เอกลักษณ์งานเทศกาล โหล่งโต่ง ของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในจังหวัดห่ายาง

(VOVWORLD) -สำหรับผู้มาเยือนจังหวัดห่ายางในยามวสันตฤดูจะมีโอกาสเข้าร่วมและศึกษาเกี่ยวกับเทศกาลต่างๆ ที่น่าสนใจของชาวเขา รวมถึงงานเทศกาล โหล่งโต่ง ของชนกลุ่มน้อยเผ่าไต ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลที่มีความหมายทางจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสะท้อนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่แนวหน้าของประเทศเวียดนาม

 
 
เอกลักษณ์งานเทศกาล โหล่งโต่ง ของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในจังหวัดห่ายาง - ảnh 1งานเทศกาล โหล่งโต่ง ของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในจังหวัดห่ายาง (Photo: baohagiang)

ในวันที่ 8 เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี ชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในตำบลซวนยาง อำเภอกวางบิ่งห์ จังหวัดห่ายาง ได้มีการจัดงานเทศกาล โหล่งโต่ง หรืองานแรกนาขวัญ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมความเลื่อมใสศรัทธาพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไต

ในสมัยก่อน งานเทศกาล โหล่งโต่ง มักจะจัดขึ้นในพื้นที่แปลงนาที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน ส่วนในปัจจุบัน มักจะจัดขึ้นที่สนามกลางหมู่บ้านจี่ ตำบลซวนยาง อำเภอกวางบิ่งห์ ถึงแม้อากาศช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิยังคหนาวเหน็บ แต่ยังคงมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวหลายพันคนเข้าร่วมงานตั้งแต่เช้าตรู่ นาย นงกวางเชิ๊ด รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลซวนยาง เผยว่า งานเทศกาลดังกล่าวเป็นพิธีกรรมทางการเกษตรมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลการผลิตใหม่ พร้อมเป็นช่วงเวลาให้ชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าไตแสดงความขอบคุณฟ้าดิน สำนึกในบุญคุณบรรพบุรุษในครอบครัว ปู่ย่าตายาย คุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกผืนนาแปลงแรกๆ สานต่อวิธีการเพาะปลูกและเพาะเลี้ยง รวมถึงหลักสัจธรรมชีวิตและปัญจธาตุทั้งห้า ลมฟ้าอากาศ และหยาดเหงื่อแรงกายของตนเอง ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าเพื่อการเลี้ยงชีพผู้คน

  “งานเทศกาล โหล่งโต่ง มีขึ้นเพื่อขอให้ดินฟ้าอากาศเป็นใจ การผลิตได้ผลดี ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ชาวบ้านมีชีวิตที่อิ่มหนำผาสุก พร้อมการอยู่คู่กับหมู่บ้านจี่เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน”

เทศกาล โหล่งโต่ง ประกอบด้วยสองส่วนคืองานพิธีและงานเทศกาล โดยงานพิธีนั้นส่วนใหญ่เป็นการถวายเครื่องสักการะแก่ฟ้าดินและเทพเจ้า เพื่อให้ลมฟ้าอากาศได้ดั่งใจ ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง ต้นไม้เขียวชอุ่ม และพืชผลอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในหมู่บ้าน 9 แห่งของตำบลซวนยาง ได้ร่วมกันจัดเตรียมถาดถวายเครื่องบูชา นางหว่างถิทู และ นายหว่างวันตว่าน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจี่ ตำบลซงนยาง เผยว่า

ทุกครั้งที่มีการจัดงานเทศกาล โหล่งโต่ง พวกเราก็ได้เตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งประกอบด้วยถาดข้าวเหนียว ไก่ ผลไม้ และขนม เป็นต้น ส่วนข้าวเหนียวและไก่ก็ได้เตรียมในวันก่อนหน้า เพราะงานจะเริ่มตั้งแต่ตีห้าโดยชาวบ้านทุกคนที่เข้าร่วมงานล้วนใส่ชุดพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าไต”

“ตำบลซวนยางมีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านต่างจะเตรียมถาดบูชาเป็นของตนเอง ซึ่งถึงแม้เป็นพิธีทำร่วมแต่ก็จะอธิษฐานขอให้ผู้คนในแต่ละหมู่บ้านเก็บเกี่ยวพืชผลที่ดีและมีความอิ่มหนำผาสุก”

เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธี ถาดบูชา 9 ชุดนั้นจะได้วางบนแท่นบูชาอย่างสมเกียรติ โดยประธานพิธีจะเป็นหมอผีชาวไตที่ได้รับการรับเลือกจากชาวบ้านเพื่อยืนหน้าแท่นบูชาอธิษฐานขอบพระคุณดินฟ้าอากาศและทวยเทพต่างๆ ที่ดลบันดาลให้ชาวบ้านมีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในปีใหม่ หลังจากนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่และประชาชนชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในพื้นที่จะจุดธูปเพื่อบูชาให้ฟ้าดินช่วยคุ้มครอง รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลซวนยาง เผยต่อไปว่า

“การเลือกผู้ทำหน้าที่ดำเนินงานเซ่นไหว้จะต้อหาหมอผีที่เก่งและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งหมอผีจะเลือกเวลาระหว่าง 06.00-08.00 น. โดยจะเริ่มการจัดพิธีบูชาในห้วงเวลาที่ดีที่สุด”

หลังการจัดพิธีบูชาเทวดาฟ้าดิน คือพิธีแรกนาขวัญเพื่อขอพรให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานพิธีและทำการไถนาแถวแรกคือผู้ชายที่ได้รับการนับถือในชุมชน ชีวิตครอบครัวมีความสุข ทำนาเก่งที่สุดและเป็นตัวแทนของทุกคนในหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นการนำโชคลาภและความราบรื่นในฤดูกาลของปีนั้นๆ มาสู่หมู่บ้าน นาย หว่างวันตว่าน เผยว่า

“ถึงแม้มีการจัดงานเป็นประจำทุกปี แต่พวกเราต่างก็มีความสุขมากๆ เพราะการพบปะและส่งคำอวยพรให้มีสุขภาพที่แข็งแรง รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นต่างๆ ในช่วงเริ่มต้นของวสันตฤดู นั้นล้วนสร้างบรรยากาศอันน่าตื่นเต้นให้กับช่วงปีใหม่ที่เต็มไปด้วยความราบรื่นและเจริญรุ่งเรือง” 

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเทศกาล โหล่งโต่ง คือการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ เช่น ตีลูกเอี๊ยน ชักเย่อ ดันไม้ เดินไม้สูง ตกปลาลำธาร การแข่งขันปลูกข้าวเร็ว รวมถึงการร้องเพลงทำนองแทนที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าไต โดยเฉพาะเทศกาลโยนลูกช่วงลอดห่วง ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องโยนลูกช่วงให้โดนวงกลมที่หุ้มด้วยกระดาษสีแดงพร้อมเป้าสีเหลืองที่กำลังห้อยอยู่บนยอดไม้ไผ่ที่สูงลิ่วถึงจะคว้าชัยชนะได้ เนื่องจากชาวไตมีความเชื่อว่า ถ้าหากลูกช่วงโดนเป้าแล้วแทงทะลุกระดาษหุ้ม แสดงว่า ชาวบ้านจะได้รับพรจากเทพเจ้าโดยทุกอย่างในปีนั้นจะผ่านไปด้วยดี ทั้งนี้ การอนุรักษ์งานเทศกาล โหล่งโต่ง ในยามวสันตฤดู จะมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านทุกคนได้ชุมนุมกันและชายหญิงได้บอกความในใจกัน โดยถือเป็นโอกาสสำหรับการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว พร้อมมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และยกย่องเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดห่ายาง รวมถึงชุมชนในตำบลซวนยาง อำเภอ กวางบิ่งห์ อีกด้วย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด