อาชีพพิมพ์ลายขี้ผึ้งของชนเผ่าเย้าเตี่ยนที่จังหวัดกาวบั่ง
(VOVWORLD) -กลุ่มชาติพันธุ์เย้าเตี่ยนในหมู่บ้านหว่ายคาว (Hoai Khao) ตำบลกวางแถ่ง (Quang Thanh) อำเภอเอียนบิ่งห์ (Yen Binh) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) มีอาชีพการพิมพ์ลวดลายด้วยขี้ผึ้งบนผ้าพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นี่เป็นอาชีพดั้งเดิมและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชนเผ่าเย้าเตี่ยน
พี่น้องชาวเย้าเตี่ยนแสดงฝีมือ |
หว่ายคาวเป็นหมู่บ้านเล็กๆของชนเผ่าเย้าเตี่ยนที่มี 35 ครอบครัวรวมประชากร 69 คน พี่น้องชาวเย้าเตี่ยนมีความละเอียดและใส่ใจค่อนข้างมากในการแต่งกาย ดังนั้น อาชีพการพิมพ์ลวดลายบนผ้าด้วยขี้ผึ้งจึงมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีของชาวเย้าเตี่ยนและเป็นงานฝีมือของผู้หญิง ด้วยวัสดุที่เรียบง่าย เช่น ขี้ผึ้ง กระบอกไม้ไผ่ ผ้าขาว สตรีเย้าเตี่ยนได้ตัดเย็บชุดแต่งกายที่มีลวดลายสวยงามสดใส โดยชาวบ้านมีข้อกำหนดกันไว้ว่าจะใช้แต่ขี้ผึ้งเท่านั้นห้ามเอาน้ำผึ้งมาใช้ในการพิมพ์ลวดลายเสื้อผ้าและการเก็บขี้ผึ้งต้องเป็นไปตามธรรมชาติคือจะเอาในช่วงที่ฝูงผึ้งอพยพช่วงฤดูใบไม้ร่วงและก่อนที่ผึ้งจะกลับมาทำรังในฤดูใบไม้ผลิ คุณบ่านถิเลียน หัวหน้ากลุ่มเย็บปักถักร้อยและพิมพ์ลายขี้ผึ้งของหมู่บ้านเผยว่า
"คนในหมู่บ้านเราได้อนุรักษ์ถ้ำผึ้ง 2 แห่งมานานหลายร้อยปีเพื่อก็บขี้ผึ้งไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของการพิมพ์ลายผ้าขี้ผึ้ง ขี้ผึ้งช่วยให้ลายบนผ้าไม่ซีดจาง ดิฉันได้มีโอกาสไปสาธิตการพิมพ์ลวดลายขี้ผึ้งที่พิพิธภัณฑ์สตรีเวียดนามในช่วงจัดงานเทศกาลการท่องเที่ยวกาวบั่งในกรุงฮานอยและในงานแสดงอาชีพพื้นเมืองที่หมู่บ้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวด่งโมเพื่อแนะนำความโดดเด่นของอาชีพนี้"
ผ้าลายขี้ผึ้ง |
เนื่องจากเป็นงานฝีมือในทุกขั้นตอน ดังนั้น กว่าจะได้ผ้าลายขี้ผึ้งหนึ่งชิ้นต้องใช้เวลาทำหลายวันหรือเป็นเดือน กระบวนการพิมพ์ลายบนผ้าค่อนข้างละเอียดพิถีพิถันและซับซ้อนมาก เช่น การขัดผ้าให้เรียบเนียน การขึ้นรูปลายบนผ้าด้วยขี้ผึ้ง ย้อมสีคราม ละลายขี้ผึ้งและตากผ้าให้แห้ง โดยขั้นตอนการขึ้นรูปและวาดลวดลายด้วยขี้ผึ้งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสวยงามและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ ตอนวาดลายขี้ผึ้งจะต้องนั่งข้างกองไฟเพราะต้องจุ่มปากกาลงในชามขี้ผึ้งร้อนๆ สำหรับลวดลายพิมพ์ขี้ผึ้งส่วนใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม ไม้กางเขน วงกลมเหรียญ ต้นไม้ดอกไม้ นกและสัตว์ที่ล้วนสื่อถึงวิถีชีวิตรอบตัวของชาวบ้านที่มีความผูกพันธ์กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด คุณลี้ถิเยวียน ชาวบ้านหว่ายคาวเผยว่า "ลวดลายที่เป็นเหมือนภูเขาคือสัญลักษณ์ของชุมชนเผ่าเย้าเตี่ยนที่อาศัยในพื้นที่สูง ส่วนลายที่เป็นวงกลมเหรียญก็เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนเย้าเตี่ยน ดิฉันประกอบอาชีพนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี กระโปรงลายขี้ผึ้งชิ้นหนึ่งขายได้กว่า 1 ล้านด่ง"
อาชีพหัตถกรรมดั้งเดิมพิมพ์ลายผ้าด้วยขี้ผึ้งยังคงได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมโดยคนในท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันนี้ นาย หว่างก๊วกเจิ๋น ประธานคณะกรรมการประชาชนตำบล กวางแถ่ง เผยว่า "งานฝีมือพิมพ์ลายขี้ผึ้งได้รับการอนุรักษ์ในชุมชนชนเผ่าเย้าเตี่ยนตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เราแนะนำให้ชาวบ้านสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของที่ระลึก เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า ปลอกหมอนและของที่ระลึกอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและซื้อเป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับหน่วยงานวัฒนธรรมของท้องถิ่นและสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดกาวบั่งในการเปิดชั้นเรียนฝึกอบรมวิชาชีพด้านการเย็บปักถักร้อยและพิมพ์ลายขี้ผึ้งให้แก่สตรีในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อส่งเสริมการรักษาอาชีพนี้ต่อไป"
นักท่องเที่ยวสนใจทดลองการทำผ้าลายขี้ผึ้ง |
ในขณะเดียวกันเพื่อสร้างงานทำใหม่และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนชนกลุ่มน้อย ทางการท้องถิ่นได้วางแผนพัฒนาหมู่บ้านหว่ายคาวเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนและภายหลังดำเนินงานเป็นเวลาสองปี ถึงปี 2020 หมู่บ้านหว่ายคาวก็ได้รับการรับรองเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของเผ่าเย้าเตี่ยน นับตั้งแต่นั้น อาชีพพิมพ์ลายขี้ผึ้งก็มีโอกาสพัฒนามากขึ้น นายจูมินห์ดึ๊ก เจ้าของโฮมสเตย์ ในชุมชนบ้านหว่ายคาว เผยว่า " พี่น้องในหมู่บ้านของเราได้ช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ บ้านไหนไม่เปิดบริการโฮมสเตย์ก็ประกอบอาชีพทอผ้าและวาดลายขี้ผึ้งและงานฝีมือเย็บปักถักร้อยเพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนยังมีการทำยาสมุนไพร น้ำอบสมุนไพร เป็นต้น "
อาชีพพิมพ์ลายขี้ผึ้งบนผ้าถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะของชาว เย้าเตี่ยน ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถันอย่างมากและมีคุณค่าทางศิลปะสูง แม้ว่าทุกวันนี้ ชาวเย้าเตี่ยนไม่ค่อยใช้เครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมที่มีลายขี้ผึ้งในกิจกรรมประจำวันโดยใช้แต่ในงานเทศกาลพื้นเมืองของชนเผ่าเท่านั้น แต่อาชีพนี้ยังคงได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดต่อไปและชาวบ้านก็มีความหวังว่าจะได้เผยแพร่งานฝีมือที่โดดเด่นนี้ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนและแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับงานฝีมือดั้งเดิมนี้./.