ต้องผูกผ้าบนยอดเสาตุงให้ครบสี่สีคือ สีเขียว สีแดง สีม่วง และสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสี่ฤดูกาลคือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

ชาวเหมื่องจะสานตะกร้าที่เรียกกันว่า กาวราว ที่เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เพื่อแขวนบนเสาตุง ส่วนผ้าสีเขียว แดง ม่วง และเหลือง จะช่วยขับไล่ผีร้ายพร้อมส่งสัญญาณให้บรรพบุรุษทราบว่า วันตรุษเต็ดได้เวียนมาแล้ว ขอเชิญบรรพบุรุษทุกท่านกลับบ้านเพื่อร่วมฉลองวันขึ้นปีใหม่พร้อมกับลูกหลาน”

ส่วนนาย บุ่ยวันเถาะ เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมภาพยนตร์จังหวัดแทงฮว๊า เผยว่า ในพิธีตั้งเสาตุง หนุ่มสาวจะร่วมกันรดน้ำต้นเสาตุงและเชิญ “บ่ามั้ย” หรือผู้หญิงที่ได้รับการนับถือในหมู่บ้านมาจัดพิธีตั้งเสาตุง

หลังจากพิธีการตั้งเสาตุงเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจะถวายเครื่องบูชาและขอฟ้าดินเป็นสักขีพยาน จากนั้น เสียงฆ้อง ก่งเชียง จะดังก้องกังวาน ผู้คนร่วมกันเต้นรำและร้องเพลงเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ พร้อมขอให้มีสุขภาพแข็งแรง ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ชีวิตเจริญรุ่งเรืองและอิ่มหนำผาสุก”

ชาวบ้านทุกคนในชุมชนจะเข้าร่วมงานตั้งเสาตุง และในสมัยก่อน ชาวบ้านต้องร่วมกันตั้งเสาตุงที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านก่อนที่จะตั้งเสาตุงในบ้านของตนเอง ส่วนปัจจุบัน ชาวบ้านจะตั้งเสาตุงที่ศาลากลางของชุมชนเพื่อให้ผู้เฒ่า เด็กๆ และหนุ่มสาวได้ชุมนุมพร้อมหน้าเพื่อความรื่นเริง

ทั้งนี้ ช่วงตรุษเต๊ดของชาวเหมื่องจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อการตั้งเสาตุงเสร็จเรียบร้อย ซึ่งทั่วทั้งหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยเสียงฆ้องเสียงกลองเพื่อเป็นการต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่เวียนมา โดยชุมชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับเสาตุงในการเริ่มต้นปีใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยสิ่งดีๆ และต้อนรับฤดูใบไม้ผลิอย่างมีความสุข.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด