(VOVWORLD) - “Children Of the Mist” ที่ได้รับรางวัลดอกบัวทองในสาขาภาพยนตร์สารคดีจากเทศกาลภาพยนตร์เวียดนามครั้งที่ 23 เมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวเดินที่สำคัญบนเส้นทางแห่งความสำเร็จของผู้กำกับ ห่าเหละเหยี่ยม ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเวียดนามที่ติดอยู่ในรายชื่อภาพยนตร์สารคดี 15 เรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ โดยผู้กำกับห่าเหละเหยี่ยม เกิดปี 1992 ที่จังหวัดบั๊กก่าน เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีอิสระรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น
ห่าเหละเหยี่ยมได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมประเภท International Competition ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Amsterdam ปี 2021 |
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย ห่าเหละเหยี่ยม ได้สมัครเข้าเรียนหลักสูตรการผลิตภาพยนตร์สารคดีที่ศูนย์สนับสนุนการพัฒนาความสามารถด้านภาพยนตร์หรือ TPD โดยมีเป้าหมายแรกๆ คือเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็น แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งทำให้เธอหลงใหลในเรื่องที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่นี้
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “ลูกไปโรงเรียน” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่องแรกของ ห่าเหละเหยี่ยม ความยาวกว่า 20 นาที ได้เล่าเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV จากสามี แล้วต้องดิ้นรนเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างสูงสำหรับภาษาการเล่าเรื่องด้วยภาพที่สวยงาม พร้อมการสานต่อความรักและความห่วงใย ด้วยความไม่มีระยะห่างระหว่างผู้กำกับและตัวละคร ดังนั้น ทุกการกระทำและแนวคิดของตัวละครจึงถูกนำเสนออย่างเป็นธรรมชาติต่อหน้ากล้อง เมื่อหวนคิดถึงเส้นทางการผลิตหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับ ห่าเหละเหยี่ยม เผยว่า
“ตอนที่ฉันเดินไปหานักแสดงจำเป็น ฉันรู้สึกว่า พี่เขามีความเป็นห่วงเป็นใยฉันจึงทำให้ฉันไม่รู้สึกกลัว ในช่วงบ่ายวันหนึ่งตอนที่เดินข้ามลำธารไปที่บ้านของเขา ทางเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำได้ปล่อยน้ำจนระดับน้ำขึ้นสูงเหนือเข่า แล้วกางเกงของฉันก็เปียกหมด พี่เขาบอกว่าจะเอากางเกงมาให้ฉันเปลี่ยนแต่ต่อมาก็บอกว่าไม่เอาดีกว่า เพราะกลัวฉันจะติดเชื้อโรค เวลานั่งกินข้าว พี่เขาก็นั่งกินคนเดียว ส่วนฉันก็นั่งกินข้าวกับลูกของเขาต่างหาก ซึ่งหมายความว่า พี่เขามีความระมัดระวังและใส่ใจคนรอบข้างเป็นอย่างมาก”
หนังเรื่อง “ลูกไปโรงเรียน” ได้คว้ารางวัลว่าวเงินปี 2013 สาขาภาพยนตร์สั้น การที่ไม่มีระยะห่างกับตัวละครถือเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้ ห่าเหละเหยี่ยม ประสบผลสำเร็จในการทำภาพยนตร์สารคดี เพราะการสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวละครเป็นสิ่งที่ยากที่สุด รวมถึงการทำเหล่าดาราจำเป็นมีความมั่นใจในการถ่ายทอดชีวิตจริง ๆ ของตนเองผ่านเลนส์กล้องโดยไม่มีการปั้นแต่ใด ๆ ซึ่ง ห่าเหละเหยี่ยม ก็สามารถทำออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยความจริงใจ ความเรียบง่าย น้ำเสียงที่สดใส พร้อมรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอสามารถเข้าใกล้กับตัวละครได้มากขึ้น และนั่นก็คือวิธีการของห่าเหละเหยี่ยมในการเข้าหาญีซึ่งเป็นนักแสดงจำเป็น ตอนเดินทางไปที่บ้านของญีที่เมืองซาปาเมื่อปี 2017
“คุณพ่อของญีเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ไปรับฉันที่สถานีขนส่งซาปา เขารู้สึกตกใจเพราะเห็นฉันถือของเยอะมาก มีกระเป๋าใบใหญ่ใบหนึ่งสำหรับใส่เสื้อผ้าและกระเป๋าเป้สะพายหลังใส่กล้องและอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ วันนั้น เขาพาฉันไปที่ทุ่งนา เพราะช่วงนั้นเป็นฤดูปลูกข้าวจึงไม่มีใครอยู่บ้าน เมื่อไปถึง ฉันก็ลงไปปลูกข้าวในนาเหมือนทุกคน เมื่อทุกคนกลับบ้านกินข้าว ฉันก็เดินกลับตาม คุณพ่อของญีเห็นว่า ฉันสามารถ ‘เอาตัวรอด’ เหมือนชาวม้งคนหนึ่ง หลังจากนั้น เขาเลยให้ฉันอยู่ที่บ้าน ไปเที่ยวกับญีและไปทำนา”
ไอเดียการทำหนังเกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กของญี ก็ได้เริ่มขึ้นเมื่อ ห่าเหละเหยี่ยม ถ่ายญีเล่นกับเด็กๆ ซึ่งทำให้เธอหวนนึกถึงภาพที่เธอกับเพื่อนๆ เมื่อหลายปีกอน ในโลกวัยเด็กตอนนั้น เธอและเพื่อนๆ ได้มีช่วงเวลาที่สนุกสนานและมีความสุขด้วยกัน ในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ถ่ายทำ ห่าเหละเหยี่ยม ถือครอบครัวของญีเป็นครอบครัวของตนเอง ชาวบ้านที่อยู่รอบข้างก็เป็นเพื่อนบ้านของตน รวมถึงอาจารย์และเพื่อนๆ ของญี ห่าเหละเหยี่ยม เล่าให้ฟังว่า
“ตอนถ่ายทำ ฉันก็นอนที่บ้านญี ส่วนตอนไปถ่ายที่บ้านคนอื่น ฉันก็นอนที่นั้นวันสองวันแล้วค่อยกลับมาบ้านของญี คุณแม่ขอญีบอกว่า ‘หนูไปถ่ายเลย ถ่ายเสร็จแล้วค่อยกลับบ้านของเรา’ เมื่อได้ยินคำว่า ‘กลับบ้านของเรา’ ฉันรู้สึกว่า ต้องเป็นญาติมิตรในบ้านเท่านั้นถึงจะพูดกับเราอย่างนี้ ซึ่งถ้าเขาถือเราเป็นแขก ก็คงจะพูดว่า ‘หนูไปหาที่บ้านได้นะ’ หรือ ‘ไปหาที่บ้านในครั้งหน้าได้นะคะ’ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกซาบซึ้งใจมากๆ”
ภาพยนตร์เรื่อง “Children Of the Mist” (Beta Cinema) |
จากไอเดียและภาพถ่ายแรกๆ นั้น เรื่องราวของภาพยนตร์สารคดีก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง
คู่กับการเติบโตในชีวิตของตัวละครในช่วงเวลากว่า 3 ปี โดยหลังการถ่ายทำที่ใช้เวลากว่า 100 ชั่วโมง ผ่านขั้นตอนการตัดต่อและทําซับไตเติ้ล ก็ได้ผลงานเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีความยาวกว่า 90 นาที ซึ่งโครงการนี้ก็ได้รับการประเมินโดยทีมสนับสนุน รวมถึงผู้สร้างภาพยนตร์หนุ่มอย่าง วีเหงวียนแองฟอง ว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่คาดคิด ซึ่งตัวเขาเองก็อยู่เคียงข้าง ห่าเหละเหยี่ยม ในตลอดช่วงเวลาการวางแผนและเตรียมเอกสารเพื่อให้โครงการนี้สามารถเข้าถึงวงเงินสนับสนุนจากงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ และกองทุนภาพยนตร์อื่นๆ ทั่วโลก เขาเองได้รู้สึกถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของเธออยู่เสมอ
“สำหรับภาพยนตร์รื่องนี้ ห่าเหละเหยี่ยม ทำเองเกือบทุกอย่าง ในฐานะเป็นเพื่อนและผู้ร่วมงาน พวกเราได้มีการปรึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับตัวหนังสารคดี บางครั้งพวกเราก็มีความรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ถึงจุดตัน ไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ในที่สุดก็สามารถทำหนังเรื่องนี้ออกมาได้จนสำเร็จ ผ่านมุมมองของผู้กำกับที่ต้องการนำเสนอประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยและความยากลำบากที่ต้องเผชิญ”
ทั้งนี้ การเดินทางกับ “Children Of the Mist” ถือเป็นการเติบโตครั้งใหญ่สำหรับ ห่าเหละเหยี่ยม โดยผู้กำกับหญิงวัย 30 คนนี้ ได้มีโอกาสเดินทางไปยังหลาย ๆ ประเทศ ได้พบปะกับศิลปินชื่อดังหลายคนและได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย.